สธ.หวั่นโรคมือเท้าปากระบาด ช่วงอากาศหนาวเย็น กำชับผู้ปกครองเข้มงวดเรื่องความสะอาด ให้เด็กหมั่นล้างมือ ขอความร่วมมือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ทำความสะอาดสถานที่ เครื่องใช้ ของเล่นเด็ก ตรวจสุขภาพเด็กทุกเช้า หากสงสัยป่วย ให้แยกเด็กและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เผยปี 2557 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 65,668 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยที่กทม.พบระบาดในสถานศึกษา 115 แห่ง ต้องปิดโรงเรียน 24 แห่ง และปิดชั้นเรียนบางส่วน 44 แห่ง ต้นปี 2558 นี้เริ่มพบประปรายในศูนย์เด็กเล็ก 822 ราย
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูหนาว อากาศหนาวเย็น เอื้อต่อการระบาดของโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุในรอบ 10 ปี โรคนี้มีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายงานผู้ป่วยสูงเพิ่มขึ้น 2 ช่วงคือมกราคมถึงมีนาคม และมิถุนายนถึงสิงหาคม โดยปี 2557 พบผู้ป่วย 65,668 ราย เสียชีวิต 2 ราย พบมากในภาคเหนือและภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชุมชน เฉพาะกรุงเทพมหานครมีรายงานการระบาดในสถานศึกษา 115 แห่ง พบผู้ป่วยต่ำสุด 2 ราย สูงสุด 52 ราย ปิดเรียนทั้งโรงเรียน 24 แห่ง และปิดชั้นเรียนบางส่วน 44 แห่ง ต้นปี 2558 ตั้งแต่วันที่ 1-19 มกราคม พบเด็กป่วยโรคนี้ประปราย 822 ราย ส่วนใหญ่ในศูนย์เด็กเล็ก สูงสุดในภาคเหนือ รองลงมาคือภาคใต้
นพ.ณรงค์กล่าวว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประสานกับกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน และขอความร่วมมือผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงเด็ก เข้มงวดเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้ โดยยึดหลักสุขอนามัยที่ดีคือ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่นเด็ก และให้ครูช่วยตรวจสุขภาพเด็กนักเรียนทุกเช้า หากพบว่าเด็กมีไข้หรือพบตุ่มใสขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือตุ่มในปาก ในกระพุ้งแก้ม ให้แยกเด็กออก และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างอย่างถูกต้อง และควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในช่วงอากาศหนาวเย็น จะมีความเสี่ยงเกิดโรคมือเท้าปากได้สูง เนื่องจากเด็กๆ มักจะไม่ค่อยชอบล้างมือ ทำให้เชื้อโรคแพร่ติดกันได้ง่าย โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส เชื้อจะติดมากับมือที่สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลและอุจจาระของผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักพบในเด็กเล็ก อาการป่วยจะเริ่มจากมีไข้และมีตุ่มพองเกิดขึ้นในปาก ที่ฝ่ามือหรือผิวหนัง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จะหายป่วยได้เองภายใน 7-10 วัน โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ด้วยยา ทายาแก้ปวด รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม ไอศกรีม แต่หากมีอาการรุนแรง เช่นเด็ก ซึมลง หายใจหอบ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
ทั้งนี้ หากพบมีเด็กในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ต้องแยกเด็กป่วยออกจากกลุ่มเพื่อน ให้หยุดพักที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่นที่โรงเรียน ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อ และหากพบเด็กป่วยในเวลาไล่เลี่ยกันมากกว่า 2 คน ขอให้พิจารณาปิดเรียนและทำความสะอาด เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
- 37 views