กรมสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจความสุขคนไทย ปี 2557 เผยความสุขคนไทยครึ่งปีหลังค่อยๆ ดีขึ้น สุขภาพ เวลา และรายได้ เป็นปัจจัยสำคัญกำหนดความสุขคนไทย พร้อมชวนคนไทย“ให้เวลา ขยับกาย กระจายสิ่งดี” สร้างความสุขง่ายๆ โดยเริ่มที่ตัวเอง ต้อนรับวันความสุขสากล
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 20 มี.ค.ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวันความสุขสากล (The International Day of Happiness) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2555 เป็นต้นมา เพื่อกระตุ้นประเทศสมาชิกให้หันมาทบทวนทิศทางการพัฒนาประเทศ ให้ประชากรทั่วโลกมีความสุขมากยิ่งขึ้น อันเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่แท้จริง ทั้งนี้ จากรายงานความสุขโลก ปี ค.ศ. 2013 เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีความสุขอันดับ 1 ของโลก ส่วนประเทศไทยมีความสุขอยู่ลำดับที่ 36 ของโลก และอยู่ในลำดับที่ 2 ของอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ และจากความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการสำรวจข้อมูลความสุขคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แบบสำรวจสุขภาพจิตคนไทย ฉบับสั้น 15 ข้อ พบว่า ในปี 2557 ช่วงครึ่งปีหลัง ความสุขคนไทยค่อยๆ ดีขึ้น การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว และมีรายได้เพียงพอ ไม่มีหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสุขของคนไทย
นางสาวรัจนา เนตรแสงทิพย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ในปี 2557 คณะทำงานได้เลือกทำการเก็บข้อมูลเป็นรายไตรมาส ตั้งแต่ต้นปี เพื่อติดตามการ เปลี่ยนแปลงระดับความสุขคนไทยตลอดปี หลังการเก็บข้อมูลไตรมาสที่สอง (เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1-12 พ.ค.2557) เกิดเหตุการณ์สำคัญ คือ คสช.ยึดอำนาจการปกครอง แต่การเก็บข้อมูลรายไตรมาสยังคงดำเนินต่อจนได้ข้อมูลครบทั้ง 4 ไตรมาส และในปี 2558 คณะทำงานก็ยังคงเก็บข้อมูลรายไตรมาสต่อไปตลอดทั้งปี จากผลการสำรวจปี 2557 พบว่า คะแนนความสุขเฉลี่ยตลอดปีนับตั้งแต่ปี 2555 มีคะแนนลดลง โดย ปี 2555 คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 33.59 ปี 2556 คะแนนเฉลี่ย 33.35 และปี 2557 คะแนนเฉลี่ย 32.06 ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากคะแนนรายไตรมาส ในปี 2557 พบว่า ไตรมาส 2 เป็นช่วงที่มีคะแนนความสุขต่ำสุด ( 31.30 คะแนน) และมีร้อยละของประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงสุด (ความสุขต่ำกว่าคนทั่วไป) ร้อยละ 18.4
นางสาวรัจนา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พบว่า คะแนนความสุขคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในไตรมาสที่ 3 และ 4 (31.48 และ 32.31 ตามลำดับ) เช่นเดียวกับที่ร้อยละของกลุ่มเสี่ยงมีจำนวนลดน้อยลงเป็นลำดับ (ร้อยละ16.3 และร้อยละ14 ตามลำดับ) และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ความสุขของประชากรแต่ละภาคมีลักษณะแตกต่างจากปีก่อนหน้า ที่คะแนนความสุขของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสูงกว่าภาคอื่นและใกล้เคียงกับภาคใต้ แต่ในปี 2557 กลับมีคะแนนต่ำกว่าภาคเหนือและภาคใต้ โดยภาคกลางยังคงมีคะแนนต่ำสุดต่อเนื่องในทุกการสำรวจ
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ และการศึกษาเพิ่มเติมเชิงคุณภาพ เพื่อค้นหาปัจจัยกำหนดความสุขของคนในแต่ละพื้นที่ พบว่า ลักษณะของพื้นที่ที่มีความสุข ได้แก่ การมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติสวยงาม ชุมชนมีสายสัมพันธ์ที่ดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผู้คนรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านที่ไว้ใจได้ มีเศรษฐกิจค่อนข้างดี สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ภาคธุรกิจมีความใกล้ชิดกับชุมชน มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม มีงานประเพณีที่ชุมชนภูมิใจ ลูกหลานรักถิ่นเกิด ผู้คนมีสุขภาพดี ส่วนปัจจัยคุกคามความสุขของประชากรที่สำคัญ คือ การแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหาจราจรในเขตเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม การขายที่ดินละแวกบ้าน การลงทุนขนาดใหญ่
- 9 views