สธ.เผยสภาพอากาศช่วงนี้ อาจป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย แนะประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่ จ.เพชรบูรณ์ แท้จริงแล้วเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ สถานการณ์ปีนี้ป่วยแล้ว 14,000 กว่าราย เสียชีวิต 11 ราย ย้ำวิธีป้องกัน ไอจามปิดปากปิดจมูก หมั่นล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด หากป่วยเป็นหวัดให้สวมหน้ากากป้องกัน หยุดเรียนหรือหยุดงาน และพบแพทย์
จากที่มีข่าวพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หลายคนป่วยไล่เลี่ยกันที่จังหวัดเพชรบูรณ์ รายแรกเริ่มป่วยเมื่อ 2 มีนาคม 2558 ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม มีอาการหอบเหนื่อย ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทธชินราช แพทย์ให้นอนโรงพยาบาล ใส่เครื่องช่วยหายใจ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ เอช1 เอ็น1 (H1N1) หรือเรียกว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 ขณะนี้อาการคงที่ และยังมีผู้สัมผัสร่วมบ้านอีก 7 คน มีอาการป่วย 3 คน ทราบผลตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว 1 คน เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดียวกัน อีก 2 คนรอผลตรวจนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ ได้สั่งการให้สำนักระบาดวิทยาร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ป้องกันและควบคุมโรคแล้ว ขอเรียนว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบครั้งนี้ เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบในไทยอยู่แล้ว ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด หากประชาชนมีอาการสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอด หอบหืด เป็นต้น ขอให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากการได้ยาต้านไวรัสเร็ว จะทำให้อาการป่วยหายได้เร็วและไม่รุนแรง ส่วนประชาชนทั่วไป สามารถป้องกันได้ โดยต้องดูแลสุขภาพตนเอง หมั่นล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดบ่อยๆ ให้ปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม หากมีอาการไข้หวัด ให้สวมหน้ากากป้องกัน หยุดเรียน หรือหยุดงานจนกว่าอาการจะดีขึ้น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้สภาพอากาศในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากปลายฤดูหนาวเข้าสู่ต้นฤดูร้อน บางพื้นที่อาจมีฝนตก ประชาชนอาจเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย ผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 มกราคม - 9 มีนาคม 2558 พบผู้ป่วยทั่วประเทศสะสม 14,743 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 7 - 24 ปี อาการไข้หวัดใหญ่มักเริ่มต้นด้วยไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการมักไม่รุนแรง และจะทุเลาหายป่วยภายใน 5 -7 วัน บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่นปอดอักเสบรุนแรง ปอดบวม อาจทำให้เสียชีวิตได้ ในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่จะรักษาตามอาการ โดยเช็ดตัวลดไข้ หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้เช่นพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน ผู้ป่วยขอให้หยุดเรียนหรือหยุดทำงานจนกว่าจะหายเป็นปกติ นอนพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำ และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค หากอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงหรือมีอาการรุนแรง ให้รีบพบแพทย์ให้การรักษา ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาจเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เด็กอายุเล็ก ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และผู้มีโรคอ้วน หากมีอาการที่กล่าวมาให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับยาต้านไวรัส ซึ่งจะช่วยให้หายเร็วและอาการไม่รุนแรง
ในการป้องกันโรค ขอให้ประชาชนล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นเช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
- 9 views