รมช.สธ.แจงยังไม่มีการเสนอครม. เพิ่มคนไร้สถานะเข้าไปในกองทุนคืนสิทธิการรักษา เหตุอยู่ระหว่างรอตัวเลขและข้อมูลชัดเจน นัดหารือ 23 ก.พ.นี้ เพื่อได้ข้อสรุปชัด ด้าน รมว.สธ.ยันหลักการช่วยเหลืออยู่แล้ว ตอนนี้อยู่ที่การหารือและเคาะตัวเลขให้ชัดเจนก่อนเท่านั้น ขณะที่ นพ.วรวิทย์ ผอ.รพ.อุ้มผางชี้ตัวเลขล่าสุดจากกรมการปกครองมากกว่า 2.73 แสนคน เชื่อยังไม่เสนอครม.เร็วๆ นี้ รอสรุป 23 ก.พ. ติง 37 องค์กรฯ ใจร้อนเกิน
จากกรณี 37 องค์กรด้านสาธารณสุข เตรียมเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความเห็นใจในการปรับแก้ตัวเลขการช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิที่ยังตกค้างอยู่เพื่อขอเพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตั้งกองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลกลุ่มนี้จำนวน 457,409 คน โดยกลุ่มที่ตกค้างนั้น ทางสธ. มีข้อสรุปว่าจะเสนอเข้าครม.พิจารณาเพิ่มเติม แต่เป็นตัวเลข 170,535 คน เท่านั้น ซึ่งขัดกับตัวเลขจริงจำนวน 208,631 คน แสดงว่าตัวเลขหายไปถึง 38,096 คน ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกลอยแพไร้สิทธิการรักษานั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่องค์กรที่ทำงานด้านชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งเตรียมเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าแผนการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของบุคคลที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีปัญหาเรื่องตัวเลขเพราะทำให้ผู้ที่ประสบปัญหาตกหล่นไป 3.8 หมื่นคน ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการเสนอครม. เพราะขอให้รอข้อมูลตัวเลขให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะมีการสรุปข้อมูลในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนที่จะไปยื่นนายกฯ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมองว่าทุกคนหวังดีต่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิกันหมด อยากให้รอการประชุมก่อน
นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า เรื่องนี้โดยหลักการจะมีการช่วยเหลือคนกลุ่มดังกล่าวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวล ทุกอย่างอยู่ที่การหารือและพิจารณาตัวเลขที่ชัดเจนก่อน
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สำหรับตัวเลข 170,535 คนนั้น แบ่งเป็นกลุ่มรอพิสูจน์สถานะ 150,000 คน อีกกว่า 2 หมื่นคน เป็นกลุ่มลูกหลานของคนรอพิสูจน์สถานะที่พิสูจน์แล้ว ส่วนตัวเลขที่ทางองค์กรด้านสาธารณสุขเสนอมานั้น จำเป็นต้องมีการพิสูจน์สถานะให้ชัดเจน ซึ่งตัวเลขนี้ได้เสนอต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. แต่หากมีการปรับแก้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการประชุมของฝ่ายนโยบาย ส่วนจะเสนอครม.เมื่อไหร่ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายพร้อมเสนอเมื่อไร ตนไม่ทราบ
“จริงๆ แล้วกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธินั้น ที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) โดยเฉพาะในโรงพยาบาลตามแนวชายแดนต่างๆ ล้วนให้บริการแก่คนทุกกลุ่ม ไม่เลือกว่าต้องเป็นคนไทยหรือไม่ เพราะเราให้บริการตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากต้องมีการเสนอเพิ่มเติม ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหากตัวเลขชัดเจนทั้งจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ก็สามารถเสนอต่อครม.พิจารณาได้เช่นกัน” นพ.วชิระ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มดังกล่าวไม่พอใจ โดยระบุว่าได้หารือกับทาง นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แต่กลับไม่เป็นผล และเตรียมร้องนายกรัฐมนตรี นพ.วชิระ กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทาง นพ.สมศักดิ์ เช่นกัน เนื่องจากต้องมาพิจารณาว่าตัวเลขที่ไม่ตรงกันเพราะอะไร เนื่องจากตัวเลขที่เหลือต้องรอการพิสูจน์สถานะให้ชัดเจนก่อนหรือไม่
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก และอดีตแพทย์ชนบทดีเด่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า อยากให้ใจเย็นๆ กัน เพราะในการประชุมเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นพ.สมศักดิ์ ได้เรียกผู้ที่ทำงานด้านนี้มาคุยกัน โดยในที่ประชุมมีการเสนอตัวเลขบุคคลรอพิสูจน์สถานะที่จะขอเข้าครม. โดยตัวเลขเดิมอยู่ที่170,535 คน แต่ทางเครือข่ายชนเผ่าฯ แจ้งว่ามีตัวเลขที่ 208,631 คน ซึ่งตรงนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ.บอกว่า ตัวเลขไม่นิ่ง ขอให้ไปทำตัวเลขให้ชัดเจนก่อนดีกว่าหรือไม่ เพื่อป้องกันการตกหล่น คือ ตัวเลขไหนไม่ชัดก็อย่าเพิ่งเสนอขอครม. และให้มีการประชุมหารือกันอีกครั้งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ช่วงบ่ายที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ดังนั้น ขอให้อดทนดีกว่า เพราะล่าสุดที่ตนสอบถามทางสำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง พบตัวเลขใหม่ล่าสุดคือ 273,000 คน ซึ่งอัพเดพสุดแล้ว
“ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 2.73 แสนคนนั้น เป็นคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน จริงๆ คนกลุ่มนี้มีเป็นล้านๆ คน ดังนั้น เรื่องนี้ขอให้ช้าๆ ได้พร้าเล่มงามดีกว่า โดยควรรอข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนจะเสนอครม. และเข้าใจว่ายังไม่ได้เสนอเร็วๆ นี้ เพราะรัฐมนตรีช่วยว่าการสธ. นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งผมก็เห็นด้วย รวมทั้งการผลักดันร่างยุทธศาสตร์จัดการปัญหาบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งอยากให้รัฐบาลสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข จัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อการทำงานระยะยาว สำหรับคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิทุกคนให้เข้าถึงการบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม ที่สำคัญหากมียุทธศาสตร์ ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการดูแลลักษณะนี้ และขอย้ำว่าผมคงไม่ไปร้องนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้อยู่ในเครือข่ายแพทย์ตามแนวชายแดนเรื่องนี้ อย่าง จ.ตากก็ไม่มีใครไปร่วม” นพ.วรวิทย์ กล่าว
- 4 views