สช.และสจรส. เปิดเวทีวิชาการ HIA Conference วประเมิน ผลกระทบสุขภาพปี 57 เสนอใช้ "เอชไอเอ" ในกิจการพลังงาน เหมืองแร่ เอฟทีเอ พร้อมยกระดับประเมินนโยบายสาธารณะแบบรายโครงการ รายกิจกรรม สู่การประเมินเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกมิติ เตรียมเสนอ สปช. บรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดงานประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA Conference) ประจำปี พ.ศ.2557
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.มอ.) จัดการประชุมวิชาการ การประเมินผลกระทบทำงานสุขภาพ (HIA Conference) ประจำปี พ.ศ.2557 ในหัวข้อเรื่อง “ผลกระทบของกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ” (The Impact of Health Impact Assessment) ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร โดยมีภาคีเครือข่ายภาคราชการ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการเข้าร่วมกว่า 300 คน
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผอ.สจรส. กล่าวว่า เวทีการประชุมวิชาการ HIA Conference ครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนและพัฒนากระบวนการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สอดคล้องตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่คุ้มครองสิทธิของชุมชนจากนโยบายสาธารณะที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 ที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพร่วมกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EHIA)
“การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ถือเป็นเครื่องมือทางสังคมที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และใช้ความรู้ทางวิชาการประกอบในการประเมินผลกระทบสุขภาพทุกมิติ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง ก่อนที่ภาครัฐจะกำหนดนโยบายหรือตัดสินใจดำเนินโครงการ”
ผศ.ดร.พงค์เทพ กล่าวว่า แนวทางการทำ HIA ในช่วงที่ผ่านมายังมีข้อจำกัด ทำให้กลไกการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะชุมชนดำเนินการได้ไม่เต็มที่ และไม่สอดคล้องกับบริบทใหม่ของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องพัฒนากลไกให้ดีขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นแต่การประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเฉพาะรายโครงการ/กิจกรรม โดยขาดการมองภาพรวมของนโยบายและข้อจำกัดของพื้นที่ เช่น กรณีของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจังหวัดต่างๆ ซึ่งสุดท้ายภาครัฐก็อนุมัติการก่อสร้าง
“ขณะนี้ มีการผลักดันแนวคิดใหม่ คือ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในเชิงนโยบายและการมองภาพรวมถึงศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกที่ครอบคลุมนโยบายของภาครัฐ ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดโครงการ/กิจกรรมต่างๆ เช่น นโยบายพลังงานในภาพรวมของประเทศ นโยบายการผลิตไฟฟ้า นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (เหมืองแร่) นโยบายในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือนโยบายรวม 3 กองทุนประกันสุขภาพ คือ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเกิดให้ผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประชาชนอย่างไร เป็นต้น”
โดยเวที HIA Conference ในครั้งนี้ มีการทำงานวิชาการโดยการพัฒนาข้อเสนอการประยุกต์ใช้ HIA ในนโยบายสาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน คือ 1.นโยบายพลังงานของประเทศไทย 2.การจัดการทรัพยากรสินแร่และเหมืองแร่ของประเทศไทย และ 3.กระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (FTA) รวมทั้งข้อเสนอกลไกและกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งในการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งทางสถาบันฯ จะนำข้อมูลที่ได้ข้างต้น เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาให้บรรจุเป็นสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยจำเป็นต้องมีกลไกในการประเมินโยบายของภาครัฐว่าสร้างผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร เช่น นโยบายส่งเสริมการทำเหมืองแร่ เช่น เหมืองทองคำ ในอดีตแม้จะสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก แต่ไม่เคยมีการประเมินถึงความคุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมหรือสุขภาวะของชาวบ้านที่ต้องสูญเสียไปตลอดระยะเวลาที่ภาครัฐให้สัมปทาน
ดังนั้น การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ในแต่ละโครงการ จึงเป็นกลไกดูแลสุขภาพของประชาชนและลดผลกระทบทางสังคมเพิ่มเติมจากเดิม ที่มุ่งเน้นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เพียงอย่างเดียว และขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังผลักดันเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาเสริม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) จะช่วยให้การประเมินผลกระทบครอบคลุมไปถึงศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ด้วย หรือกลไกใหม่ในการประเมินผลกระทบทางสังคม เป็นต้น
- 18 views