นสพ.มติชน : ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็น "ตะหาน" ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เป็น "ตะหาน"ถามว่าภาพลักษณ์ของ "ตะหาน" เป็นอย่างไร
มองจากท่วงทำนองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มองจากท่วงทำนองของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
คือ ความเฉียบขาดแต่เมื่อประสบเข้ากับปัญหาความขัดแย้งอันดำรงอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ระหว่าง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน กับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์
เหมือนกับเป็น "ความเฉียบ" แต่ที่หายไปคือ "ความเด็ดขาด"จึงไม่เพียงแต่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เท่านั้นที่อึดอัด หากกระทั่ง นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน ก็อึดอัดอีหลักอีเหลื่อ อีหลุกขลุกขลักจะเดินหน้าก็ลำบาก จะถอยหลังก็ยากเย็น สภาพความขัดแย้ง สภาพความแตกแยกก็ยังดำรงคงอยู่
ยักตื้นตึดกึก ยักลึกติดกัก
มติ ครม.ให้ย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ออกจากอำนาจการบังคับบัญชา โดยยังดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่
นั่นแหละคือ "บทสรุป" อันกลายเป็น "จุดเริ่มต้น" ใหม่ เหมือนกับจะตัดคัตเอาต์มิให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ สามารถบริหารจัดการต่อข้าราชการภายในกระทรวงได้
แต่ถามว่า "จบ" หรือไม่เรียกตามสำนวนของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นักกฎหมาย นักปฏิรูปพระพุทธศาสนาแห่ง สปช. ก็ต้องว่า
สามารถ "ปิดจ๊อบ" ได้หรือไม่คำตอบไม่ต้องไปหาจากที่ไหนหรอก ขอให้ดูภาพของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เมื่อเดินทางไปราชการที่จังหวัดอุบลราชธานีก็แล้วกัน
ดูการขับเคลื่อนของสิ่งที่เรียกว่า "ประชาคมสาธารณสุข"
เหมือนกับว่าเป้าหมายมิได้อยู่ที่รัฐบาล มิได้อยู่ที่ คสช. หากแต่อยู่ที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน หากแต่อยู่ที่ นพ.วินัย สวัสดิวร มากกว่า แต่ถามว่า นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นอะไร แต่ถามว่า นพ.วินัย สวัสดิวร เป็นอะไร ใครกันเล่า คือ "ผู้บังคับบัญชา" สูงสุด
สิ่งที่กลุ่มของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ก็เหมือนกับที่เคยกระทำต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นเองเพียงแต่ไม่มีสาย "นกหวีด" คล้องคอแต่กระบวนการก็ยังกึกก้องด้วยคำว่า "ธรรมาภิบาล" กังวานด้วยความรังเกียจต่อการทุจริตและคอร์รัปชั่น
เมื่อก่อนอาจมี กปปส.และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น "ธงนำ"แต่เมื่อเพลงก็ยังเป็นเพลงบทเก่า แต่เมื่อคำขวัญหรือสโลแกนก็ยังมิได้แปรเปลี่ยน ถามว่ายังเป็นการชูธงโต้ "ระบอบทักษิณ" เป้าหมายเฉพาะหน้าคือ โค่นล้มและทำลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่อีกหรือ
มิใช่ มิใช่อย่างแน่นอนเพราะวันนี้ชะตากรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ร่อแร่อย่างยิ่ง ไม่รู้ว่าหัวจะขาดวันไหน เวลาที่มีก็หมดไปกับการเดินขึ้นศาล
เป็นรัฐบาลและ คสช.ต่างหากคือ "เป้าหมาย"
เพราะการย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ มาจากรัฐบาล เพราะการคง นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาจากมติ ครม.
ตกลง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ จะโค่นใคร
สถานการณ์จึงเรียกร้องต่อ คสช. จึงเรียกร้องต่อรัฐบาล อย่างรีบร้อนและแหลมคมเป็นลำดับ
เรียกร้องให้เห็นว่า 1 กระบวนการตัดสินใจที่ผ่านมาประนีประนอมมากไป 1 รักพี่ เสียดายน้องมากไป จึงขาดลักษณะพื้นฐานไปอย่างน่าใจหาย
นั่นก็คือ ความเฉียบขาด ความเข้มแข็ง
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 16 มี.ค. 2558
- 11 views