ครม.ยังไม่ปลด ปลัดสธ. โยนให้ คสช.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาการทำงานของปลัดสธ.แทน ด้านรองนายกฯประวิตรเผยทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ทั้ง 2 ฝ่ายชี้แจง แต่ไม่ได้เป็นคู่เจรจาด้วย เพียงเข้าไปไกล่เกลี่ย เชื่อไม่นานก็เรียบร้อย
นสพ.โพสต์ทุเดย์ ฉบับวันที่ 25 ก.พ.58 รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจยับยั้งวาระที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) เสนอโยกย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า คสช.จะพิจารณาเอง โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่ายังไม่มีวาระการโยกย้าย นพ.ณรงค์
มีรายงานว่า หลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาการทำงานของ นพ.ณรงค์ โดย คสช.อย่างละเอียด ซึ่งสะท้อนชัดว่ามี ระยะห่างการทำงานร่วมกันระหว่าง ศ.นพ.รัชตะ และนายกรัฐมนตรี เพราะการโยกย้ายปลัดกระทรวงเป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่สามารถเสนอให้ ครม.ตัดสินใจได้ทันที
ทั้งนี้ การเสนอโยกย้าย นพ.ณรงค์ เกิดขึ้นหลังความพยายามแก้ปัญหาการทำงานร่วมกันระหว่าง รมว.สธ. ปลัด สธ. และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ล้มเหลวจนไม่สามารถลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา
ขณะที่ นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 25 ก.พ.58 รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ทั้ง 2 ฝ่ายชี้แจง แต่ไม่ได้เข้าไปเป็นคู่เจรจา เป็นการเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย และก็สอบถามว่ามีปัญหาอะไรกัน เพราะไม่ต้องการให้มีปัญหาหรือความขัดแย้งต่อกัน ซึ่งให้ทั้งสองฝ่ายไปคุยกัน และแก้ปัญหากันไป เชื่อว่าเดี๋ยวก็เรียบร้อย
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ได้มีการเผยแพร่ข้อความทาง social media และกลุ่มไลน์ ชื่อ ชวนคน สธ.เอาปี๊บคลุมหัว โดยระบุชื่อผู้เขียนว่า แพทย์โรงพยาบาลชุมชน โดยตั้งคำถามถึงคุณสมบัติของผู้บริหารระดับสูงในสธ. มีรายละเอียดดังนี้
ชวนคน สธ. เอาปี๊บคลุมหัวกันเถอะ
ชาย 3 คน นั่งพูดคุยกันอยู่บนโต๊ะกลม
ชายคนแรกรูปร่างผอม ผิวขาว ผมสีดอกเลา ตัวเล็ก ดูภูมิฐาน คงแก่เรียนดูมาดนักวิชาการ กว่าท่านจะพูดได้แต่ละครั้งดูท่านพินิจพิเคราะห์นานมาก น่าจะเป็นเอกลักษณ์ของนักวิชาการ ที่ต้องการความมั่นใจก่อนการพูด เพราะว่าเมื่อพูดแล้ว คำพูดจะเป็นนายเรา
ชายคนที่สอง หน้าตาเจ้าเล่ห์ พูดไปอมยิ้มไป พูดเร็วรีบทำเวลาเหมือนนักขายสินค้า ความคิดวิ่งเพ่นพ่าน กระจัดกระจาย ชอบอ้างมติ กฏหมาย เป็นตัวตั้ง แต่ดูให้เกียรติชายคนแรกอย่างมาก เวลาพูดมักชายหางตาไปทางชายคนแรก เหมือนเชิญชวน ว่า "เห็นด้วยนะๆ"
ชายคนที่สาม สวมแว่นตา ร่างใหญ่ ผิวขาว ผมเหยียดตรง สีดอกเลาประปราย ท่าทางสุขุม มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง รับฟัง และพูดโต้ตอบ เป็นระยะ แฝงด้วยรอยยิ้มที่มุมปาก
เรื่องที่พูดคุย เป็นเรื่องเรื้อรัง คือข้อขัดแย้งในบทบาทหน้าที่ ระหว่าง สธ. กับ สปสช. และการจัดสรรงบประมาณบัตรทองที่ไม่โปร่งใส เป็นปัญหามามากว่า 10 เดือน ยังแก้ไม่ได้ และเริ่มบานปลาย ความรับผิดชอบของคนที่ต้องลงมือแก้ปัญหานี้คงไม่ใช่ใครอื่น คือ รมต.สาธารณสุข นั่นเอง ปัญหาเกิดมา 10 เดือน การแก้ปัญหาของท่านเหมือนลิงแก้แห
มันบ่งบอกถึงสภาวะผู้นำองค์กรที่ขาดหายไป ขาดทักษะทางการเจรจาต่อรอง ขาดธรรมาภิบาล ไม่เป็นกลาง เป็นผู้บริหารที่พยายามตั้งธงความสำเร็จไว้ล่วงหน้า แม้เส้นทางการเจรจาและผลที่ออกมาจะไม่ตรงกับธงที่วางไว้ก็ตาม
ผมเองเป็นบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข ผมติดตามการแก้ปัญหา ระหว่าง สธ. และ สปสช. มาโดยตลอด. มองว่าปัญหาแก้ได้ไม่ยาก ถ้า รมต.มีภาวะผู้นำ และรู้จักหลักการเจรจาต่อรองแบบสันติวิธี
หลักการเจรจาต่อรองแบบสันติวิธี คือ 1.การหาทางออกที่ทุกฝ่ายพอใจ 2.ต้องเข้าใจว่า คนอื่นก็มีส่วนถูกเหมือนกัน 3.เปิดใจหาแนวทางที่เห็นสอดคล้อง 4.การรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจ (เอาใจเขามาใส่ใจเรา) และจงจำไว้เสมอว่า "หากอีกฝ่ายรู้สึกว่าแพ้ ปัญหาก็จะไม่มีวันสิ้นสุด"
สมรรถนะผู้บริหาร ที่ผู้เป็น รมต.ต้องมีอย่างมากคือ สภาวะผู้นำ (leadership) ประกอบด้วย
1.มีศิลปะในการจูงใจไม่ใช้อำนาจ 2.เป็นศูนย์รวมความรัก ความศรัทธา 3.มีความหล้าหาญ มีคุณธรรรม มีสติปัญญา 4.มุ่งมั่นที่จะนำความสุขมาสู่ทุกคน 5.กระจายอำนาจในการตัดสินใจ 6.เป็นแบบอย่างที่ดี
ข้อคำถามครับ?? ที่กล่าวมาทั้งหมดตัวท่าน รมต./รมช. มีคุณสมบัติข้อไหนบ้างครับ ถ้าหากมีอยู่บ้าง ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข คงไม่เรื้อรังมานานขนาดนี้
ทั้ง 3 ท่านที่นั่งอยู่บนโต๊ะกลมนั้น ผู้อ่านคงทราบว่าใครเป็นใครในแต่ละคน และใครควรต้องมีบทบาทอะไร หากใครไม่สามารถใช้บทบาทตัวเองได้ถูกต้องตรงกับบทบาทหน้าที่ของตนเองได้แล้ว ควรขยับก้นตัวเองออกไปจากโต๊ะกลมนั่น ไม่ควรโทษคนอื่น คนที่สอง คนที่สาม เขาทำบทบาทหน้าที่ของเขา เพื่อองค์กรของเขา ได้สมบทบาทแล้ว แต่บทบาทของ ทั้ง 2 คน ที่แตกต่างกันออกไปนั้นต้องอาศัยบทบาทของคนแรก ในการปรับจูน ความคิด อย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรม ไม่ตั้งธงไว้ล่วงหน้า ถ้าทำได้ถูกทิศถูกทางทุกอย่างก็จะดีขึ้น แต่เมื่อคนแรกมีความเอนเอียง ขาดภาวะผู้นำ ขาดการเจรจาต่อรองแบบสันติวิธี แล้วปัญหาย่อมไม่จบแน่นอน เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ ท่านปลัดณรงค์ จะอยู่ หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหา แต่ธรรมาภิบาล และ ก.สธ.ยังต้องคงอยู่ ใครกันแน่ที่ควรต้องลุกออกจากโต๊ะกลมนั้น ชาว สธ.คงต้องเอาปี๊บคลุมหัวกันละ คราวนี้
“แพทย์โรงพยาบาลชุมชน”
- 3 views