เผยความคืบหน้าจัดตั้งองค์กร “สมสส.” บูรณาการข้อมูลการเบิกจ่ายกองทุนรักษาพยาบาล สร้างมาตรฐานเกณฑ์การเบิกจ่ายมาตรฐานเดียว ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุน แถมช่วยลดความยุ่งยาก ทำให้ รพ.จัดส่งข้อมูลเบิกจ่ายที่เดียว เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา ย้ำบทบาทดูแลเฉพาะมาตรฐานข้อมูลเบิกจ่ายและตรวจสอบความถูกต้อง ไม่มีหน้าที่กำหนดสิทธิประโยชน์กองทุน รวมถึงกำหนดอัตราเบิกจ่าย เหตุเป็นการบูรณาการระดับปฏิบัติการ ไม่ใช่นโยบาย ขณะที่งบดำเนินการคาดปีละ 300-400 ล้านบาท จากรัฐสนับสนุนและจัดเก็บการบริการจากกองทุนฯ
นพ.เทียม อังสาชน
8 ก.พ.58 นพ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (ศมสท.) และที่ปรึกษา รมช.สธ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้ง “สำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (สมสส.)” ว่า ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติ 3 กองทุน ซึ่งมี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอร่าง พ.ร.ฎ. เพื่อจัดตั้ง สมสส.ต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดตั้งหน่วยงานนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณการข้อมูลของทั้ง 3 กองทุน ที่เน้นการบูรณาการข้อมูลเบิกจ่ายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
นพ.เทียม กล่าวว่า การจัดตั้งหน่วยงาน สมสส.เป็นแนวคิดที่มีการนำเสนอมานานแล้ว โดยมีการนำเสนอตั้งแต่สมัยรัฐบาล ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการรักษาพยาบาล 3 กองทุนสุขภาพ แม้ว่าตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จะกำหนดให้มีการรวม 3 กองทุน และได้มีความพยายามดำเนินการมาโดยตลอด แต่ตลอดกว่า 10 ปีผ่านมาชัดเจนว่าไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงต้องมีช่องทางเพื่อลดความแตกต่างระหว่างกองทุน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันมาก ซึ่งวิธีการง่ายที่สุดคือการบริหารจัดการร่วม โดยเฉพาะมาตรฐานการเบิกจ่าย ซึ่ง ดร.อัมมาร ใช้คำว่า การบริหารจัดการหลังจอ
“ปัจจุบันการส่งข้อมูลเบิกจ่ายมีความหลากหลายมาก เพราะแต่ละกองทุนต่างมีวิธีดำเนินการเบิกจ่ายของตนเอง วันนี้ รพ.แต่ละแห่งจึงต้องทำเรื่องส่งไปยังหน่วยงานตามสิทธิผู้ป่วยของแต่ละกองทุนเพื่อทำเรื่องเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล อย่างสิทธิบัตรระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่งข้อมูลมายัง สปสช. สิทธิข้าราชการส่งไปยัง สกส. และสิทธิผู้ป่วยต่างด้าวส่งไปยัง สธ. และยังมีสิทธิเบิกจ่ายกรณีประสบอุบัติเหตุทางถนนที่ต้องส่งไปยังบริษัทประกัน ดังนั้นจึงควรมีการบูรณาการร่วมกันเพื่อให้ รพ.สามารถจัดส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานเดียว ลดความซับซ้อนการเบิกจ่ายให้กับ รพ. จึงต้องตั้งหน่วยงานที่รับดำเนินการเฉพาะ ขณะเดียวกันเป็นก่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบการรักษาพยาบาล” ผอ.ศมสท. กล่าว
ส่วนสาเหตุที่ต้องกำหนดให้เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่อยู่ภายใต้กำกับหน่วยงานใด ทั้งหน่วยงานกำกับกองทุนรักษาพยาบาล และหน่วยงานที่กำกับสถานพยาบาลนั้น นพ.เทียม กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเป็นกลางและไว้เนื้อเชื่อใจต่อหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านข้อมูล การจัดการ ซึ่งหน้าที่ของ สมสส.จะดูแลเฉพาะข้อมูลการเบิกจ่ายเท่านั้น เพียงแต่ในข้อมูลเบิกจ่ายเหล่านี้จะมีข้อมูลการรักษา ข้อมูลยา รวมถึงข้อมูลการทำหัตถการต่างๆ ใน รพ.แฝงอยู่ ซึ่งทั้งหมดต้องมีการกำหนดการบันทึกข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถประมวลผลและแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ เรียกว่ามีประโยชน์ทั้งหน่วยบริการและผู้ป่วย ในกรณีที่ต้องส่งต่อหรือย้าย รพ.
“หลังจัดตั้ง สมสส. ทาง รพ.จะเรียกเก็บค่าบริการของผู้ป่วยสิทธิต่างๆ มายัง สมสส. เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเบิกจ่าย ทั้งตามค่าดีอาร์จีและน้ำหนักสัมพันธ์ในการรักษาโรคที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หลังจากนั้น สมสส.จะส่งข้อมูลเหล่านี้ต่อไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อจ่ายชดเชยค่ารักษาให้กับหน่วยบริการตามที่ตกลงกันไว้ของแต่ละกองทุน เรียกว่า สมสส.จะเป็นหน่วยงานกลางเพื่อตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลการเบิกจ่าย ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งการเบิกจ่ายระหว่างหน่วยบริการและกองทุนรักษาพยาบาล รวมถึงปัญหา รพ.ขาดทุนที่เป็นข้อขัดแย้ง ซึ่งจะสามารถดูข้อมูล รพ.ได้ว่าขาดทุนจริงหรือไม่” ผอ.ศมสท. กล่าว และว่า แต่ทั้งนี้เราจะไม่พูดถึงค่ารักษาที่เป็นอัตราการเบิกจ่าย เพราะเป็นเรื่องที่แต่ละกองทุนต้องตกลงกับหน่วยบริการเอง
ส่วนกรณีที่ทาง สปสช.มีการเสนอจัดตั้งหน่วยงานกลางเช่นกัน โดยยึดโมเดลของประเทศเบลเยี่ยม The National Institute for Health and Disability Insurance (NIHDI) ซึ่งไม่แต่ทำหน้าที่ดูมาตรฐานการเบิกจ่ายค่ารักษาเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนร่วมกันเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันนั้น นพ.เทียมกล่าวว่า ที่เราเสนอเป็นแนวทางการบูรณาการในระดับปฏิบัติการ ซึ่งรูปแบบที่ สปสช.นำเสนอ จะเป็นการกำหนดในระดับนโยบาย เรียกว่าเป็นเรื่องที่อยู่เหนือขึ้นไป และเป็นการดำเนินการที่ยุ่งยาก เพราะแต่ละกองทุนต่างมีกฎหมายของตนเอง จึงอาจเป็นปัญหา ดังนั้นจึงเสนอดำเนินการเฉพาะในส่วนข้อมูลเบิกจ่ายเท่านั้น
“เรื่องการกำหนดสิทธิประโยชน์ สมสส.จะไม่ยุ่งเลย แต่ผู้กำหนดนโยบายสิทธิประโยชน์สามารถนำข้อมูล สมสส. ไปประกอบการตัดสินใจได้ โดย สมสส.มีขอบเขตหน้าที่ ดังนี้ 1.มีบทบาทเพียงสนับสนุนข้อมูล 2.ไม่มีอำนาจตัดสินว่าเรื่องใดควรจ่ายเงิน ไม่จ่ายเงิน 3.ไม่มีหน้าที่กำหนดอัตราการเบิกจ่าย เพราะเป็นเรื่องของกองทุน และ 4.ไม่มีหน้าที่กำหนดว่า หน่วยบริการใดได้มาตรฐาน เพียงแต่หากหน่วยงานใดอยากได้ข้อมูลสนับสนุนเราจะส่งไปให้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่มีการเบิกข้อมูลเหล่านี้ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกองทุนหรือหน่วยบริการ”
นพ.เทียม กล่าวว่า ส่วนงบดำเนินการ สมสส.จะแยกเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนของการจัดทำมาตรฐานข้อมูลและเครื่องมือการเบิกจ่าย ซึ่งทุกระบบหลักประกันสุขภาพสามารถนำไปใช้ได้ ตรงนี้รัฐควรให้งบสนับสนุน แต่ในส่วนของการบริการเพื่อประเมินและประมวลผลการเบิกจ่าย ที่ รพ.ส่งเบิกจ่ายกองทุนรักษาพยาบาล ตรงนี้ให้คิดค่าบริการจากกองทุนรักษาพยาบาล โดยมีการกำหนดอัตราจัดเก็บบริการที่ต่ำมาก เช่น การบริการข้อมูลผู้ป่วยนอกคิด 1 บาทต่อครั้ง ผู้ป่วยใน 5 บาทต่อครั้ง เป็นต้น คาดว่าจะจัดเก็บได้ปีละ 300-400 ล้านบาท หากมองภาพรวมงบประมาณรักษาพยาบาลทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถือว่าเป็นงบประมาณที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์จากฐานข้อมูลที่จะประเทศได้รับในอนาคต
สำหรับในส่วนโครงสร้างการบริหาร สมสส.นั้น นพ.เทียม กล่าวว่า สมสส. เป็นองค์การที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.องค์กรมหาชน พ.ศ.2542 ดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการบริหาร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กองทุนรักษาพยาบาล ได้แก่ สปสช. สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ตัวแทนสถานพยาบาลทั้ง รพ.รัฐ และเอชน นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิ ขณะที่ในส่วนสำนักงานจะมีผู้อำนวยการคอยทำหน้าที่บริหาร ส่วนที่มีการปรับขยายเพดานอายุผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สมสส. จาก 60 ปี เป็น 65 ปีนั้น เรื่องนี้ตาม พ.ร.บ.องค์กรมหาชนไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นจึงได้ดำเนินการตามองค์กรที่มีการจัดตั้งก่อนหน้านี้ อย่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่กำหนดไว้ที่ 65 ปีเช่นกัน
- 71 views