“นพ.วิทยา” เชื่อกระแสข่าว สธ.ยกเครื่องกฎหมายสาธารณสุขฉุกเฉินใหม่ ทับกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินเดิม ยุบสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นแค่ข่าวลือ ระบุผลงานที่ผ่านมากว่า 7 ปี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ลดอัตราเสียชีวิตจากการมาโรงพยาบาลไม่ทัน ขณะที่ “นพ.ไพบูลย์” ติงยังติดวัฒนธรรมทำงานแบบราชการ ส่งผลบริหารไม่ตรงตามเป้าประสงค์ ทั้งขาดหน่วยงานกลางในการประเมินผล 7 ปีที่ผ่านมายังไม่ได้ตามที่คาดหวัง ชี้สพฉ.ต้องผ่าตัดใหญ่ยกระบบเพื่อประชาชน แต่ไม่เห็นด้วยหากจะยุบทิ้ง และกลับไปอยู่ภายใต้ สป.สธ.
17 ม.ค.58 แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) เตรียมผลักดันร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉิน พ.ศ... ขึ้น โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือ โครงสร้างของคณะกรรมการระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉิน หรือ คสฉ. ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน มีอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นกรรมการ และมีผู้แทนจากส่วนราชการอื่นๆ เป็นกรรมการ อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลสำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวคือ ในมาตรา 14 ให้จัดตั้งสถาบันนเรนทร เพื่อระบบบริการการแพทย์สาธารณสุขฉุกเฉินขึ้น เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายอื่น
“ประเด็นคือ ร่างกฎหมายใหม่นี้ หากมีการผลักดันจริง จะมาแทน พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 หรือไม่ เพราะเนื้อหาสาระ ดูเหมือนจะคล้ายคลึงกัน แต่ติดตรงโครงสร้างของประธานเปลี่ยนแปลง เป็นปลัดสธ.ดูแล ขณะที่พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินฉบับปัจจุบัน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ที่สำคัญหากมีการผลักดันร่างกฎหมายใหม่นี้ได้จริง อาจต้องยุบสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) ด้วยหรือไม่ เนื่องจาก สพฉ. เกิดขึ้นโดยพ.ร.บ.ฯ หากไม่มีพ.ร.บ. และมีกฎหมายใหม่จริง ก็อาจต้องยุบ จึงเกิดคำถามว่าจะเป็นการร่างกฎหมายซ้ำซ้อนหรือไม่ แต่สุดท้ายหากมีการเสนอจริง ก็อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตามขั้นตอนรัฐมนตรีว่าการสธ.ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอยู่ดี เรื่องนี้จึงน่าติดตามว่าจะเป็นอย่างไร” แหล่งข่าวฯกล่าว
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย
ด้าน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ อดีตคณะกรรมการ สพฉ.กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวน่าเป็นเพียงข่าวลือ เนื่องจาก พ.ร.บ.ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉิน เป็นเรื่องเก่าที่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยตั้งแต่ปี 2550 ขณะเดียวกันหากมีการผลักดัน พ.ร.บ.นี้จริง ผู้ที่มีหน้าที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็คือ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า นพ.รัชตะ ไม่น่าจะนำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ดังนั้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลังจากประเทศไทยมี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ได้มีการแยกบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ระหว่าง สพฉ. กับหน่วยงานสาธารณสุขฉุกเฉิน ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ไว้อย่างชัดเจน ป้องกันการทำงานที่ซับซ้อนกัน โดย สพฉ.มีหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่กำกับดูแลในภาพรวม จึงถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต
นพ.วิทยา กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามหากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง โดยมีการจัดตั้งสถาบันนเรทรขึ้นมาแทน สพฉ. อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน เนื่องจาก สพฉ.มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ไม่เฉพาะแค่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร หน่วยงานระดับจังหวัดและท้องถิ่น รวมไปถึงมูลนิธิต่างๆ ซึ่งตรงนี้ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน
“ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ สพฉ. มองว่า ที่ผ่านมา 7 ปี สพฉ.ได้ปฎิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายกู้ชีพขึ้นทั่วประเทศ สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างครอบคลุม ลดอัตราเสียชีวิตจากการมาโรงพยาบาลไม่ทันจำนวนมาก ส่วนตัวจึงเห็นว่า พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 นั้นดีอยู่แล้ว แต่หากมีการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งตามโครงสร้างเปลี่ยนให้ปลัดกระทรวงสาธาณณสุขเป็นประธานบอร์ดแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ตรงนี้น่ากังวลว่าในทางปฏิบัติ อาจไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างในปัจจุบัน” นพ.วิทยา กล่าว
นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
สอดคล้องกับ นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้วิจัยกฎหมายด้านการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า แม้จะไม่ทราบว่าข่าวลือกรณียุบ สพฉ.เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาได้อย่างไร แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยหากมีการยุบรวม สพฉ. ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 โดยมี พ.ร.บ.ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉิน พร้อมตั้งสถาบันนเรนทรขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เนื่องจากการบริหารงานหรือการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จะกลับไปอยู่ภายใต้หน่วยงานราชการตามเดิม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการทำลายหลักการสำคัญของการตั้งหน่วยงานอิสระ โดยกรณีของ สพฉ.นั้น จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่มีความชำนาญการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ปฎิบัติงานโดยไม่ถูกผูกมัดด้วยระบบราชการ
นพ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตามจากผลงานของ สพฉ.ที่ผ่านมากว่า 7 ปี นั้น ส่วนตัวเห็นว่ายังไม่สามารถบริหารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และความคาดหวัง ในการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปถึงโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบกลไกหลักในการบริหารงาน โดยเฉพาะการเลือกคณะกรรมการ และระบบการทำงานที่แม้จะเป็นหน่วยงานอิสระ แต่ยังอิงวัฒนธรรมการทำงานแบบราชการ ที่สำคัญคือการขาดหน่วยงานกลางในการประเมินผล เมื่อไม่มีผู้ประเมินผลงานการปฏิบัติงานจึงไม่บรรลุตามเป้าประสงค์ของการจัดตั้ง สพฉ.
“ผมไม่เห็นด้วยหากจะยุบ สพฉ. และจัดตั้งหน่วยงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นมาแทน เพราะการยุบทิ้งหน่วยงานอิสระที่มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไปเป็นหน่วยงานภายใต้ระบบราชการตามเดิม อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม แต่ถามว่าขณะนี้ สพฉ.เอง ปฏิบัติงานได้ตรงตามความคาดหวังหรือไม่ จากผลงานที่ผ่านมาก็สามารถตอบได้ว่า ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นแม้จะไม่เห็นด้วยหากจะมีการยุบ สพฉ. แต่ส่วนตัวก็ต้องการให้มีการผ่าตัดยกเครื่อง ทั้งการบริหารงานและระบบปฏิบัติงาน รวมทั้งการเพิ่มหน่วยงานกลางซึ่งมีความอิสระเข้ามาประเมินผล เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าประสงค์ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด” นพ.ไพบูลย์ กล่าว
- 6 views