เดินหน้าผลักดันกลไกท้องถิ่น ขานรับนโยบาย “ตำบลถนนปลอดภัย” เหตุถนนกว่า 80% ทั่วประเทศ อยู่ในความดูแลของ อบจ. - เทศบาล - อบต. ด้าน ‘หมอวิทยา’ เผยปี 2562 ภาพรวมยังชะล่าใจไม่ได้ พบยอดตายยังสูง 19,904 ราย แนะรัฐบาลประกาศเจตจำนงอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่การประกาศนโยบาย แต่ต้องลงทุนพร้อมให้อำนาจ และสนับสนุนหน่วยงานหลัก ที่เป็นมืออาชีพให้เข้ามาดำเนินการรับผิดชอบ รวมทั้งกำกับติดตามอย่างใกล้ชิดจริงจัง
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวมอบนโยบายตำบลถนนปลอดภัย แก่ภาคีเครือข่ายแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เลขาศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พยายามประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน เพื่อนำไปสู่การลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่ผ่านมาตัวเลขการตายบนท้องถนนไทย ในแต่ละปีเช่นปี โดยเฉพาะช่วงปี 2561-2562 เฉลี่ยปีละ 2 หมื่นกว่าราย ไม่รวมคนบาดเจ็บ พิการ ทรัพย์สินเสียหาย กล่าวได้ว่าภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อประเทศ หลายแสนล้านบาทในแต่ละปี โดยจากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอและกระทรวงคมนาคม ได้วางกรอบประเมินมูลค่าชีวิตคนตาย เฉลี่ยรายละ 10 ล้านเศษ เท่ากับว่าในเชิงตัวเลขทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเสียหายปีละไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่ายานพหนะที่ประสบอุบัติเหตุอันดับต้นกว่า 70% คือ รถมอเตอร์ไซค์ ถึงเวลาที่เราต้องดูแลลดปัจจัยเสี่ยงจากมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะในเรื่องความเร็ว ระบบเบรก วิธีการได้มาซึ่งใบอนุญาตขับขี่ เพื่อลดอุบัติเหตุและความสูญเสียในกลุ่มนี้ ดังนั้น เป้าหมายดำเนินการลดอุบัติเหตุ ต้องทำเพิ่มจากการแก้ไขที่ตัวบุคคล เพราะที่ผ่านมาเราทำได้ผลดีในระดับหนึ่ง เช่น มาตรการเมาแล้วขับ ตอนนี้การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดขึ้นเป็นลำดับ มีการตั้งด่านชุมชนเพิ่มเข้มงวดวัดแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่มีการเสียชีวิตต้องจับตรวจแอลกอฮอล์ และมาตรการไม่จำหน่ายสุราให้เยาวชน
ชี้ “ความเร็ว” ต้นตอสำคัญของอุบัติเหตุ ดัน “กลไกท้องถิ่น” เข้าจัดการ
อย่างไรก็ตาม ในเรื่อง “ความเร็ว” ยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตามแก้ไข ซึ่งจำเป็นต้องอาศัย “กลไกของท้องถิ่น” เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ เหตุที่ท้องถิ่นต้องเข้ามามีบทบาท เพราะ 80% ของถนนในประเทศ อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ. เทศบาล และ อบต. ในขณะที่เหลืออยู่ในความรับผิดชอบของกรมหลวงและกรมทางหลวงชนบท ถ้าเราไม่เอากลไกท้องถิ่นมาช่วย จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เมื่อมีการแก้ พ.ร.บ. อบจ. / พ.ร.บ. เทศบาล / พ.ร.บ. อบต. ในเรื่องอำนาจหน้าที่ จากเดิมที่ไม่มีหน้าที่ด้านงานเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและงานจราจร โดยตั้งแต่ เม.ย. ปี 2562 ที่ผ่านมา มีการแก้ไขพระราชบัญญัติให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและการจราจร รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานอื่นให้มีหน้าที่ดังกล่าว ท้องถิ่นจึงสามารถอุดหนุนหน่วยงานอื่น ให้เข้ามาช่วยกันทำงานแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนได้ เช่น ตำรวจ อปพร. และหน่วยงานสาธารณสุข
“เราต้องทำในระดับตำบลให้ได้ จำเป็นต้องร้อยเรียงหน่วยงานและฝ่ายต่างๆ มาร่วมมือกันลดความสูญเสีย โดยการปรับแผนพัฒนาเอาเนื้องานความปลอดภัยทางถนน ถอดเป็นแผนดำเนินงานและเสนองบประมาณไปยังหน่วยงานท้องถิ่น ถ้ารอแต่จะของบประมาณจากหน่วยงานส่วนกลาง เป็นเรื่องที่ยากจะได้รับการสนับสนุน วันนี้หากทุกท้องถิ่นทั่วประเทศจัดสรรงบ 1 แสนบาท ทั่วประเทศจะได้งบดำเนินการรวม 700 กว่าล้านบาท ถ้าจัดสรรท้องถิ่นละ 1 ล้านบาท ก็จะเพิ่มเป็น 7 พันกว่าล้านบาท” นายนิพนธ์ กล่าว
สำหรับรูปแบบดำเนินการด้านกฎหมาย เช่น การปฏิบัติตามกฎจราจร หรือการออกเทศบัญญัติหรือกฎหมายท้องถิ่น อาทิ การจำกัดความเร็วในเขตเทศบาล ไม่ให้ใช้ความเร็วเกินเท่าไหร่ตาม กม. และบริบทท้องถิ่น ใครฝ่าฝืนมีโทษปรับ ในขณะที่ อบจ. สามารถออกข้อบัญญัติที่รุนแรงกว่า สามารถลงโทษจำคุกได้ ถ้าท้องถิ่นไม่ออกข้อบัญญัติ เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วอัยการสั่งฟ้อง จะไปติดขัดข้อกฎหมาย ที่กำหนดครอบคลุมแค่พื้นที่ทางหลวงแผ่นดิน ไม่ครอบคลุมถนนท้องถิ่น
หยุดภารกิจไม่ได้ เพราะการตายบนท้องถนนน่ากลัวกว่า “โควิด”
ขณะที่ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงาน สอจร. เผยถึงสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนระดับโลกและประเทศไทย ระบุว่าการตายจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยในปี 2562 ยังไม่น้อยลง ตัวเลขจากข้อมูล 3 ฐาน สรุปที่ 19,904 ราย มองเห็นชัดว่าสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา ยังใกล้เคียงกับปี 2561 ที่มีการตาย 19,931 ราย ภาพรวมยังเลวร้ายจึงชะล่าใจไม่ได้ แม้ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส แต่อีกด้านหนึ่งเราหยุดภารกิจไม่ได้ เพราะการตายบนท้องถนนน่ากลัวกว่าเยอะ ในแต่ละวันบ้านเรามีตายสูงมาก ยอดเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 52 ราย ในขณะที่ยอดตายสะสมตั้งแต่ต้นปี 2563 อยู่ที่ 3,511 ราย
ในรายละเอียดพบว่าจังหวัดที่มีการตายสูง 10 อันดับแรก ไม่ต่างจากกลุ่มเดิม คือ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ปราจีนบุรี สระบุรี ภูเก็ต ลำพูน สระแก้ว อยุธยา และนครปฐม ขณะเดียวกันพบว่าทั่วประเทศมี จังหวัดที่มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น มากถึง 37 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง อยู่ที่ 40 จังหวัด ดังนั้น ภาพรวมของประเทศการตายใกล้เคียงเดิม จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จของการตั้งเป้าลดตายนั้น ภาคีเครือข่ายและทีมงานต้องมีคนทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในจังหวัด อำเภอ และตำบล โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้บริหารต้องความตระหนักให้ความสำคัญ กับการวางนโยบายและมาตรการความปลอดภัยทางถนน รวมถึงมีแกนนำระดับจังหวัดและระดับอำเภอ มีกรรมการพหุภาคี สหสาขาวิชาชีพ ทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล และมีกระขวนการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ผนวกด้วยการมีระบการสื่อสารระหว่างทีมงานที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการวางแผนงานครอบคลุมทุกเสาหลัก มีทักษะการเปลี่ยนแผนงานสู่การปฏิบัติ มีระบบข้อมูลคุณภาพเพื่อการกำกับติดตาม มีการคืนข้อมูลสู่ชุมชนภาคีเครือข่าย มีภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมงานและสนับสนุนการดำเนินงาน และมีผลงานที่สามารถขยายผลการดำเนินงาน
ดันท้องถิ่น ออกมาตรการ “ควบคุมความเร็ว” และบังคับใช้เข้มข้น
“ท้องถิ่นสามารถดำเนินการในด้านต่างๆ ได้เลย เริ่มตั้งแต่การค้นหาจุดเสี่ยง แก้ไขจุดเสี่ยง พหุภาคีสร้างมาตรการองค์กรระดับอำเภอ อปท. สถานประกอบการ และสถานศึกษา โดยการออกระเบียบเรื่อง City Speed Limit พร้อมยื่นเคียงบ่าเคียงไหล่กับตำรวจในการบังคับใช้กฎหมาย สร้างกองร้อยน้ำหวานมาสนับสนุนงานตำรวจ จัดระเบียบรถโรงเรียน รวมถึงสร้างระบบข้อมูลเพื่อกำกับติดตาม ขณะเดียวกันจังหวัดใหม่ๆ ที่เข้าร่วม นำเอาบทเรียนจังหวัดที่ประสบความสำเร็จไปใช้” นพ.วิทยา กล่าว
ส่วนบทเรียนปัจจัยความล้มเหลวในประเทศต่างๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้ คือ “ขาดเจตจำนงทางการอย่างแท้จริงของรัฐบาล” ซึ่งเจตจำนงทางการไม่ใช่แค่การประกาศนโยบาย แต่จะต้องมีการลงทุน มีการให้อำนาจ มอบหมาย สนับสนุนหน่วยงานหลักที่เป็นมืออาชีพ ให้เข้ามาดำเนินการรับผิดชอบ รวมทั้งกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งการตั้งเป้าหมายใหม่ของ UN และ WHO ในด้านการลดอุบัติเหตุทางถนนนั้น ก็เพื่อสื่อสารถึงทุกประเทศให้เห็นควาสำคัญ ของความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเพิ่มความรับผิดชอบ พร้อมส่งสัญญาณถึงรัฐบาลให้ยกระดับความสำคัญและดำเนินการแก้ปัญหา โดยมุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนและลงมือกระทำอย่างจริงจัง กระตุ้นให้สื่อและสังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา
30 กม./ชม คือ ความเร็วที่เหมาะสมในเขตเมือง
สำหรับมาตรการที่สำคัญที่สุดที่กล่าวถึงใน Safe and Healthy Street คือ การลดความเร็วในเขตเมืองให้เหลือเพียง 30 กม./ชม มีทางเดินที่ปลอดภัย มีเลนสำหรับจักรยาน และเส้นทางไปโรงเรียนที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันยังมีข้อเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก ยกระดับความมุ่งมั่นที่จะป้องกันความสูญเสียที่ไม่สมควรที่เกิดกับเยาวชน และคนหนุ่มสาวจากอุบัติเหตุทางถนน พร้อมขอให้ทางการเมืองมีความรับผิดชอบในระดับสูงสุด ที่จะสร้างยุทธศาสตร์และแผนดำเนินการความปลอดภัยทางถนน ในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับจังหวัด โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานาครัฐและทุกภาคส่วนในทุกระดับ
นอกจากนี้ ส่งเสริมให้ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นคู่สัญญา ด้านความปลอดภัยทางถนนกับองค์การสหประชาชาติ พิจารณาเข้าเป็นสมาชิกและดำเนินตามกรอบแผนงาน Safe System ผนวกเรื่องความปลอดภัยทางถนน และการจัดการอย่างเป็นระบบ เข้าในการวางแผนการจัดการผังมือง การออกแบบการขนส่ง การขนส่งสาธารณะ การออกกฎหมาย การคับใช้กฎหมาย ให้เกิดความปลอดภัย กับผู้ใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเปราะบาง
- 775 views