“สุรพงษ์ กองจันทึก” คาดยังมีคนไร้สัญชาติตกค้างเข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพอีกนับแสนคน แม้สธ.จะเตรียมเสนอ ครม.ขยายสิทธิรักษาพยาบาลเพิ่มอีก 285,171 คนแล้วก็ตาม แนะจัดสรรงบสงเคราะห์รักษาพยาบาลเพิ่มตามภาระงานในแต่ละโรงพยาบาล และให้มหาดไทยเร่งมอบเลข 13 หลักโดยเร็ว
นายสุรพงษ์ กองจันทึก
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เปิดเผยว่า แม้ในเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้สิทธิหรือขยายสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มเติมอีก 285,171 คน โดยเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพ ตามมติ ครม.วันที่ 23 มีนาคม 2553 ที่จัดสรรให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติไปแล้ว 457,409 คน หลังจากนี้เชื่อว่าสถานการณ์การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาลจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังคงมีกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่ตกค้างไม่ได้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพอยู่อีกประมาณ 100,000 คน และเสนอว่าควรดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อน โดยในส่วนของ สธ. ควรสนับสนุนให้เงินสงเคราะห์สำหรับการรักษาพยาบาลคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น แต่รูปแบบการจัดสรรเงินต้องศึกษาเป็นรายโรงพยาบาล และจัดสรรเงินให้ตามภาระที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นจริง ไม่ใช่ให้ทุกโรงพยาบาลเท่ากันหมด ซึ่งงบประมาณที่เหมาะสม ก็ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาว่าควรเป็นจำนวนเงินเท่าใด
“ปัญหาของกลุ่มคนไร้สถานะคือไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน จึงเข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ ขณะเดียวกัน พื้นที่อยู่อาศัยก็เป็นพื้นที่ชายขอบ ห่างไกลทุรกันดาร ซึ่งการสาธารณสุขก็ไม่ดีอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีฐานะยากจน แต่เมื่อเจ็บป่วยกลับต้องจ่ายเงินเองเต็มจำนวน หากเป็นโรคร้ายแรง ค่าใช้จ่ายก็สูงและไม่มีเงินจ่าย ขณะที่โรงพยาบาลที่มีงบประมาณสงเคราะห์ก็มีน้อยมาก ถ้าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่ผ่อนหนักผ่อนเบา จะเก็บเงินอย่างเดียว ก็จะมีปัญหาตามมา ซึ่งที่ผ่านมาเราเจอข้อร้องเรียนบ่อยมาก เช่น ถามก่อนเลยว่ามีเงินไหม ถ้ามีน้อยก็รักษาอย่างหนึ่ง ถ้ามีมากก็รักษาอย่างหนึ่ง หรือถ้าไม่มีและเป็นโรคที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องรักษา ทางโรงพยาบาลก็ปฏิเสธไม่รับ เป็นต้น”นายสุรพงษ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องเร่งเข้าไปเคลียร์สถานะกลุ่มตกค้างเหล่านี้ให้มีเลข 13 หลัก เพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพโดยเร็ว
“คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อเจ็บป่วย แต่เข้าไม่ถึงสิทธิ แทนที่รัฐจะเข้าไปดูแล ก็กลายเป็นว่าไปตีความกฎหมายว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพให้มีสิทธิได้เฉพาะพลเมืองไทยเท่านั้น ซึ่งผลกระทบที่ตามไม่ได้ตกอยู่กับเฉพาะคนกลุ่มนี้กลุ่มเดียว บางโรคจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกัน แต่เมื่อคนไร้สถานะเหล่านี้เข้าไม่ถึงการรักษา ไม่ได้ไปรักษา ก็มีความเสี่ยงที่โรคจะแพร่กระจายไปยังประชาชนกลุ่มอื่นตามไปด้วย”นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า หากพิจารณารายละเอียดตัวเลขคนไร้สถานะที่ครม.เตรียมขยายสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข 285,171 คนนี้ ส่วนใหญ่ 90% ก็คือคนกลุ่มเดิมใน 457,409 คนที่ได้รับสิทธิตามมติครม.วันที่ 23 มีนาคม 2553 นั่นเอง โดยเป็นกลุ่มตกหล่นทั้งๆ ที่ควรได้รับสิทธิตั้งแต่ปี 2553 แล้ว และคาดว่าในจำนวน 457,409 คนนี้ ปัจจุบันน่าจะผ่านการพิสูจน์สัญชาติไปแล้วนับแสนคน ดังนั้นหากดำเนินการตามข้อเสนอข้างต้น เชื่อว่าภาระงบประมาณที่รัฐสนับสนุนเงินสงเคราะห์รักษาพยาบาลในอนาคตจะไม่เพิ่มสูงขึ้น เพราะเมื่อเร่งขยายสิทธิไปยังกลุ่มคนไร้สถานะที่ตกค้างประมาณ 100,000 คน และให้เข้าสู่กระบวนการของกระทรวงมหาดไทยแล้ว บวกกับผู้ที่ได้รับสิทธิในปี 2553 และที่กำลังจะได้รับสิทธิในปัจจุบัน ก็จะมีคนผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ภาระการสนับสนุนเงินสงเคราะห์ก็ยิ่งน้อยลง แล้วผู้ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติก็ย้ายไปใช้งบรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แทน
- 29 views