ประธานกมธ.สาธารณสุข สนช.ค้านกฎหมายใหม่ ตั้งหน่วยงาน-กองทุนคุมงบวิจัย เหตุมีองค์กรเดิมอยู่แล้ว ห่วงเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินในระยะยาว ลั่นเห็นด้วยเพิ่มงบวิจัย แต่ต้องย้อนดูคุณภาพงานวิจัยที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน ด้านเลขาธิการสปสช.แจงหากจะดึงงบจากสปสช. ต้องแยกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่องบรักษาพยาบาล
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวเมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) กรณีมีการยกร่างพระราช บัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ.... ขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาวิจัยด้านสุขภาพของประเทศไทย โดยให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมา 1 แห่ง และมีกองทุนเฉพาะของตนเอง รับงบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 2-3 พันล้านบาท ว่า เรื่องนี้ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด
โดยประเด็นที่ 1 ต้องดูว่าตั้งมาแล้วมีประโยชน์อะไรที่ประเทศชาติจะได้รับ เพราะปัจจุบันมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อยู่แล้ว ก็ต้องถามว่าที่เป็นอยู่นี้มีปัญหาอะไร ได้รับงบประมาณสำหรับศึกษาวิจัยเพียงพอหรือไม่ ต้องการการสนับสนุนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนตัวเห็นด้วยว่าจะต้องมีการเพิ่มงบประมาณสำหรับการศึกษาวิจัยงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะขณะนี้งบที่จัดสรรให้กับการวิจัยภาครัฐค่อนข้างน้อย แต่ก็ต้องกลับมาดูว่างานวิจัยที่ทำอยู่นั้นมีคำตอบให้กับปัญหาของประเทศหรือไม่
ประเด็นที่ 2 งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรืองบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะไปดึงมาร้อยละ 1-2 นั้น เป็นงบประมาณที่น้อยอยู่แล้ว โครงสร้างโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงเป็นโครงสร้างที่ขาดเงินลงทุนมานานแล้ว เพราะฉะนั้นมีข้อจำกัด เช่นเดียวกับ สปสช. เงินเหมาจ่ายรายหัวแต่ละปีก็น้อยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะไปดึงงบจากตรงนี้มา ตนไม่เห็นด้วย
ประเด็นที่ 3 ถ้าเช่นนั้นแล้วจะเอางบประมาณมาจากที่ไหน ซึ่งตอนนี้หลายกระทรวง หลายหน่วยงานเหมือนกันหมดตรงที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ สำนักงบประมาณไม่มีจะให้
"ถ้าจะขอจากภาษีบาป อย่าลืมว่าเป็นงบประมาณของแผ่นดิน ถ้าเอาออกมาก็กระทบกับงบประมาณโดยรวม ดังนั้นต้องชั่งน้ำหนักเรื่องความต้องการของงานวิจัยกับเงินที่มี ถ้า สวรส.มีปัญหาเรื่องความคล่องตัว เรื่องงบประมาณ ก็ต้องถามว่าหน่วยงานใหม่มีความจำเป็นหรือไม่" นพ.เจตน์ตั้งคำถาม
ต่อข้อถามว่าเมื่องบสนับสนุนวิจัยของประเทศน้อย ควรเพิ่มงบวิจัยเข้าไปยังหน่วยงานเดิมที่มีอยู่ หรือควรตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ขึ้นมา นพ.เจตน์ กล่าวว่า นี่คือคำถามไปถึงผู้ที่ต้องการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะคิดว่าควรเป็นการเติมเงินลงไปมากกว่า แต่ว่ามันมีข้อจำกัดที่หน่วยงานเดิมอาจจะพยายามขอมานานแล้วแต่ไม่ได้ ก็เลยพยายามออกกฎหมายมาเพื่อให้ได้เงิน แต่ก็ต้องดูรายละเอียดก่อนว่าจำเป็นอย่างไร
"ผมขัดขวางทุกครั้งหากจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหน เพราะการตั้งหน่วยงานใหม่โดยไม่ยุบหน่วยงานเก่าจะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินในระยะยาว เห็นด้วยในการ ยุบฐานโครงสร้างของหน่วยงานเก่า และตั้งหน่วยงานใหม่ให้มีความคล่องตัวขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งหน่วยงานใหม่โดยที่หน่วยงานเก่ายังอยู่ทุกกรณี ไม่ยกเว้นกรณีนี้" นพ.เจตน์ ระบุ
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจริง และกำหนดให้ สปสช.ต้องจัดสรรงบฯร้อยละ 1 คิดเป็นประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก หากเป็นเช่นนั้นจริง ทาง สปสช.ก็ต้องยอมรับตามกฎหมาย แต่การจัดสรรต้องแยกส่วนออกมาจากงบฯเหมาจ่ายรายหัว ไม่เช่นนั้นจะกระทบแน่ๆ ซึ่งในการเสนอของบฯจากสำนักงบฯ หรือที่เรียกว่างบขาขึ้น จะต้องแยกหมวดให้ชัด อย่างไรก็ตาม หากมองในข้อดีการตั้งกองทุนเฉพาะสำหรับการวิจัยระบบสาธารณสุขระดับชาติ ย่อมดีในแง่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งวิจัยกำลังคน บุคลากรสาธารณสุข นโยบาย ยุทธศาสตร์ต่างๆ
ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 มกราคม 2558 และ เว็บไซต์ไทยรัฐ วันที่ 23 มกราคม 2558
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เสนอยุบ “สวรส.” รวมตั้ง “สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ”
มติชน : สพศท.ติง สวรส.จะตั้ง 'กองทุนวิจัยสุขภาพ' ไม่ชัดเจน-เปลือง-ซ้ำสสส.
- 4 views