บอร์ดสปสช.เผยผลดำเนินงาน สนับสนุนประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นราคาแพง โดยเฉพาะกลุ่มยาต้านพิษ-เซรุ่ม สธ.-สปสช.จับมือร่วมกับ 5 หน่วยงาน สภากาชาดไทย อภ. ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามา–รพ.ศิริราช และศูนย์รักษาพิษจากสัตว์ จัดระบบให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา รพ.รักษาช่วยผู้ป่วยรอดวิกฤตจาก “สารพิษ-งูพิษกัด” จนถึงปัจจุบันกว่า 5,000 ราย
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า การคุ้มครองด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของบอร์ด สปสช. โดยเฉพาะในกลุ่มยาที่มีปัญหาการเข้าถึง ยากำพร้า หรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ แต่จำเป็นต้องใช้ หาซื้อไม่ได้ตามท้องตลาด มีราคาแพงมาก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มยาต้านพิษ เช่น พิษจากโลหะหนัก และพิษเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินั่ม จากหน่อไม้ปี๊บ และเซรุ่มแก้พิษงู เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยา และหน่วยบริการไม่ต้องแบกรับภาระ บอร์ดสปสช.จึงได้จัดงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อใช้สำหรับจัดหายากำพร้าและเซรุ่มแก้พิษงู ภายใต้การดำเนินงานของ“คณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เพื่อคัดเลือกยากำพร้าในกลุ่มยาต้านพิษมาดำเนินการก่อน โดยมีองค์ประกอบของคณะทำงานจากคณะกรรมการอาหารและยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ศูนย์พิษวิทยา รพ.ศิริราช รวมทั้งสภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และเภสัชกรรมทหาร ร่วมกันออกแบบและดำเนินการ ในช่วงแรก สปสช.ได้เสนอขออนุมัติต่อบอร์ด สปสช.ใช้เงินที่ประหยัดได้จากการประมูลยาบัญชี จ.(2) จำนวน 5 ล้านบาทมาดำเนินโครงการยาต้านพิษเมื่อปีงบประมาณ 2553 ต่อมา เมื่อประสบความสำเร็จ ก็ได้ขยายโครงการไปครอบคลุมกลุ่มของเซรุ่มแก้พิษงู เพื่อเพิ่มโอกาสในการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดชีวิต
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า นวัตกรรมที่โดดเด่นในการจัดทำโครงการนี้ คือ การเข้าถึงข้อมูลแหล่งสำรองยาให้กับผู้ป่วยได้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านภูมิศาสตร์ มาช่วยในการออกแบบและจัดทำข้อมูลการสำรองยาต้านพิษและเซรุ่มของหน่วยบริการแต่ละระดับ แต่มีระบบการส่งยาที่รวดเร็ว การจัดระบบนี้ถือเป็นความสำเร็จภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ตัวแทนจากหน่วยงานของ สธ. ในการคัดเลือกรายการยาที่มีปัญหาและความจำเป็นในการเข้าถึงเพื่อจัดระบบแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในการจัดการยากำพร้าอย่างเป็นระบบ หน่วยผลิตยาในประเทศได้แสดงบทบาทในการสร้างความมั่นคงต่อวงการสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การผลิตยาต้านพิษขึ้นใช้เองโดยความร่วมมือจากสภากาชาดไทย ในการผลิตยาต้านพิษหลายรายการ เช่น Sodium nitrite, Sodium. Thiosulfate, Methylene blue สำหรับยาที่ผลิตเองไม่ได้ ก็ได้รับความร่วมมือจาก อภ.ในการทำหน้าที่จัดหาเพื่อให้มีรายการยาครบตามที่ต้องการพร้อมทั้งจัดระบบการกระจายยาให้หน่วยบริการทั้งประเทศ โดยมีศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ศูนย์พิษวิทยา รพ.ศิริราช และศูนย์รักษาพิษจากสัตว์ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำการเลือกใช้ยาต้านพิษ พร้อมทั้งติดตามประเมินผลให้การรักษาผู้ป่วยหลังจากได้รับยาแล้ว
ด้าน ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากผลดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ช่วยผู้ป่วยที่รับสารพิษรอดชีวิตจากการเข้าถึงยาเพิ่มขึ้นจาก 49 รายในปี 2554 เป็น 466 รายในปี 2557 คณะทำงานฯจึงได้มีมติขยายผลไปยังการจัดการเซรุ่มแก้พิษงู ภายใต้หลักการสำรองตามความเหมาะสมและจำเป็น เนื่องจากกระจายของงูในแต่ละภาคมีความหลากหลายแตกต่างกัน ทำให้สามารถลดงบประมาณในการจัดหาเซรุ่มแก้พิษงูในระดับประเทศ แต่เพิ่มการเข้าถึงเซรุ่มและการช่วยชีวิตผู้ได้รับพิษให้รอดชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยชีวิตให้รอดพ้นจากพิษต่างๆเหล่านี้ กว่า 5,000 รายแล้ว
“หลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการรับสารพิษ ผลจากความร่วมมือดังกล่าว มีการจัดหายาต้านพิษให้กับ รพ.เพื่อใช้รักษา และทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตและกลับมาเป็นปกติได้ อย่างกรณีที่เด็กๆ ในโรงเรียน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่ตรวจพบสารตะกั่วในเลือดต้องได้รับยา succimer ในการรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มยาต้านพิษที่ สปสช.กำหนดไว้ในการดำเนินการเพื่อการเข้าถึง ส่งผลให้เด็กๆ เหล่านี้รอดพ้นจากภาวะพัฒนาการช้าได้ หรือการส่งยา Botulinem antitoxin ให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดห่างไกล อย่างเชียงใหม่ นครศรีธรรมราช หรือชัยภูมิ โดยจากความร่วมมือของทุกฝ่ายทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษจากหน่อไม้ปี้บสามารถได้รับยาภายใน 24 ชม. และหายเป็นปกติได้ทั้งหมด ยังไม่นับกรณีอื่นอีกมาก สิ่งเหล่านี้เป็นมูลค่าที่นับไม่ได้” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 17 views