เครือข่ายประชาชน 9 ด้านในระบบหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ “หมอรัชตะ” ค้านข้อสรุปจัดสรรงบตามเขตสุขภาพตามข้อเสนอ สธ. หลังทดลอง 2 เขต เหตุยังขาดความชัดเจน หวั่นกระทบประชาชน แถมยังจำกัดการมีส่วนร่วมประชาชน

 

วันนี้ (2 ก.พ.58) โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ – เมื่อเวลา 09:00 น. เครือข่ายประชาชน 9 ด้านในระบบหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นำโดย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม และอดีตบอร์ด สปสช. นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือจดหมายเปิดผนึกต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558 เพื่อคัดค้านข้อสรุปการปรับเกณฑ์แนวทางการบริหารงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง รมว.สาธารณสุข เลขาธิการ สปสช. และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา  

น.ส.บุญยืน กล่าวว่า จากที่ ศ.นพ.รัชตะได้ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสรุปการปรับเกณฑ์แนวทางการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหาร สปสช. และ สธ.ว่า ได้เห็นชอบในหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินผ่านระบบเขตสุขภาพ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มอบหมาย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ไปทดลองในเขต 2 และเขต 10 ซึ่งทางเครือข่ายประชาชนฯ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยมีเหตุผลดังนี้

1. การหารือดังกล่าวเป็นการเจรจาตกลงกันเอง ไม่ได้คำนึงถึงกลไกของคณะกรรมการหลักประกันฯที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2. ต่อกรณีความขัดแย้งระหว่าง สธ.และสปสช.มีพฤติกรรมหลายอย่างที่สธ.ได้ใช้อำนาจสั่งการ ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลระบบสุขภาพรวมถึงโรงพยาบาลของรัฐ ให้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่ดี โดยการสร้างเงื่อนไขที่ใช้ผู้รับบริการสุขภาพเป็นตัวประกัน เช่น การประกาศยกเลิกไม่ให้โรงพยาบาลรับขึ้นทะเบียนบัตรทอง การประกาศไม่ให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดร่วมมือกับสปสช.เป็นต้น เครือข่ายฯ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อประชาชนที่ชัดเจนและเรียกร้องให้มีการยุติปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

3. เครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการร่วมจ่าย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ถือได้ว่าเป็นการรังแกประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับบริการสุขภาพ

4. เครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการบริหารงบประมาณในแบบเขตสุขภาพที่เสนอโดย สธ. ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนและไม่มีแนวทางที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่า การปรับการบริหารงบในรูปแบบดังกล่าวจะไม่ทำให้ประชาชนต้องแบกรับความเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงบริการรักษา โดยเฉพาะในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง

5. เครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการปรับการบริหารกองทุนส่งเสริมป้องกันโรค จากที่มีสัดส่วนของประชาชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมบริหารและจัดกิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรค แต่กลับเสนอให้เหลือเพียงบุคคลากรทางการแพทย์หรือโรงพยาบาลเท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นการลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย

น.ส.บุญยืน กล่าวว่า จากเหตุผลข้างต้นนี้ ทางเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้ ศ.นพ.รัชตะ ในฐานะผู้บริหารระดับสูงและมีหน้าที่กำกับดูแลระบบสุขภาพของประเทศให้คำนึงถึงหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพแก่ประชาชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ รวมถึงต้องยึดหลักการผู้ซื้อและผู้ให้บริการ และขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างสธ. และสปสช.อย่างเร่งด่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งทางเครือข่ายประชาชนฯ จะได้ติดตามความคืบหน้าต่อไป