สพฉ.จัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อ"เชื่อมห่วงโซ่คุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย" เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาความรู้ทางการแพทย์ฉุกเฉินของภาคีเครือข่ายและสนับสนุนการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ด้าน “นพ.อนุชา” ระบุ 6 แนวทางการต่อยอดการทำงาน พร้อมเตรียมเสนอรวมสายด่วนฉุกเฉินให้เป็นเบอร์เดียวเพื่อความสะดวกสำหรับการใช้บริการของประชาชน

ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี2558 ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2558 ภายใต้หัวข้อ "เชื่อมห่วงโซ่คุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย" (Coalition for Thai EMS Quality) โดยมี ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินและผู้เกี่ยวข้อง จากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การประชุมดังกล่าวนั้นยังได้รับเกียรติจาก นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมเป็นประธานในการเปิดงานอีกด้วย

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการรวมภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ทำงานช่วยเหลือ ผู้ป่วย ผู้เคราะห์ร้าย จากโรคภัยไข้เจ็บ ทั่วประเทศตั้งแต่ได้รับการแจ้งเหตุ การไปช่วยที่บ้าน หรือ ช่วยเหลือ ณ ที่เกิดเหตุสู่การรักษาในโรงพยาบาล จนพ้นภาวะฉุกเฉินซึ่งถือเป็นที่รวมตัวของผู้ทำกุศลในการเชื่อมโยงจับมือกันช่วยชีวิตผู้คนจนรอดตาย รอดจากความพิการโดยใช้เวทีวิชาการเป็นตัวแสดงผลการขับเคลื่อนการทำงานและใช้รูปแบบของการจัดนิทรรศการการจัด Work Shop และแสดงผลงานเป็นตัวเชื่อมโยงให้มาพบปะกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อกลับไปพัฒนางานด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนชาวไทยอุ่นใจ เมื่อยามเจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและสาธารณภัยที่คาดหวังเสมอว่าระบบที่มีอยู่มีความพร้อมสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันเหตุการณ์ทั่วถึงเท่าเทียมและได้มาตรฐานอย่างแน่นอน

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ “เชื่อมห่วงโซ่คุณภาพการแพทย์การแพทย์ฉุกเฉินไทย” ว่าการประชุมในครั้งนี้นั้นเป็นการประมวลผลงานที่ผ่านมาและการมองไปข้างหน้าของสพฉ.และเครือข่ายทั่วประเทศในหลากหลายเรื่องดีๆ ที่เราได้ช่วยกันทำงานจนเห็นผลต่อการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทิศทางการทำงานในก้าวต่อไปข้างหน้าเราจะมีการเชื่อมโยงการทำงานเพื่อผู้ป่วยฉุกเฉินในหลากหลายประเด็นดังนี้ 1.นโยบายลดช่องว่างการแพทย์ฉุกเฉินไทย โดยที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดมียอดบริการการออกเหตุช่วยเหลือที่แตกต่างกัน ซึ่งช่องว่างที่สำคัญคือความครอบคลุมการให้บริการ ความคล่องแคล่วในการไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินภายใน 8-10 นาที และการรับรู้ของประชาชนต่อต่อการใช้สายด่วน 1669 ซึ่ง สพฉ.ได้ชวนเครือข่ายในแต่ละจังหวัดหาทางแก้ปัญหาโดยการเร่งอบรมให้เกิดหน่วยกู้ชีพ ปรับปรุงระบบสื่อสารทั้งที่ศูนย์สั่งการจังหวัด และพื้นที่ที่ติดต่อลำบาก และเร่งประชาสัมพันธ์หมายเลขสายด่วน 1669 อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

2.นโยบาย Ambulance Safety โดยในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา สพฉ.และเครือข่ายได้ร่วมกันเฝ้าระวังและสอบสวนหาสาเหตุอุบัติเหตุรถกู้ชีพและรถโรงพยาบาลที่ออกไปปฏิบัติงาน ซึ่งพบการเกิดอุบัติของรถพยาบาลมากถึง 60 ครั้ง มีการบาดเจ็บของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินมากว่าร้อยคนและมีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินเสียชีวิตจากกรณีอุบัติเหตุมากกว่า 19 คน สพฉ.จึงได้ร่วมกับเครือข่าย ผลิตหลักสูตรขับขี่ปลอดภัยของพนักงานขับรถ และกระจายการอบรมไปทั่วประเทศซึ่งในปีแล้วเราอบรมพนักงานขับรถพยาบาลไปแล้วมากกว่า 2 พันคนและยังมีการคัดเลือกนักขับขี่ที่เป็นสุภาพบุรุษนักขับมาเป็นครูฝึกขับขี่ให้กับพนักงานขับรถคนอื่นๆต่อไป ทั้งนี้ยังมีงานที่ดำเนินงานและรอขยายผล คือการติดตั้งอุปกรณ์GPS เพื่อติดตามการขับขี่ของรถพยาบาล พร้อมการส่งเสียงเตือนจากศูนย์ผ่านอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อเตือนคนขับขี่ หากขับเร็วหรือขับออกนอกเส้นทาง

3.แผนพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้ครบทุกประเภท ซึ่งทิศทางที่จะพัฒนาต่อไปข้างหน้าคือการสร้างรอยเชื่อมต่อ ระหว่างการทำให้หลักสูตรปฐมพยาบาลและการช่วยฟื้นคืนชีพของประชาชนทั่วไปตั้งแต่เด็กจนโต ให้กระจายทั่วไทย และเสริมการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการใช้เครื่องกระตุกหัวใจชนิดไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED) ในกรณีที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน พร้อมเชื่อมห่วงโซ่การรอดชีวิตที่เริ่มจากการโทร1669 การเรียกรถกู้ชีพและการใช้งานเครื่อง AED 4. การเชื่อมโยงและหลอมรวมของ north sky doctor ที่คอยช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกลภาคเหนือเราจะก้าวต่อไปด้วยการพัฒนาขยายการช่วยเหลือไปยังพื้นที่ภาคใต้ พื้นที่ที่มีความขัดแย้งใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ที่เป็นเกาะแก่งอีกด้วย 5. เราได้มีการจัดการแข่งขันจัด EMS Rally เพื่อจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินที่หลากหลายและเป็นการพัฒนาเจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์โดยได้มีการปรับเพิ่มโจทย์ในการแข่งขันให้เข้ากับสถานการณ์การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องรับมือ อาทิ การเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน อีโบล่า รวมทั้งอาจจะมีการปรับโจทย์ให้พร้อมในการรับมือผู้ป่วยจิตเวทและผู้ป่วยฉุกเฉินในรูปแบบอื่นๆอีกด้วย 6. การเชื่อมประเทศไทยสู่ความเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของ Emergency Disaster Medicine ของอาเซียน ทั้งทีมของ สพฉ.และทีมจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาระบบการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ในภูมิภาคอาเซียน จนทำให้เกิดข้อตกลงไทยและเวียดนามที่จะร่วมกันพัฒนาให้เป็นระบบต่อไป

“นอกจากนี้สิ่งที่เราจะหลอมรวมให้เกิดขึ้นก็คือ การรณรงค์ให้มีเบอร์ฉุกเฉินเบอร์เดียวในประเทศไทย เพราะปัจจุบันคนไทยต้องจำเบอร์ฉุกเฉินหลายเบอร์จนทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งในต่างประเทศกว่า 68 ประเทศได้มีการใช้เบอร์เพียงฉุกเฉินเพียงเบอร์เดียวคือ สายด่วน112 เพื่อช่วยเหลือทุกกรณี และหลอมรวมการทำงานผ่านสายด่วนเบอร์เดียว ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศไทยจะใช้เวลาในการรณรงค์เรื่องนี้นานแต่ก็ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้”เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.)กล่าว

ทั้งนี้การจัดประชุมในครั้งนี้ยังมีพิธีมอบเข็มเชิดชูเกียรติให้ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

การมอบโล่รางวัลให้บุคคลและจังหวัดที่มีผลการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่นทีม DMAT THAILANDและการมอบรางวัลให้กับทีมแข่งขันพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS RALLY) และทีมที่ชนะเลิศด้านการแข่งขันการขับรถพยาบาลปลอดภัยระดับชาติอีกด้วย