เครือข่ายหลักประกันสุขภาพสงขลา ร้อง คสช.เพิ่มงบรายหัวบัตรทอง 3,300 บ. ชี้ถูกแช่แข็ง 5 ปี ทำงบประมาณในระบบไม่พอ ยันไม่เอาร่วมจ่าย มุ่งเป้าหมายรวมกองทุนสุขภาพลดเหลื่อมล้ำ ส่วนปัญหา รพ.ขาดทุน เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา หนุนกองทุนสุขภาพตำบล เพราะเป็นกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่เห็นด้วยยุบกองทุนย่อย แจงจะทำให้ภาระค่ารักษาตกอยู่กับ รพ.ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย เรียกร้อง สนช.ผ่านร่าง กม.คุ้มครองผู้เสียหายฯ หลังถูกดองมา 10 ปี เชื่อช่วยลดปัญหาฟ้องร้องแพทย์-ผู้ป่วย และเยียวยาผู้สียหายอย่างเป็นธรรม
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 58 ที่รร.ไดอิชิ หาดใหญ่ เครือข่ายหลักประกันสุขภาพจังหวัดสงขลาได้จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมีผู้เข้าร่วมจากแกนนำเครือข่าย 9 ด้าน
ที่ประชุมได้มีการสรุปว่า จากสถานการณ์กว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดความร้าวลึกระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ลุกลามไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรกรแพทย์ในพื้นที่ทั้ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ชมรมวิชาชีพต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ที่ประชุมจึงมีข้อเรียกร้องเร่งด่วนไม่ให้เกิดผลกระทบยากที่จะเยียวยาความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคลากรการแพทย์ และผลเสียต่อผู้ป่วยผู้รับบริการลามไปถึงชุมชนในพื้นที่ จึงขอเรียกร้องให้ สป.สธ.หยุดจับประชาชนเป็นตัวประกัน ยืนยันต้องไม่มีการร่วมจ่าย และเรียกร้องงบเหมาจ่ายรายหัวการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปี 2558 ต้องเพิ่มเป็น 3,300 บาท หลังถูกแช่แข็งมาเกือบ 5 ปี พร้อมเสนอกระบวนการมีส่วนร่วม ถ่วงดุลย์ตรวจสอบภาวะขาดทุนของโรงพยาบาลหน่วยบริการ ให้เกิดความโปร่งใส เปิดเผยต่อสาธารณะ
ส่วนประเด็นภาวะขาดทุนของโรงพยาบาล เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนได้มีข้อเสนอให้ สป.สธ. สปสช. สำนักงานประกันสังคม(สปส.) และกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในการดูแลการรักษาพยาบาล 3 กองทุนใหญ่ เปิดเผยข้อมูล ค่าใช้จ่าย การจัดสรรงบประมาณ โดยมีการจัดเวทีอย่างสม่ำเสมอ และจัดตั้งกลไกระดับเขตมีองค์ประกอบทุกภาคส่วนที่เป็นกลางติดตามตรวจสอบพัฒนาระบบหลักประกันให้มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายสู่การรวมกองทุนรักษาพยาบาลให้ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ดังที่ ขณะนี้มีคณะกรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังดำเนินการโดยหลักการ ลดความเหลื่อมล้ำเช่นกัน
พร้อมกับเสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หลังถูกดองมานานเกือบ 10 ปี ซึ่งจะลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ เยียวยาผู้เสียหายเป็นธรรมรวดเร็วเหมือนกับมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวซึ่งถูกแช่แข็งมาตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 หากคสช.แช่แข็งงบบัตรทองต่อคงอัตรา 2,895 บาทต่อหัวทำให้งบขาดกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการปรับเงินเดือนข้าราชการ 8% บวกกับอัตราเงินเฟ้ออีก 3% ส่งผลค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เครือข่ายจึงมีข้อเสนอให้ คสช.จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวประจำปี 2558 เป็นจำนวนเงิน 3,300 บาท ซึ่งก็จะไม่ต้องเกิดการรวมจ่ายและประชาชนกว่า 49 ล้านคนจะเข้าถึงการรักษาไม่เกิดปัญหาครัวเรือนล้มละลายดังอดีตก่อนปี 2545 ที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพ
ทั้งนี้ที่ประชุมได้เน้นถึงกระบวนการมีส่วนร่วม การสร้างความเป็นเจ้าของระบบของทุกภาคส่วน โดยยืนยันว่าการจัดสรรให้เกิดกองทุนสุขภาพท้องถิ่น มีประโยชน์ต่อชุมชนการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิ ลดความแออัดในโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งถือว่าการจัดสรรให้องค์กรภาคประชาชนได้จัดกิจกรรม และร่วมเป็นกรรมการทุกระดับมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในกลไกกองทุนอื่นไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมเช่นนี้ หากมีการยุบกองทุนย่อย ก็จะทำให้การรักษาพยาบาลตกเป็นภาระหนักอยู่กับบุคลากรการแพทย์เช่นเดิม ที่ผ่านมาระบบกำลังปรับตัว หากเกิดปัญหาก็ควรมีกลไก เวทีรายงานผลการดำเนินงานของ สปสช.ให้สาธารณะได้ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกไตรมาส ไม่ควรเป็นการสร้างเงื่อนไขขัดแย้งเพื่อยุบรวมกองทุนย่อยที่มีทิศทางดีขึ้นในการพัฒนาระบบบริการที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ให้กลับสู่การรวมอำนาจการจัดการโดยสาธารณสุขเช่นเดิม
ช่วงท้ายการประชุม เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนจังหวัดสงขลา เน้นย้ำว่ากลุ่มคนรักหลักประกันอันเป็นภารกิจที่ต้องช่วยติดตามพัฒนาพิทักษ์ระบบยังต้องร่วมกันให้เกิดการรับรู้ข้อมูลการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลในกลุ่ม ภาคีเครือข่ายที่ยังไม่ทราบและเข้าใจระบบ และร่วมกันถือป้ายยืนยันว่า “เรา...ภาคประชาชนสนับสนุน สาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลและใส่ใจสุขภาพประชาชน “ “ อย่า...จับประชาชน ผู้ป่วยเป็นตัวประกัน “ “ประชาชนเสียภาษีต้นทาง...แล้ว ไม่ต้องร่วมจ่ายปลายทาง และของบเหมาจ่ายรายหัวประจำปี 2558 จำนวน 3,300 บาท”
- 7 views