สปสช.แถลงข่าว เผยความร่วมมือกับ สธ.ตั้งคณะทำงานระดับบริหารเพื่อปรับทิศทางการทำงาน แจงเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข ตามนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล ขณะที่ความคืบหน้าการตรวจสอบการบริหารงบกองทุน ทั้งจาก คตร. และดีเอสไอ ยันไม่เคยมีประเด็นการทุจริต ไม่พบพิรุธการใช้เงิน ไม่พบการใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ส่วนการตรวจสอบของ สตง. ไม่ใช่การทุจริต แต่เป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ขณะนี้แก้ไขตามข้อแนะนำของ สตง.แล้ว ส่วนการตรวจสอบของ ป.ป.ท. ได้ส่งหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานให้แล้ว พร้อมแจงทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหา ยันเป็นเพียงหน่วยงานรัฐที่ต้องทำตามนโยบายรัฐบาล ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีคำสั่งย้ายปลัดสธ. ส่วนข้อเสนอของสธ.เรื่องจัดสรรงบบัตรทองก็ได้ข้อยุติแล้วตามมติบอร์ดสปสช. 9 ก.พ. ย้ำ สปสช.ถูกตรวจสอบตลอดเวลา และพร้อมให้ตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. พร้อมด้วย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสปสช. และ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสปสช. แถลงข่าว ข้อเท็จจริงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.วินัย กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่สปสช.ต้องแถลงข่าวในวันนี้ สืบเนื่องมาจากมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีที่มีคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมีการโยงว่า สปสช.อยู่เบื้องหลัง โดยเชื่อว่าเกิดมาจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเรื่องการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งเรื่องนี้ทุกคนก็ทราบดีว่า การจัดสรรงบประมาณปี 58 ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยตามมติบอร์ดสปสช.เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 58 ดังนั้นจึงไม่ใช่สาเหตุของคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการแน่นอน ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า การที่ปลัด สธ.มาขุดคุ้ยการทุจริตในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสาเหตุให้ถูกย้ายไปช่วยราชการ ก็อยู่ในกระบวนการตรวจสอบแล้ว ก็ยิ่งไม่น่าจะใช่สาเหตุที่ทำให้ถูกย้าย
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่มีการระบุว่า เพราะมีการตรวจสอบกองทุนบัตรทอง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกสั่งย้าย ก็ไม่ใช่ความจริง สาเหตุของคำสั่งนั้น ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วจากการให้สัมภาษณ์ของ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี โฆษกรัฐบาล และ รมว.สธ. สปสช.จะไม่ขอพูดถึงในที่นี้ เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสปสช. สปสช.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและผ่านการควบคุมกำกับตามลำดับขั้น แต่ประเด็นเรื่องการตรวจสอบนั้น ข้อเท็จจริงที่ทุกคนทราบดีคือ ทุกวันนี้ สปสช.ถูกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ทั้งตรวจสอบตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด และการตรวจสอบผ่านหน่วยงานต่างๆ สปสช.พูดเสมอว่าพร้อมให้ตรวจสอบ และที่สำคัญดำเนินการโดยยึดหลัก ธรรมาภิบาล โปร่งใส มาตลอด แล้วที่ผ่านมามีการตรวจสอบไหนจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งดำเนินการหลังจากมีผู้ร้องเรียน แต่ทั้งหมดไม่เคยบอกว่ามีการทุจริต ไม่ว่าจะเป็น สตง. ดีเอสไอ คตร. และป.ป.ท. แต่ทำหนังสือให้สปสช.ชี้แจงพร้อมเอกสารและหลักฐาน และที่ผ่านมาก็ไม่เคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องการใช้เงินทุจริต
นพ.วินัย กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการชี้แจงแต่ละหน่วยงานมีดังนี้ เริ่มตั้งแต่ คตร.ภายหลังจากที่ชี้แจงพร้อมหลักฐาน ก็ไม่มีประเด็นสงสัยอีก ไม่พบการทุจริต ไม่พบการใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ส่วนการตรวจสอบของดีเอสไอเรื่องเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐของอภ.ก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าไม่พบพิรุธการใช้เงิน และไม่พบทุจริตเช่นกัน และมีข้อแนะนำให้ดำเนินการตามที่สตง.ระบุมา ขณะที่ สตง.นั้น มีการตรวจสอบทุกปี ประเด็นที่เคยเป็นข่าว เป็นการตรวจสอบของปี 2554 พบการใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของสปสช.สาขาจังหวัดในขณะนั้น ไม่ใช่ทุจริตการใช้เงิน และสตง.แนะนำให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง สธ.และสปสช. ซึ่งมีตัวแทนอัยการสูงสุดเป็นกรรมการ และให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอบอร์ดสปสช. และตอนนี้ สตง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบของปีงบประมาณ 2555 และปี 2556
“ส่วนประเด็นการทำงานร่วมกันในอนาคตนั้น ขณะนี้ สธ. และสปสช. ได้มีการหารือถึงการทำงานแล้ว เบื้องต้นจะมีการตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วย เลขาธิการสปสช. รองเลขาธิการสปสช. รักษาการปลัดสธ. และรองปลัดสธ. เพื่อจัดระบบการทำงานให้ทั้ง 2 หน่วยงานสามารถร่วมกันทำงานตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการและทุกระดับ ซึ่งจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้ ขณะที่ประเด็นการนำเสนอข้อมูลที่มีรายละเอียดแตกต่างกันนั้น รมว.สธ. ได้แต่งตั้ง ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้ สปสช.ได้ให้ข้อมูลพร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้ว และกรรมการชุดนี้คาดว่าจะดำเนินการหาข้อเท็จจริงและสามารถสรุปได้ในเร็ววันนี้” นพ.วินัย กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวว่า ขณะที่การตรวจสอบของ ป.ป.ท.นั้น หลังจากที่สปสช.ได้รับหนังสือให้ชี้แจง สปสช.ได้ส่งหนังสือชี้แจงพร้อมเอกสารหลักฐานไปแล้ววานนี้ (18 มี.ค.) แต่เป็นเอกสารระดับ ลับ สปสช.ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่จะขอชี้แจงตามที่ประเด็นการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ดังนี้
1.ผลตอบแทนการซื้อยาจาก อภ. ข้อเท็จจริง คือ สปสช. ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจากการซื้อยาแต่อย่างใด การซื้อยาที่ผ่านมา สปสช.ซื้อจาก อภ. และจ่ายเงินภายในเวลาที่ อภ.กำหนด ตามระเบียบการใช้เงินสนับสนุนกิจการภาครัฐของ อภ. ระบุว่า หากหน่วยงานใดที่ซื้อยากับ อภ.และจ่ายเงินภายในเวลาที่กำหนด ให้หน่วยงานเขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนได้ และเนื่องจากไม่ใช่เงินส่วนลดจากการซื้อยา จึงไม่จำเป็นต้องส่งเงินเข้ากองทุน เมื่อได้รับเงินส่วนดังกล่าวจาก อภ. สปสช.จะนำเข้าบัญชีเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐ ซึ่งดูแลและบริหารจัดการภายใต้ระเบียบเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐ ตามมติ บอร์ด สปสช. โดยมีการพิจารณาในรูปคณะกรรมการภายใต้วัตถุประสงค์ที่กำหนด และจะต้องรายงานผลการใช้เงินต่อคณะกรรมการฯ เป็นระยะ
2.ความเข้าใจผิดเรื่องการตกแต่งบัญชี ข้อเท็จจริงคือ สปสช. ไม่เคยกระทำการโอนเงินและเรียกให้โอนเงินกลับเพื่อประโยชน์ในการประเมินผลงานและโบนัสประจำปีของสำนักงานแต่อย่างใด การจัดสรรเงินกองทุนของ สปสช.มี 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่ การจัดสรรแบบเหมาจ่ายรายหัว และการจัดสรรตามผลงาน การจัดสรรแบบเหมาจ่ายรายหัวสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ แต่การจัดสรรตามผลงาน จะต้องรอให้โรงพยาบาลแจ้งผลงานก่อนจึงจะจัดสรรได้ ซึ่งใช้เวลาในการประมวลผลและจัดทำรายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการรักษาผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง ซึ่ง รพ.จะใช้เวลาในการสรุปค่าใช้จ่ายมาก เนื่องจากมีความสลับซับซ้อนในการรักษา ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่สรุปเอกสารจนได้รับค่าใช้จ่ายคืนจากกองทุน โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ทำให้อาจเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องได้ สปสช.จึงแก้ปัญหาโดยทำการจ่ายเงินล่วงหน้าให้โรงพยาบาล โดยใช้ผลงานที่โรงพยาบาลทำได้ในปีงบประมาณก่อนหน้า ต่อเมื่อ รพ.สรุปรายงานการรักษาและเรียกเก็บมาที่กองทุน จึงทยอยหักกลบลบหนี้ในงวดสุดท้าย ซึ่งตัวเลขจะต้องเท่ากับที่ สปสช.ได้สำรองจ่ายล่วงหน้าไป
ด้าน นพ.พีรพล กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ 3. ความเข้าใจผิดเรื่อง การจ่ายเบี้ยประชุมนั้น ข้อเท็จจริงคือ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบอร์ดสปสช.นั้น ไม่ได้รับเงินเดือนแต่อย่างใด แต่ได้รับเบี้ยประชุมไม่เกินเดือนละ 12,000 บาท ไม่ว่าจะมีการประชุมกี่ครั้งในเดือนนั้น ซึ่งอัตราและระเบียบวิธีการจ่าย เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับการจ้างเลขาธิการ จะใช้อัตราเงินเดือนตามระดับองค์กรที่ กพร.กำหนด ซึ่งขณะนี้ สปสช.มีระดับองค์กรเท่ากับ รพ.บ้านแพ้ว แต่ต่ำกว่าสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โดยกำหนดให้อัตราเงินเดือนสูงสุดไม่เกินสองแสนบาท ส่วนการกำหนดอัตราการจ่ายเบี้ยประชุมให้อนุกรรมการเป็นอำนาจของ รมว.สธ. ไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการหรือประธานคณะกรรมการ ตามมาตรา 23 ส่วนการจ้างเลขาธิการตามวาระ 4 ปี ซึ่งในสัญญาจ้างจะมีข้อกำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลงานเป็นรายปี และหากมีผลงานต่ำกว่าเป้าหมายมาก ก็สามารถเลิกจ้างได้ตามเงื่อนไข ส่วนการเพิ่มเงินเดือนก็เป็นไปตามผลการประเมินของคณะกรรมการ
นพ.พีรพล กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ 4. ความเข้าใจผิดเรื่อง การนำเงินกองทุนไปให้ รพ.เอกชน ข้อเท็จจริงคือ สปสช.ไม่เคยนำเงินกองทุนไปใช้สำหรับโครงการต่างๆ ของ รพ.เอกชนซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ สปสช. จ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการที่มาขึ้นทะเบียนกับ สปสช.เท่านั้น(ยกเว้นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามนโยบายของรัฐบาล) ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า หน่วยบริการ หมายถึง สถานบริการที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.นี้ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่เขียนระบุไว้ในตอนท้ายของ พ.ร.บ. ต้องการให้ รพ.เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการเพื่อเพิ่มโอกาสในการให้บริการแก่ประชาชน และ สปสช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบ รพ.เอกชนที่ประสงค์เข้าร่วมให้บริการอย่างเข้มงวด อีกทั้งจะต้องพร้อมรับการตรวจสอบการบันทึกเวชระเบียน(Medical Record Audit) และคุณภาพในการให้บริการเป็นระยะ ทั้งนี้ สปสช.ได้กำหนดอัตราการจ่ายเงินชดเชยให้แก่หน่วยบริการภาครัฐ และเอกชนในอัตราเดียวกันอีกด้วย
นพ.วีระวัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญอีกประเด็นที่มีการเข้าใจผิดกันมาก คือ การกล่าวหาว่าบอร์ดสปสช.มีการผูกขาด ข้อเท็จจริงคือ แนวคิดการบริหารกองทุนบัตรทองผ่านบอร์ดสปสช. ซึ่งบอร์ดสปสช.จะเห็นได้ว่ามีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ก็เพื่อต้องการให้บุคคลที่มีส่วนได้เสียในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งหมดเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งหน่วยบริการภาครัฐ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ รพ.เอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาชน ซึ่งทุกภาคส่วนล้วนแต่มีส่วนได้เสียในระบบทั้งสิ้น หากจะมองว่าการมีผู้มีส่วนได้เสียนี้เป็นการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ย่อมเป็นไปได้ในมุมมองนั้น แต่ในเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องการให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดมามีส่วนในการร่วมคิด ร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ เนี่องจากมติของบอร์ดสปสช.จะมีผลต่อทุกภาคส่วน กระบวนการในการบริหารจะใช้วิธีการตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษารายละเอียดหรือกลั่นกรองเรื่องก่อน การออกแบบเช่นนี้เป็นการออกแบบโดยเจตนา กรณีที่กล่าวว่ามีการออกระเบียบที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้สามารถนำเงินโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไปใช้ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย สปสช.ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีระเบียบส่วนไหนเป็นตามที่กล่าวอ้าง อย่างไรก็ตามการสนับสนุนมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติซึ่งปัจจุบัน ประธานมูลนิธิ ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ บอร์ดสปสช.แต่อย่างใด ประเด็นการสนับสนุนหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ หน่วยงานเหล่านั้นยังต้องใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุนตามมาตรา 38 ไม่เคยใช้เงินกองทุนบัตรทอวไปใช้ในการศึกษาดูงาน แต่อย่างใด หากมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเป็นการใช้เงินในโครงการใด ขอได้โปรดแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติม นอกจากนั้นการส่งเงินให้กับกรมต่างๆของ สธ. จะมีการทำข้อตกลงให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน
ด้าน เลขาธิการสปสช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วม ระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ไม่ได้มองประชาชนเป็นแค่ผู้รับบริการ แต่สร้างระบบที่จะให้ประชาชนได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการ จึงจะเห็นได้ว่า มีกลไกตัวแทนภาคประชาชน อปท. เครือข่ายต่างๆ ตั้งแต่ในบอร์ดสปสช. ซึ่งเป็นบอร์ดใหญ่ ไล่ลงมาจนถึงตัวแทนภาคประชาชนในอนุกรรมการต่างๆ จนมาถึงระดับที่ใกล้ชิดชุมชนอย่างกองทุนสุขภาพตำบลที่มีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมออกแบบว่าการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคแบบไหนที่เหมาะสมกับชุมชน และตรงกับที่ท้องถิ่นต้องการ ขณะที่ระดับเขต ก็มีกลไกคณะกรรมการอปสข.ที่มีตัวแทนระดับท้องถิ่นในการตัดสินใจออกแบบการใช้งบประมาณในระดับเขตเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ระบบนี้ออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่รอรับบริการอย่างเดียว แต่ต้องมีส่วนร่วมออกแบบระบบ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจด้วย ในการประชุมบอร์ดสปสช.แต่ละครั้งทุกคนจะเห็นว่ามีการอภิปราย แลกเปลี่ยนกันมากมาย ส่วนสปสช.มีหน้าที่เป็นเลขานุการแค่นั้น ไม่ได้มีหน้าที่กำหนดอะไรได้ตามใจชอบอย่างที่เข้าใจผิด และด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า กว่าข้อเสนอจัดสรรงบของสป.สธ.จะได้ข้อยุติจึงต้องใช้เวลานาน เพราะมีผู้เกี่ยวข้องเยอะมาก ไม่สามารถสรุปแบบใช้อำนาจชี้นำสั่งการได้แน่นอน” นพ.วินัย กล่าว
ทั้งนี้ สปสช.รายงานเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นจริงนั้น สปสช.ได้แถลงข่าวชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.57 สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่
- 3 views