HSRI Forum สำรวจอุณหภูมิ 7 ปี กองทุนสุขภาพตำบลกับบทบาทจัดการตนเอง พบแม้ถูกขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2549 หรือเป็นเวลานับ 7 ปี แต่ชาวบ้านยังขาดการรับรู้และมีส่วนร่วม จี้“ปลดล็อค” เงินกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อให้ชุมชนได้แสดง “บทบาท” เจ้าของอย่างจริงจังอีกครั้ง
ในจุลสาร HSRI Forum ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ได้เจาะประเด็นนำเสนอเรื่อง "สำรวจอุณหภูมิ 7 ปี กองทุนสุขภาพตำบลกับบทบาทจัดการตนเอง เดินหน้าสู่ความยั่งยืน" พบประเด็นสำคัญคือแม้ถูกขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2549 หรือเป็นเวลานับ 7 ปี แต่ชาวบ้านยังขาดการรับรู้และมีส่วนร่วม จี้“ปลดล็อค” เงินกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อให้ชุมชนได้แสดง “บทบาท” เจ้าของอย่างจริงจังอีกครั้ง
โดยกองทุนตำบลกับการจัดการกับปัจจัยทางสังคม ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง โดยในมุมมองของนักวิชาการ กับอีกด้านของท้องถิ่นมีทรรศนะที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับเรื่องนี้
ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ ได้ให้มุมมองกับเรื่องนี้ว่า การขับเคลื่อนเรื่องกองทุนสุขภาพตำบลใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาเพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ดี คือต้องมี 1. คน คือ มีความรู้ในการจัดการ 2. สภาพแวดล้อม เช่น วิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม และ 3. กลไก ซึ่งหมายถึงกองทุนฯ ที่ผ่านมาได้มีการลงไปประเมินพื้นที่เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการเรื่องสุขภาพของตนเองได้ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญหลายด้าน เช่น 1. วิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ของชุมชน 2. การจัดทำข้อมูล 3. การวางแผน และ 4. การบริหารจัดการ
“จากการประเมินพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่คิดว่าการเจ็บป่วยหรือเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องทางการแพทย์ เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปหาหมอ ไม่ได้คิดว่ากองทุนสุขภาพตำบลจะช่วยขับเคลื่อนอะไรได้ ดังนั้นกิจกรรมหรือแผนงานที่ชุมชนท้องถิ่นทำจึงเป็นกิจกรรมที่ทำให้แล้วเสร็จไปในแต่ละปี ไม่ได้คิดเรื่องการทำให้กองทุนฯ งอกเงยหรือเติบโตขึ้นมา”
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ชุมชนมีอยู่หรือจัดทำขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลจากหน่วยงานราชการ เพื่อนำมาประกอบการเขียนโครงการเสนอของบประมาณไม่ใช่เป็นข้อมูลที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์หรือวางแผนแก้ไขปัญหา ส่วนแผนทางเดินยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นก็จัดทำด้วยคนเพียงไม่กี่คน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วม แผนดังกล่าวจึงไม่ได้นำไปใช้จริง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องการนำเงินกองทุนสุขภาพตำบลไปใช้ในบางกิจกรรมแต่ติดขัดอยู่ที่ข้อระเบียบราชการ ที่จะมีหน่วยงานเข้าตรวจสอบอย่างเคร่งครัดโดยกลัวว่าจะใช้เงินผิดประเภท ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวเกิดข้อจำกัดในการทำงาน
ผศ.ดร.พงค์เทพ สรุปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนจะต้องช่วยกัน “ปลดล็อค” เพราะเข้าใจว่าสปสช./กสธ.เป็นเจ้าของกองทุน เมื่อมองเช่นนั้นทำให้ติดเงื่อนไขการใช้เงินกองทุน ที่ผ่านมาบางพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) บางแห่งก็นำเงินกองทุนไปใช้เอง หรือให้ อสม.ไปทำโครงการ หรือ อปท. ก็เข้าใจว่างบกองทุนฯ เป็นของตนเอง ทำให้ชาวบ้านไม่รู้เรื่องและไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเงินกองทุน จึงต้องช่วยกันปลดล็อคให้กองทุนเป็นของชุมชน ให้ชุมชนบริหารและตัดสินใจใช้เงินเองได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข้ง ไม่ต้องกลัวว่าจะติดเงื่อนไขหรือหากยังไม่ได้ผล ประชาชนก็อาจจะต้องไปคุยกับ สตง.เพื่อชี้แจงให้เข้าใจ
ทางด้าน ผศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อคิดเห็นว่า จากการลงพื้นที่เพื่อทำการวิจัยเรื่องกองทุนตำบล มีข้อเสนอว่าแต่ละพื้นที่ควรจะเพิ่มเป้าหมายสุขภาพชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 4 ข้อคือ 1. การดูแลทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่เช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำ ฯลฯ 2. การรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน เช่น การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรที่ชุมชนมีอยู่และนำมาใช้ประโยชน์3. การเฝ้าระวังปัญหาสังคมที่มีผลกระทบต่อชุมชน ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว ภัยพิบัติ และ 4. ชุมชนต้องสร้างข้อมูลเอง เก็บข้อมูลเอง และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องรอหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานภายนอก
“จากการลงพื้นที่เพื่อทำการวิจัย พบว่า หัวใจของการพัฒนาสุขภาพชุมชน คือการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ไม่ใช่ปล่อยให้ อสม.ทำอย่างเดียว โดยชาวบ้านจะต้องมีข้อมูลโดยรู้ว่าตัวเองมีความต้องการและปัญหาอะไร เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจและร่วมวางแผนโดยชุมชน และจะนำไปสู่แผนที่ยุทธศาสตร์ว่าจะเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่ร่วมกันได้อย่างไร โดยใช้เงินจากกองทุนฯ และมีภาคีความร่วมมือจากภายนอกเข้ามาช่วยสนับสนุน” ผศ.ดร.ชะนวนทอง กล่าว
ด้าน นายสมเกียรติ เกรียงไกรอนันต์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลไทรย้อย จ.พิษณุโลก เล่าว่า ตำบลไทรย้อยมี 17 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 9,000 กว่าคน ที่ผ่านมาเทศบาลเราเน้นไปที่การจัดการด้านสุขภาพของชาวบ้าน มากกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทำถนน สร้างอาคาร เพราะเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่เรื่องสุขภาพไม่ต้องใช้เงินก็ทำงานได้ โดยมีฐานความคิดให้ประชาชนในท้องถิ่น และ อสม. ทำโครงการเกี่ยวกับสุขภาพขึ้นมา แล้วทางเทศบาลจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ
ที่มา : www.prachatai.com
จุลสาร HSRI Forum ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555
- 3 views