กรมควบคุมโรค เปิดเผย ข้อมูลองค์การอนามัยโลก มีผู้ป่วยโรคลิชมาเนียรายใหม่ทั่วโลกแต่ละปีประมาณ 1.3 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 20,000 – 30,000 คน สำหรับประเทศไทย ปี 2558 นี้ ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย ที่ผ่านมาปี 2539 - 2557 พบผู้ป่วยคนไทยสะสมทั้งหมด 23 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เมื่อเข้าป่า ไปถ้ำ ทำสวน ทำไร่ ป้องกันตนเองอย่าให้ริ้นฝอยทรายกัด เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อผ้าปกปิดทั่วร่างกาย เจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การอนามัยโลก ได้จัดโรคลิชมาเนียเป็น 1 ใน 6 ของโรคในเขตร้อนที่มีความสำคัญ มีรายงานผู้ป่วยใน 98 ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบอัฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา การแพร่ระบาดพบได้บ่อยในประชากรที่ยากจน ขาดสารอาหารหรือทุพโภชนาการ กลุ่มทหารอพยพที่ไปช่วยรบ คนทำถนนเข้าไปในป่า นักท่องเที่ยว ฯลฯ ทั่วโลกมีผู้ป่วยใหม่แต่ละปีประมาณ 1.3 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 20,000 - 30,000 ราย สำหรับสถานการณ์โรคลิชมาเนียในประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยครั้งแรก ในปี 2503 เป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลาง ต่อมา ปี พ.ศ. 2539 พบผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อในประเทศ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2539 - 2557 พบผู้ป่วยคนไทยสะสมทั้งหมด 23 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์ร่วมด้วย ยังไม่พบว่ามีการเสียชีวิตจากโรคลิชมาเนีย และในปี พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วย 2 ราย เป็นวัยแรงงาน มีอาชีพเกษตรกรรมทำไร่และทำสวน และปีนี้ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า โรคลิชมาเนีย หรือโรคคาลาอาซาร์ (Kala-azar) เป็นโรคที่เกิดในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เช่น กระรอก กระแต หนู สุนัข เป็นต้นและแพร่มาสู่คน โดยริ้นฝอยทรายเพศเมีย (sand fly) ซึ่งเป็นแมลงอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ในที่มืด อากาศเย็น และมีความชื้น เช่น กองอิฐ กองหิน กองไม้ฟืน จอมปลวกเก่า รอยแตกของฝาผนังหรืออิฐ ตอไม้ผุ หรือตามพื้นดินที่มีใบไม้ปกคลุมในป่าทึบ และใกล้คอกสัตว์ เป็นพาหะนำเชื้อมาแพร่สู่คน ริ้นฝอยทรายจะดูดเลือดของสัตว์ที่มีตัวเชื้อโปรโตซัวลิชมาเนีย (Leishmania) ซึ่งอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาวสัตว์ และมากัดคนต่อ หลังคนติดเชื้อจะมีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 3 - 6 เดือน จึงปรากฏอาการ อาการป่วยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป คือ จะมีไข้เรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มีอาการซีด และอาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ท้องอืด ตับม้ามโต น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต ผิวหนังคล้ำขึ้น ไม่มีแรง บางรายมีแผลที่ผิวหนัง และที่เยื่อบุรอบปากและจมูก แผลมี 2 ลักษณะ คือมีแผลที่รอยกัดจะเป็นตุ่มแดงและแตก เป็นแผล ไม่เจ็บ ใช้เวลารักษานานหลายปี อาจเป็นๆหายๆ แผลมักขึ้นที่หน้าและใบหู โรคนี้ มียารักษาหายขาด อย่างไรก็ตามโรคนี้อาจมีโรคแทรกซ้อนเกิดตามมาได้ เช่น ปอดบวม ซูบซีด กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาช้าอาจเสียชีวิตได้
“การป้องกันโรคลิชมาเนีย คือ การป้องกันไม่ให้ริ้นฝอยทรายกัด ได้แก่ 1.ประชาชนที่เข้าป่า ไปถ้ำ ทำสวน ทำไร่ ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดรัดกุม เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้า ยัดปลายขากางเกงในรองเท้ายัดปลายเสื้อในกางเกง ทายากันยุง เป็นต้น ซึ่งจะป้องกันได้ เนื่องจากริ้นฝอยทรายมีปากสั้น ไม่สามารถกัดผ่านเสื้อผ้าได้ พักค้างควรนอนในมุ้ง และไม่ควรอยู่นอกบ้านช่วงพลบค่ำ ซึ่งริ้นฝอยทรายออกหากินมาก 2.ทายากันแมลงบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้า 3.นอนกางมุ้งที่ชุบด้วยสารเคมีป้องกันยุงและแมลง ดูแลบริเวณบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย 4.หลังกลับจากพื้นที่โรคระบาด ภายใน 3 -6 เดือน หากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย มีอาการท้องเดิน ท้องผูก เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ให้พบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง ประชาชนสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422” นพ.โสภณ กล่าว
- 18 views