โรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อ ลีเจียนเน็ลลา หรือลีเจียนเน็ลโลสิสนี้ มีรายงานพบประปรายในกลุ่มประเทศทางยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โรคนี้นับเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายเนื่องจากมีเชื้อโรคชุกชุมอยู่ในสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวมนุษย์ เป็นแล้วรุนแรงถึงตายได้ง่าย การวินิจฉัยก็ดำเนินไปไม่ง่ายนัก ทางสหภาพยุโรปจึงมีการจัดตั้งชมรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับโรคนี้ (European Working Group for Legionella Infections –EWGLI) คอยติดตามการอุบัติของโรค ติดตามข่าวการระบาดในระหว่างปี พ.ศ. 2538 - 2548 ซึ่งพบรายงานการระบาดจากทั่วโลกกว่า 600 ครั้ง มีผู้ป่วยมากถึง 32,000 ราย 

หากจะมาทำความรู้จักกับโรคอุบัติใหม่เช่นโรคลีเจียนเน็ลโลสิส ในหนังสือเรื่อง “ระบาดบันลือโลก เล่ม 4” ของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ ได้กล่าวถึงกำเนิดของโรค และช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดไว้อย่างน่าสนใจ...

การอุบัติขึ้นของโรคลีเจียนเน็ลโลสิสเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2519 ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2519 มีหนังสือพิมพ์ลงข่าวการตายหมู่ลึกลับในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา เหตุเกิดที่โรงแรมเบลเลวิว สแตรทฟอร์ท โฮเตล ในนครฟิลาเดลเฟีย รัฐเพ็นซิลเวเนีย ขณะมีการประชุมประจำปีของสมาคมสหายสงครามอเมริกัน (American Society of Legionnaires) เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 200 ปีอเมริกาไปพร้อมกันด้วย แต่เมื่อการประชุมผ่านไปเพียง 2 วัน ปรากฏว่ามีสมาชิกของสมาคม ซึ่งเป็นผู้สูงวัยทั้งนั้นจำนวน 221 คนล้มป่วยด้วยโรคคล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หายใจลำบาก แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดบวม และเสียชีวิตไป 34 คน เหตุก่อโรคหรือฆาตรกรนั้นได้รับการเปิดเผยโฉมหน้าว่าเป็นเชื้อจุลชีพหรือเชื้อแบคทีเรียตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่งเป็นชนิดที่ไม่เคยมีผู้ใดรู้จักมาก่อน จึงมีการให้สมญานามว่า ลีเจียนเน็ลลา นิวโมฟิลา (Legionella , pnemo – ปอด, phila – Philadelphia)โรคที่เกิดขึ้นนับเป็นโรคใหม่ เป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่จึงต้องมีการขนานนามกันขึ้นมาใหม่ โดยตกลงให้ชื่อโรคว่า “Legionnellosis หรือ Legionnaire’s disease  ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่แอบซุ่มตัวขยายแพร่พันธุ์อยู่ที่หอผึ่งเย็น ของระบบเครื่องปรับอากาศของโรงแรมแห่งนั้น พัดลมของหอผึ่งเย็นหมุนด้วยความแรง ทำให้น้ำของระบบกระเด็นกระจายเป็นละอองฝอยเชื้อจุลชีพก็ติดมาตามละอองฝอย เข้าไปแพร่กระจายทั่วไปในโรงแรมแห่งนั้น

เมื่อสรุปกันว่าโรคที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ลีเจียนแนร์ (Legionnaire disease)หรือลีเจียนเน็ลโลสิส (Legionellosis)  ซึ่งมีอาการทางคลินิกแตกต่างกันได้ 2 แบบ คือ

แบบแรก เรียกชื่อว่า “ไข้ปอนติแอค (Pontiac fever)” มีอาการเหมือนไข้หวัด ไม่มีภาวะปอดอักเสบ จึงไม่รุนแรง และหายได้เองใน 2-5 วัน จึงไม่จำเป็นต้องให้การรักษา

แบบที่สอง จะรุนแรงกว่าโดยมีภาวะปอดอักเสบแบบปอดอักเสบทั้งกลีบ ปอดและถุงลมถูกทำลาย โดยมีระยะฟักตัว 2-10 วัน เริ่มอาการด้วยไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร ไอ ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะก็พบ หายใจขัด อาจมีอุจจาระร่วง อาเจียน และมีอาการทางประสาท เดินสะเปะสะปะ ปอดอักเสบที่จัดอยู่ในรูปแบบนี้เรียกว่า “ปอดอักเสบนอกรูปแบบ” หรือที่เรียกว่า atypical pneumonia อาการปอดอักเสบที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ชนิดเฉียบพลันจนถึงชนิดเรื้อรัง

ลักษณะของเชื้อแบคทีเรียลีเจียนเน็ลล่า เป็นชื่อจีนัสของกลุ่มเชื้อแบคทีเรียทรงแท่ง ย้อมติดสีแกรมลบ มีขนาดกว้าง 0.3-0.9 ไมโครเมตรและยาว 1.5-5.0 ไมโครเมตร เพาะเชื้อไม่ขึ้นบนอาหารเลี้ยงเชื้อธรรมดา เจริญเพิ่มจำนวนได้ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง ปัจจุบันเชื้อในจีนัสนี้ มีมากกว่า 50 สายพันธุ์ และพบว่าประมาณ 20 สายพันธุ์ ก่อให้เกิดโรคในคน เชื้อโรคชนิดนี้มีลักษณะพิเศษที่สามารถอาศัยอยู่และแพร่ขยายในจุลชีพอื่นๆ เช่น อะมีบาที่อุณหภูมิเหมาะสม และจะอาศัยอยู่ได้ดีมากในแผ่นbiofilm ซึ่งมีเกาะอยู่ตามท่อน้ำและแทงค์น้ำทุกๆแห่ง

เชื้อลีเจียนเน็ลลานั้น พบว่ามีแหล่งพำนักอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และเจริญได้ดีในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงระหว่าง 25-42 องศา จึงพบได้ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อน้ำพุร้อนและแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น หอผึ่งเย็นของระบบระบายความร้อนระบบแอร์รวม, ฝักบัว, ก๊อกน้ำ, น้ำพุธรรมชาติและน้ำพุประดิษฐ์ ถังน้ำระบบทำน้ำร้อน ในน้ำที่มีสาหร่ายและอะมีบาเจริญอยู่ในแหล่งน้ำยิ่งจะช่วยให้เชื้อเจริญได้ดี สำหรับการแพร่เชื้อ เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ทางอากาศ กระจายออกจากแหล่งน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะถ้ามีการทำให้น้ำเป็นฝอยได้ เมื่อหายใจเข้าไปได้เชื้อเข้าไปทางปอดก็จะทำให้เป็นโรคได้ แหล่งแพร่เชื้อ ได้แก่ หอผึ่งเย็นของระบบปรับอากาศส่วนรวม คูลเลอร์ที่มีระบบการทำให้น้ำระเหย ระบบเครื่องทำน้ำร้อน ฝักบัวอาบน้ำ สปาชนิดน้ำหมุนวน น้ำพุประดับ เครื่องทำความชื้นในห้อง เครื่องทำน้ำแข็ง เครื่องทำหมอก อ่างน้ำอุ่น แหล่งน้ำพุร้อน แหล่งน้ำตามธรรมชาติ สระว่ายน้ำ โรคมักจะระบาดจากโรงแรม โรงพยาบาล โรงงานที่ขาดการเอาใจใส่ดูแลระบบท่อน้ำ ระบบทำความเย็นน้ำบริโภคที่ไม่ได้เติมคลอรีนให้มากพอ

การเกิดโรคชนิดนี้ จึงเกิดผ่านละอองฝอยที่เกิดขึ้นจากระบบน้ำดังกล่าวมา โดยผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหายใจเอาละอองน้ำขนาด 5 ไมโครเมตร ที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนอยู่เข้าไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบรายงานการเกิดโรคจากเชื้อนี้แพร่จากคนสู่คน รายงานล่าสุดมีการพบสัตว์ (โค) ที่ล้มเจ็บด้วยแต่ในสัตวชนิดอื่นๆ ยังไม่ปรากฏว่ามีรายงาน โรคนี้ในต่างประเทศอุบัติการณ์โรคในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง 3 เท่า วัยกลางคนและผู้สูงอายุป่วยมากกว่าวัยเด็ก โรคเป็นได้กับชนทุกชาติ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรังและผู้ที่สูบบุหรี่จะเป็นบ่อยกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ ในประเทศหนาวอุบัติการณ์ป่วยสูงในฤดูร้อน ในประเทศเขตร้อนเป็นได้ทุกฤดูการให้การรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกของโรคจะได้ผลการรักษาที่ดี และลดอัตราตายลงได้มาก

สำหรับประเทศไทย นายแพทย์ไสว ดีผดุง แห่งโรงพยาบาลชลประทานได้รายงานโรคนี้ในประเทศไทยเป็นรายแรก ต่อมาก็มีรายงานโรคตามมาประปราย เช่น มีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปกลุ่มหนึ่งป่วยเป็นโรคนี้หลังกลับจากมาพักผ่อนในประเทศไทย โดยเชื่อว่าติดโรคจากโรงแรมระดับสามดาวในกรุงเทพมหานคร จากการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่ตรวจพบเชื้อ คงมาจากน้ำบาดาลที่โรงแรมสูบขึ้นใช้เองโดยมิได้เติมคลอรีน โรงแรมจึงถูกสั่งปิดเพื่อแก้ไข หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานผู้ป่วยจากโรงแรมนี้อีก นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยสำรวจหาเชื้อลีเจียนเน็ลลาในหอผึ่งเย็น 94 แห่ง ตามสถานที่ต่างๆ ที่แตกต่างกัน 78 แห่ง รายงานได้ตีพิมพ์ในวารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปีที่ 78 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2538 พบเชื้อลีเจียนเน็ลลาสูงถึงร้อยละ 57 และพบตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

เก็บความและภาพจาก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐ  ทองเจริญ, ระบาดบันลือโลก เล่ม 4, 2552