ในภาพรวมที่คนรู้จักสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) คือ หน่วยงานหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของคนไทย แต่มีอีกบทบาทหนึ่งที่น้อยคนจะรู้จักนั่น คือ บทบาทส่งเสริมให้กลุ่มประชาชนเฉพาะกลุ่มได้มีสิทธิการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้สัญชาติ
ดร.ประกายศิต กายสิทธิ์
ดร.ประกายศิต กายสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า บทบาทของ สสส.ในภาพรวมคือ เน้นการทำงานด้านสุขภาพ แต่สำหรับสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ คือ การดูแลกลุ่มประชาชนกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มสถานะบุคคล กลุ่มผู้ต้องขังหญิง คนพิการ ผู้สูงอายุ มุสลิม และแรงงานในระบบเกษตร ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เมื่อศึกษาจะพบว่า กลุ่มประชาชนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ ทั้งๆ ที่สิทธิในสุขภาพ เป็น 1 ใน 14 สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญไทย
“เมื่อกล่าวถึงคนไทยไร้สัญชาติ คือกลุ่มคนที่ไทยที่เกิดในไทยแต่ไม่สามารถมีสัญชาติไทยได้ ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่ต้องรอการพิสูจน์สัญชาติจากภาครัฐ ซึ่งใช้เวลาในการขอสัญชาตินานมาก ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ขาดสิทธิด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานไป”
ดร.ประกายศิต กล่าวว่า งบประมาณที่ใช้ในทำงานของสำนักฯ จะอยู่ที่ประมาณ 10-20 ล้านบาท ต่อ 3 ปี ที่จะครอบคลุมการทำงานด้านสุขภาพ การศึกษา และสิทธิด้านสัญชาติ ที่ผ่านมา ทางสำนักฯ ได้มีผลงานในด้านต่างๆ อาทิ การผลักดันเรื่องของกฎหมายทั้งเรื่องการขอสัญชาติ และการผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลผู้มีปัญหาด้านสถานะ รวมถึงการสร้างล่ามชุมชน
เมื่อกล่าวถึงคนไทยไรัสัญชาติ ดร.ประกายศิต กล่าวว่า ปัญหาเรื่องคนไทยไร้สัญชาติมีปัญหามานานแล้ว แต่ถามว่า ณ วันนี้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในหลายๆ ด้านแล้ว แต่ทำไมถึงยังมีคนไทยที่ไร้สัญชาติอีก ทั้งๆ ที่คนคนในครอบครัวได้สัญชาติไทยและมีบัตรประชาชน อุปสรรคที่สำคัญคือ 1.ข้อมูล จากการสำรวจของภาครัฐ มีข้อมูลที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากการเข้าไม่ถึงในพื้นที่ เช่น คนที่อยู่ในพื้นที่สูง ชาวเขาเผ่าต่างๆ 2.เรื่องของความเข้าใจ การตีความด้านกฎหมายที่มีความสับสนไม่เหมือนกันระหว่างภาครัฐและเอ็นจีโอ หรือคนที่ทำงานพื้นที่ 3.การสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพของแต่ละชาติพันธุ์ ที่ต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชน
สำหรับเรื่องการเปิดเออีซี ดร.ประกายศิต กล่าวว่า ทุกคนมองเรื่องของเออีซีไปที่เศรษฐกิจกันมาก หากมองในด้านสาธารณสุข สิ่งที่ภาครัฐต้องพึงระวังคือ บริบทการให้บริการที่ต้องมีความพร้อม เพื่อที่จะได้ไม่มีข้อจำกัด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องเข้ามาบริหารจัดการและมีกลไกในเรื่องดังกล่าว เพื่อรองรับแรงงานต่างชาติที่จะไหลเข้ามาในระบบ และให้ระดับภูมิภาคเข้ามามีบทบาทในเรื่องการจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม สังคม ความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้การขับเคลื่อนดังกล่าวจะไปได้นั้น ภาคประชาชน และภาคสังคม จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมีส่วนร่วมหรือเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของภาครัฐให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ซึ่งภาคประชาชนเองจะต้องมีความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีกองทุนภาคประชาชน เข้าไปช่วยเหลือประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน เพื่อลดช่องว่างระหว่างภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชน ซึ่งทุกวันนี้ทั้ง 3 กลุ่มมีช่องว่างที่มาก
สุดท้าย ดร.ประกายศิต กล่าวว่า ภาคประชาชนที่จะเข้มแข็งได้นั้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนไป
- 458 views