หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.
จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม
สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม
ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7
ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”
ตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง
ตอนที่ 5 รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ปัญหาส่งเบิกกับสปสช. ต้นเหตุขาดทุน
ตอนที่ 6 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอกรมบัญชีกลาง วิเคราะห์บัญชี รพ. หาสาเหตุขาดทุน
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 7 รพ.เกาะสมุยชี้ งบไม่พอ ปมปัญหาบัตรทอง เผยรพ.ไม่ขาดทุน เพราะมีรายรับจากกองทุนอื่น
“หมอชาญชัย” ยัน รพ.เกาะสมุยไม่ขาดทุน เหตุมีรายรับจากกองทุนอื่นช่วยสนับสนุน แถมตั้งอยู่พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มจากผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ารักษา เฉลี่ยร้อยละ 15-20 ของผู้ป่วยทั้งหมด ชี้ปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคืองบประมาณน้อย ยอมรับงบเหมาจ่ายรายหัวที่รพ.เกาะสมุยได้รับไม่เพียงพอ เหตุมีประชากรน้อย งบจำกัด แถมต้นทุนบริการสูง หากบริการเฉพาะผู้ป่วยบัตรทอง รพ.ไปไม่รอด ขณะที่แหล่งข่าว รพ.สมุทรสาคร เผย ปัจจุบันพ้นวิกฤตขาดสภาพคล่องแล้ว พร้อมแจงต้นเหตุเกิดจากภาระก่อสร้างอาคาร 300 ล้านบาท ประกอบกับไม่มีความชัดเจนจำนวนงบบัตรทองที่ รพ.จะได้รับ ส่งผลกระทบ รพ.
จากข้อมูลการจัดกลุ่มโรงพยาบาลขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 พบว่า โรงพยาบาลเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นระดับโรงพยาบาลทั่วไป ได้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในที่ประสบปัญหาและอยู่ในกลุ่มที่ประสบปัญหาทางการเงิน สำนักข่าว Health Focus ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์ปัญหา รพ.ขาดทุนต่อเนื่อง ได้สัมภาษณ์ นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย ถึงข้อมูลสถานะของโรงพยาบาลและข้อเท็จจริงของปัญหาด้านงบประมาณที่เกิดขึ้นจากการบริการผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นพ.ชาญชัย กล่าวว่า โรงพยาบาลเกาะสมุยไม่ได้เป็นโรงพยาบาลขาดทุน ในการบริหารต้องดูในรายละเอียด แต่หากดูเฉพาะในส่วนงบประมาณที่ได้รับจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลผู้มีสิทธิในพื้นที่ ต้องบอกว่าไม่เพียงพอ แต่เนื่องจากโรงพยาบาลเกาะสมุยมีรายได้อื่นที่เข้ามาช่วยเสริม โดยงบเหมาจ่ายรายหัวเป็นเพียงรายได้ 1 ใน 3 ที่โรงพยาบาลได้รับ ซึ่งโรงพยาบาลยังมีรายได้จากการดูแลผู้ป่วยระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และผู้ป่วยแรงงานต่างด้าว อีกทั้งการที่โรงพยาบาลเกาะสมุยตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้เพิ่มเติมจากผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารับบริการ เฉลี่ยเป็นสัดส่วนผู้ป่วยร้อยละ 15-20 ต่อปี และส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง ทำให้มีรายได้เข้ามาช่วยเสริม ภาพรวมของโรงพยาบาลจึงไม่ขาดทุน
“หากไม่มีรายได้อื่นเข้ามาช่วยเสริม รพ.เกาะสมุยคงจะประสบปัญหา อยู่ไม่รอดแน่นอน เพราะปัจจุบันเรามีประชากรสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ขึ้นทะเบียนกับ รพ.เกาะสมุยเพียงแค่ 60,000 คน ถือว่าน้อยมาก เพราะในหลักการหากหน่วยบริการใดมีจำนวนผู้มีสิทธิต่ำกว่า 100,000-150,000 ราย ไม่ควรที่จะอยู่ได้ เพราะจะได้รับงบประมาณผู้ป่วยนอกที่จำกัด” ผอ.รพ.เกาะสมุย กล่าวและว่า ขณะที่งบผู้ป่วยในขึ้นอยู่กับศักยภาพของโรงพยาบาลแต่ละแห่งในการให้บริการ ซึ่ง รพ.เกาะสมุย เป็น รพท.มีแพทย์เฉพาะทางหลายสาขาจึงทำให้ได้รับงบประมาณส่วนนี้เพิ่มเติม แต่แม้จะเบิกเพิ่มเติมในส่วนผู้ป่วยในได้ แต่การกำหนดจ่ายตามดีอาร์จีก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายจริง
นพ.ชาญชัย กล่าวต่อว่า หากเปรียบเทียบต้นทุนการบริหารระหว่าง รพ.ที่อยู่ตามเกาะกับ รพ.ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วไป ย่อมมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า แต่ที่ผ่านมาในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวที่ รพ.เกาะสมุยได้รับ กลับไม่มีการบวกเพิ่มค่าใช้จ่ายเหล่านี้ แต่ รพ.ที่ตั้งอยู่บนเกาะขนาดเล็กอาจได้เพิ่มเติมบาง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มองว่าสถานการณ์ทางการเงินในภาพรวมของ รพ.ไม่ได้เป็นปัญหา และไม่ได้อยู่ในภาวะที่ลำบาก ด้วยเหตุนี้ปีที่ผ่านมา รพ.เกาะสมุยจึงไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม รพ.พื้นที่ทุรกันดารที่ต้องจัดงบเพิ่มเติม
“การที่ รพ.เกาะสมุย ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารที่ต้องได้รับงบเพิ่มเติม โดยดูจากภาพรวมทางการเงินของ รพ. ผมมองว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะควรต้องดูที่ต้นทุนการบริการ ซึ่งทุกอย่างที่นี่ต้องถูกขนส่งผ่านทางเรือหมด เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก แม้แต่การส่งต่อผู้ป่วยก็ต้องบวกค่าเรือเพิ่ม ค่าเดินทางของพยาบาลที่ไปด้วย ซึ่งในกรณีที่เรือหมดกลับไม่ทันก็จะมีรายจ่ายค่าที่พักและเบี้ยเลี้ยงเพิ่ม และที่ผ่านมา รพ.ต้องนำรายได้ส่วนอื่นมาบริหารให้กับผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน” ผอ.รพ.สมุย กล่าว
นพ.ชาญชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามด้วยบริบทของ รพ.เกาะสมุย คงจะนำไปเปรียบเทียบกับ รพ.อื่นไม่ได้ เพราะ รพ.เกาะสมุย อยู่ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว จึงทำให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อเลี้ยง รพ.ได้ ซึ่ง รพ.ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะมีบริบทที่คล้ายกัน ยกเว้น รพ.ขนาดเล็ก ศักยภาพการบริการไม่มาก ก็อาจทำให้เกิดปัญหารายรับได้
ส่วนมุมมองที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ไม่มีระบบอะไรยั่งยืน ในการบริหารต้องมีการปรับไปเรื่อย แต่ที่สำคัญทั้งฝ่ายผู้จัดหาบริการและผู้ให้บริการจะต้องมีการพูดคุยและรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ปัญหาภาพรวมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามองว่า เกิดจากปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีงบในการจัดสรรไม่มาก ทำให้หน่วยบริหารได้รับงบประมาณที่จำกัด ซึ่งหาก รพ.เกาะสมุย รับดูแลเฉพาะผู้ป่วยสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคงอยู่ไม่ได้ ดังนั้นจึงควรมีการเพิ่มเติมงบประมาณลงสู่ระบบ
ขณะที่ รพ.สมุทรสาคร แม้ว่าจะไม่ได้เป็น รพ.ที่จัดอยู่ในกลุ่มขาดทุนวิกฤรุนแรงระดับ 7 แต่ที่ผ่านมาก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งจากการพูดคุยกับแหล่งข่าวใน รพ.สมุทรสาคร ยอมรับว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องของ รพ.เกิดจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขณะนั้นอยู่ในช่วงการก่อสร้างอาคารเพื่อรอบรับการดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติม ซึ่ง รพ.ได้รับงบก่อสร้างจากรัฐจำนวน 100 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคาร 6 ชั้น แต่ต่อมาขยายเป็น 12 ชั้น เพิ่มเป็นงบประมาณ 300 ล้านบาท โดยในส่วนต่างนี้ รพ.ต้องจัดหาเพิ่มเติมเอง
แหล่งข่าว รพ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ส่วนงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง เนื่องจากตัวเลขงบประมาณที่ รพ.จะได้รับไม่ชัดเจน เพราะ สปสช.จะส่งงบประมาณตามรายท่อ ที่มีรายละเอียดซับซ้อน ขณะที่ยังเป็นงบที่ค่อยๆ ทยอยโอนมา ทำให้ รพ.ไม่สามารถคาดการณ์งบประมาณที่ได้รับได้ ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารอีกเช่นกัน ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้โอนงบประมาณเช่นเดียวกับระบบประกันสังคม ซึ่งจะทำให้หน่วยบริการสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากจำนวนผู้ป่วยนอกที่เพิ่มเป็นเท่าตัวจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“ขณะนี้ รพ.พ้นภาวะการขาดสภาพคล่องแล้ว และมีรายรับบวกเพิ่มเล็กน้อย เนื่องจากได้บริหารจัดการโดยตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนออก อย่างเช่น การลดค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ รพ. การงดจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็น แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่อการบริการผู้ป่วย” แหล่งข่าว รพ.สมุทรสาคร กล่าว
ติดตามต่อ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ตอนที่ 8 รพ.อุ้มผางเสนอตั้ง กองทุนมนุษยธรรม ลดภาระ รพ.ชายแดน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม
ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7
ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”
ตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง
ตอนที่ 5 รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ปัญหาส่งเบิกกับสปสช. ต้นเหตุขาดทุน
ตอนที่ 6 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอกรมบัญชีกลาง วิเคราะห์บัญชี รพ. หาสาเหตุขาดทุน
- 100 views