"ปรียนันท์"โต้แพทยสภา ยัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการได้รับบริการสาธารณสุข ไม่ซ้ำซ้อนมาตรา 41 เน้นเยียวยาโดยไม่หวังเอาผิดหมอ และช่วยลดคดีฟ้องร้อง ซัดแพทยสภาแถลงข่าวทั้งที่ไม่ใช่มิติของคณะกรรมการแพทยสภาพ รองเลขาสพฉ.วอนแพทย์ทั้งหลายศึกษากฎหมายด้วยตัวเอง อย่าเชื่อข้อโจมตีอย่างไม่มีเหตุผล ชี้เป็นการจ่ายเพื่อบรรเทาทุกข์ ไม่ใช่จ่ายเพราะหมอผิด
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มแพทยสภา แถลงจุดยืนคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการได้รับบริการสาธารณสุข อย่างถึงที่สุด และเสนอให้ใช้กลไกมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยแก้ไขกฎหมายให้ขยายครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพแทนว่า การแถลงดังกล่าวไม่ใช่มติคณะกรรมการแพทยสภา แต่เป็นแพทย์เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์ของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯก็เปลี่ยนไป เพราะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดประชาพิจารณ์ใน 4 ภูมิภาค มีการนำนักกฎหมายและผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกาไปอธิบายอย่างละเอียดทุกแง่มุม จนการประชาพิจารณ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งการที่แพทย์กลุ่มนี้ออกมาแถลงก็เพราะรู้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)นั่นเอง
นางปรียนันท์ โต้แย้งเหตุผลในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ของแพทยสภาในหลายประเด็น โดยชี้แจงว่า สิ่งที่แพทยภาพแถลงเป็นการเข้าใจผิด ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้ตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมาซ้ำซ้อนกับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะเมื่อร่างกฎหมายนี้มีผลบังคับ ก็จะโอนกองทุนตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนกองทุนในลักษณะนี้ของสำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลางมาอยู่กับกองทุนตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ดังนั้นจึงไม่ใช่เงินก้อนใหม่แต่เป็นเงินที่มีอยู่แล้ว และตัวสำนักงานกองทุนก็ไม่ได้ตั้งขึ้นมาใหม่ สามารถใช้สำนักงานเดิมที่อยู่กับสปสช.ก็ได้ เพียงแต่ย้ายมาสังกัดกับหน่วยงานตามที่กฎหมายกำหนด
นางปรียนันท์ กล่าวด้วยว่า การจ่ายเงินเยียวยาก็ไม่ได้จ่ายให้กับทุกคน แต่จะมีเกณฑ์การคัดกรองที่ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ได้รับเงินชดเชยไม่เสียชีวิตก็พิการ รวมทั้งยังมีการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)อีกด้วย ขณะเดียวกัน การที่บอกว่าคนที่พิจารณาไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์จะพิจารณาได้อย่างไรนั้น แนวคิดการจ่ายเงินเยียวยา ก็เป็นการจ่ายโดยไม่พิสูจน์ความถูกผิดของแพทย์ ขอแค่ได้รับความเสียหายก็พอ ดังนั้นหากเอาเกณฑ์การปฏิบัติหรือมาตรฐานการรักษามาวินิจฉัย จะเป็นอุปสรรคเพราะจะกลายเป็นการหาตัวคนผิดไป
"วัตถุประสงค์ของกองทุนนี้อยากให้คนมาร้องขอเยียวยาเยอะๆ จะได้ไม่ต้องไปฟ้องหมอ ที่ผ่านมาที่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ก็เพราะยื่นเรื่องร้องเรียนไปแล้วแพทยสภาดึงเรื่องไว้จนจะหมดอายุความ คนไข้เลยต้องฟ้องคดีอาญาเพื่อขยายอายุความออกไป และจะได้ไปฟ้องแพ่งเรียกค่าชดเชยต่อ แต่หากมีการเยียวยาแล้วก็ไม่มีเหตุผลจะต้องไปฟ้องอีก ส่วนที่บอกว่าจ่ายเงินเยียวยาแล้วเรื่องก็ไม่จบเพราะยังมีคดีอาญาอีกนั้น โดยหลักการแล้วกฎหมายคดีอาญายอมความไม่ได้ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ให้อำนาจศาลที่จะลงโทษก็ได้ ไม่ลงโทษก็ได้ ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ได้ แค่ข้อนี้ข้อเดียวก็เป็นคุณกับหมออย่างมากแล้ว ไปดูสถิติสิว่าที่ผ่านมามีคนไข้ฟ้องอาญาหมอแล้วชนะสักกี่คดี"นางปรียนันท์ กล่าว
ด้าน นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)และ อดีตกรรมการแพทยสภา กล่าวว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ จะแทนที่มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปเลย โดยมีการชดเชยที่เหมาะสมกับความเสียหาย และหน่วยงานก็ไม่ต้องตั้งใหม่ เพราะมี Body เดิมที่ทำงานได้อยู่แล้ว ไม่ต้องเสียงบประมาณตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาอีก
ขณะเดียวกัน การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาก็จะจ่ายในกรณีที่ความเสียหายทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ คำว่าหลีกเลี่ยงได้แปลว่าถ้าป้องกันได้ ความเสียหายก็จะไม่เกิด ซึ่งการเยียวยาก็ไม่ใช่การพิสูจน์ว่าใครถูกผิด แต่ดูว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยหรือไม่และความเสียหายเท่าไหร่ เมื่อเยียวยาแล้ว ก็กลับไปพัฒนาคุณภาพหรือป้องกันไม่ให้ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นอีก ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ก็สามารถวินิจฉัยอย่างกว้างได้ ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ตกเตียง อาจจะเป็นเพราะเตียงไม่แข็งแรง หรือคนไข้เวียนหัวแล้วตกเตียง ซึ่งหากคิดแบบกว้างๆ ก็จ่ายเงินเยียวยาได้ เพราะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดได้ แต่ไม่ใช่บอกว่าจ่ายเงินเยียวยาเพราะโรงพยาบาลทำเตียงไม่แข็งแรง เป็นการจ่ายเพื่อบรรเทาทุกข์ ไม่ใช่จ่ายเพราะหมอผิด
"สิ่งที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ต่างจากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะมาตรา 41 เป็นการชดเชยเบื้องต้น แต่มันไม่พอเพราะกำหนดเพดานไว้ ดังนั้นถ้าความเสียหายมากกว่าเพดานที่กำหนด สุดท้ายคนไข้ก็จะไปฟ้องเรียกค่าเสียหายอยู่ดี"นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ยังมีความเข้าใจผิดว่าถ้าประกาศใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว คนไข้จะฟ้องหมอมากขึ้น จริงๆ แล้วคนไข้จะร้องมากขึ้น หมายถึงยื่นคำร้องเพื่อขอเงินชดเชยมากขึ้น ซึ่งยิ่งมากยิ่งดีเพราะจุดประสงค์ของกฎหมายเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วเพราะให้คนไข้ได้รับการชดเชยเยียวยา แต่ในทางกลับกันถ้าไม่มีการชดเชย คนจะไปฟ้องเรียกค่าเสียหายมากขึ้นแน่
"ที่ผ่านมาที่มีการฟ้องหมอเกิดขึ้น ก็คือการฟ้องเพื่อขยายอายุความ และฟ้องขู่เพื่อหวังเงินเยียวยา ซึ่งถ้าคนไข้ได้เงินเยียวยาเขาก็ไม่ไปฟ้องหรอก แล้วเงินที่จ่ายก็ไม่ใช่เงินหมอ หมอก็ไม่ได้ถูกบังคับให้จ่ายสมทบเข้ากองทุน"นพ.ไพโรจน์
ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายในการเยียวยาของกองทุน ก็ไม่ได้สูงถึงหมื่นล้านแสนล้าน สมมุติคิดที่ 1% ของงบรายหัวของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ 45 ล้านคน ก็อยู่ที่ประมาณ 1,350 ล้านบาท แต่ทุกวันนี้ที่สปสช.จ่ายออกไปประมาณ 100-200 ล้านบาท ต่อให้ต้องจ่ายมากขึ้นอีกก็ไม่ถึง 1,000 ล้านบาทอยู่ดี หรือถ้ารวมผู้ใช้สิทธิของอีก 2 กองทุนสุขภาพเข้ามาด้วย ค่าใช้จ่ายก็อาจอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าคุ้มกว่าการเอาไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพราะนี่คือเรื่องของชีวิตคน
นพ.ไพโรจน์ ทิ้งท้ายว่า อยากฝากให้แพทย์ทั้งหลายช่วยศึกษารายละเอียดกฎหมายนี้ด้วยตัวเอง อย่าไปเชื่อข้อโจมตีอย่างไม่มีเหตุผล เพราะจะทำให้เสียโอกาสมีกฎหมายดีๆแบบนี้ไป
- 13 views