โฆษกสปสช.ระบุกรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบใช้เงินผิดประเภทเป็นเรื่องเก่า ยันไม่พบทุจริต แต่ให้เป็นหน้าที่ของสปสช.ที่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดสรร ไม่สามารถมอบหน้าที่นี้ให้แก่ สป.สธ.ได้ เพราะผิดระเบียบของอภ. ย้ำไม่ใช่เงินส่วนลดจากการซื้อยา แต่เป็นเงินที่อภ.จัดสรรให้จากการซื้อยา ส่วนระเบียบสามารถนำมาใช้สนับสนุนให้หน่วยบริการ หน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการบริหาร การพัฒนาวิชาการ การศึกษาวิจัย รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นได้
18 มี.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีรายงานข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ตรวจสอบการใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ให้แก่สปสช. สืบเนื่องจาก กรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้เสนอให้ดีเอสไอสอบสวนการใช้เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐดังกล่าว ตั้งแต่ 3 ก.ย. 2556 ซึ่งต่อมา 9 ก.ย. 2556 ดีเอสไอได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวน และ 31 ต.ค. 2556 ดีเอสไอได้แจ้งผลการสืบสวนไปยังปลัดสธ. ต่อมาวันที่ 13 ม.ค. 2557 ดีเอสไอได้เสนอรายงานการสอบสวนให้ รมว.สธ.ขณะนั้นรับทราบ
จากนั้น 15 ม.ค.57 รมว.สธ.ขณะนั้นได้สั่งการให้ประธานบอร์ดอภ.ขณะนั้นหารือกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ในประเด็นการใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐของ อภ.ที่มอบให้สปสช. และได้ข้อสรุปที่เป็นไปในทางเดียวกับผลสรุปของดีเอสไอว่า ไม่พบพิรุธหรือทุจริตการใช้เงิน แต่ให้ดำเนินการให้ถูกตามระเบียบ ดังนี้
ทั้งนี้ สตง.ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวและแจ้งให้ อภ.ทราบว่า เงินที่ อภ.จัดสรรเป็นเงินสนับสนุนกิจการภาครัฐให้แก่ สปสช. เป็นเงินที่เกิดมาจากการที่ สปสช.ได้จัดซื้อผลิตภัณฑ์ยาด้วยเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับมาตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงเป็นสิทธิของ สปสช.โดยชอบที่จะต้องพิจารณาจัดสรรเงินที่ได้รับมาด้วยตนเองให้ไปยังหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยบริการภาครัฐทั้งที่อยู่ในสังกัด สป.สธ. และอยู่นอกสังกัด สป.สธ. และหน่วยบริการภาคเอกชนตามข้อเสนอแนะของ สตง. และยังระบุตอนท้ายว่า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและทั่วถึง หาก สปสช.พิจารณาให้สป.สธ. เป็นผู้ดำเนินการแทนอาจถือเป็นการขัดต่อข้อบังคับของ อภ.ไม่ตรงประเด็นตามข้อเสนอแนะของ สตง. และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้
“เมื่อ สตง.มีข้อเสนอแนะ สปสช.ก็ปฎิบัติตามนั้น ไม่มีการโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ สป.สธ.แต่อย่างใด ทั้งนี้ สปสช.ขอชี้แจงว่า สตง.ไม่ได้ท้วงติงว่า สปสช.มิได้ส่งเงินนี้ให้กับหน่วยบริการ และนำไปจัดสรรให้กลุ่มบุคคลและองค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการแต่อย่างใด ประเด็นนี้เป็นการเข้าใจผิด นอกจากนั้น บอร์ด สปสช.ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ได้รับจาก อภ.ให้เป็นการนำไปใช้เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อหน่วยบริการ ตามที่ สตง.ได้เสนอแนะเพิ่มเติมอีกด้วย”ทพ.อรรถพร กล่าว
โฆษก สปสช. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ขอชี้แจงประเด็นที่มีการเข้าใจผิดว่า เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐเป็นเงินส่วนลดจากการซื้อยานั้น ข้อเท็จจริงคือ เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐตามข้อบังคับของอภ.นั้น เป็นเงินที่ อภ.จัดสรรให้สปสช.เพื่อเป็นเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ไม่ใช่เงินที่ได้จากส่วนลดในการซื้อยา และต้องย้ำว่าเป็นเงินคนละส่วนกับส่วนลดจากการซื้อยา ที่ผ่านมา สปสช.มีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวม ซึ่งวิธีการนี้สามารถซื้อยาได้ราคาถูกลง และเงินที่ประหยัดได้ หรือที่หลายฝ่ายอาจจะเรียกว่าเป็นเงินส่วนลดนั้น ก็กลับเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพในรูปแบบว่าการซื้อยาได้ราคาถูกลง ก็ทำให้ซื้อได้มากขึ้น และทำให้มีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับยานั้นเพิ่มมากขึ้น แต่เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐนี้เป็นไปตามข้อบังคับของ อภ.ที่มอบให้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการบริหาร การพัฒนาวิชาการ การศึกษาวิจัย รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่น
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ในการจัดสรรนั้น จะมีคณะกรรมการบริหารเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ทำหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยบริการ หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน ซึ่งประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า เป็นเงินที่สนับสนุนให้แก่องค์กรที่นอกเหนือจากหน่วยบริการได้ และใช้เป็นสวัสดิการสำหรับสำนักงานได้ ซึ่งสวัสดิการสำนักงานนี้ เป็นไปตามระเบียบการดำเนินงานที่หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล กระทรวง กรมต่างๆ ต่างมีงบประมาณสวัสดิการ ดังนั้นการที่มีการอ้างระบุว่า สตง.ทักท้วงว่า สปสช.มิได้ส่งเงินนี้ให้กับหน่วยบริการ และนำไปจัดสรรให้กลุ่มบุคคลและองค์กรอื่นที่ไม่ได้ จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
- 7 views