นสพ.มติชน : สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ออกโรงค้าน 'กองทุนฯวิจัยสุขภาพ' หวั่นเป็น สสส.2 ชี้ใช้เงินมหาศาล แต่ระบบตรวจสอบไม่ชัดเจน เตือนรัฐบาลรอบคอบ

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ

เมื่อวันที่ 21 มกราคม พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ในฐานะตัวแทนประชาคมสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ.... เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้มีผลบังคับใช้ เพื่อตั้ง "สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ" ที่บริหารงานในรูปแบบกองทุนชื่อว่า กองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ ใช้งบประมาณปีละกว่า 1 พันล้านบาท ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังทำประชาพิจารณ์ไม่รอบด้าน มีเพียงการระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

"กองทุนเกิดใหม่ใช้งบประมาณปีหลายพันล้านบาท แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะมีระบบตรวจสอบที่เป็นกลางจริงหรือไม่ และหากมีกองทุนนี้จริง จะกลายเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แห่งที่ 2 เพราะมีเงินมหาศาล แถมมีกฎหมายเฉพาะที่ยากจะตรวจสอบอีก จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาร่างกฎหมายนี้อย่างรอบคอบ หากสนับสนุนย่อมต้องมีเสียงคัดค้านอีกแน่นอน" พญ.ประชุมพรกล่าว

นอกจากนี้ พญ.ประชุมพร กล่าวอีกว่า กลุ่มบุคคลที่ผลักดันการเกิดกองทุนใหม่นี้ยังเตรียมผลักดันตั้งองค์กรกลางในการกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐอีก โดยเมื่อปลายปี 2557 เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่าได้เสนอแนวทางดังกล่าวต่อคณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพที่มี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน เรื่องนี้ก็ไม่ชัดเจนว่า หากมีการตั้งองค์กรกลางขึ้นมากำหนดสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน ซึ่งประกอบด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการจัดสรรงบให้โรงพยาบาลอย่างไร เรื่องนี้ก่อนเสนอควรมีการระดมความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานบริการด้วย

"ปัญหาคือองค์กรกลางดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานของการรวม 3 กองทุนหรือไม่ และการจัดสรรงบประมาณไปยังโรงพยาบาลต่างๆ จะใช้ สปสช.เป็นต้นแบบหรือไม่ เนื่องจากกังวลว่า สุดท้ายเงินเหมาจ่ายรายหัวของแต่ละกองทุนจะมีการแบ่งจ่ายออกเป็นหมวดต่างๆ เหมือน สปสช. ที่มีทั้งงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค งบบริการเฉพาะ ฯลฯ ซึ่งหากเป็นจริงจะทำให้การจัดสรรเงินออกเป็นหมวดๆ มากเกินไป สุดท้ายก็จะประสบปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนจากวิธีจัดสรรเงินของ สปสช.อีก" พญ.ประชุมพรกล่าว

ทางด้าน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กฎหมายนี้จะออกโดยสำนักนายกรัฐมนตรี มี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธานคณะกรรมการยกร่าง โดยกฎหมายนี้จะส่งผลให้มีการตั้งสำนักงานขึ้นใหม่ทดแทน สวรส. ทำหน้าที่ในการวิจัยงานด้านสุขภาพในภาพรวมทั้งหมด

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 มกราคม 2558

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสนอยุบ “สวรส.” รวมตั้ง “สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ”