“นิมิตร์” เสนอ ปลัด สธ. ออกหนังสือสั่งการ รพ.สังกัดสป.สธ. ส่งข้อมูลเบิกจ่าย ร่วมทำงาน สปสช. คลี่คลายสถานการณ์ความเข้าใจผิด พร้อมแนะ สธ.-สปสช.จับมือของบเพิ่ม หลังแนวโน้ม ปี 59 รัฐเตรียมคงงบเหมาจ่ายเท่าเดิม ด้าน บอร์ด สปสช.ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ระบุ สธ. - สปสช.ควรยุติขัดแย้ง เดินหน้าทำงานเพื่อประชาชน เผย 1 ปีที่เข้าร่วมประชุม เหมือนเป็นที่ถกของสธ.-สปสช. ข้องใจ 2 องค์กรมีช่องว่าง ทั้งที่มาจากเบ้าหลอมเดียวกัน
16 ม.ค.58 นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปฏิเสธกรณีสั่งการ นพ.สสจ. รวมถึงประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ไม่ส่งข้อมูลเบิกจ่ายและไม่ร่วมสังฆกรรมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ในฐานะผู้บริหารสูงสุดในตำแหน่งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มเจ้าหน้าที่จนเกิดภาวะบอยคอต ไม่ร่วมทำงานกับ สปสช. จำเป็นที่ต้องคลี่คลายสถานการณ์ก่อนส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการบริการรักษาพยาบาลประชาชน โดยในที่ประชุมบอรด์ สปสช.ที่ผ่านมา ตนได้เสนอขอให้มีหนังสือส่งไปยังหน่วยงานในสังกัด ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยบริการ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ และขอให้ร่วมมือการทำงานร่วมกัน
นายนิมิตร์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของสธ.ที่ให้ปรับวิธีจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงนั้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเน้นที่การพูดคุยกัน นำข้อมูลข้อเท็จจริงมากางดู ซึ่งขณะนี้คณะทำงานที่มีตัวแทนระหว่าง สธ. และ สปสช.ที่มี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง สปสช.เป็นประธาน อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อหาข้อสรุป โดยเบื้องต้นเท่าที่ทราบการพูดคุยได้เริ่มเห็นปัญหากันมากขึ้นแล้ว เพียงแต่ตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมจะต้องนำข้อมูลที่ได้จากการหารือรายงานให้ผู้ใหญ่แต่ละฝ่ายรับทราบตามข้อเท็จจริง ขณะที่ผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่ายต้องรับฟังและไม่ใช้อคติในการพิจารณา หากเป็นเช่นนี้แนวโน้มความขัดแย้งระหว่าง สธ. และ สปสช.จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้หาก ปลัด สธ.เห็นปัญหาในการบริหารงบของ สปสช. ควรที่จะมานั่งพูดคุยและทำความเข้าใจกันโดยตรงมากกว่า
ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุความขัดแย้งว่า เกิดจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่ไม่เพียงพอ นายนิมิตร์ กล่าวว่า ตนได้พยายามบอกหลายครั้งว่าเรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ สธ. และ สปสช.ต้องจับมือและแก้ปัญหาร่วมกัน ต้องช่วยกันกดดันรัฐบาล เนื่องจากปัญหาเกิดจากเม็ดเงินเหมาจ่ายที่ไม่เพียงพอ และเท่าที่ทราบในปีงบประมาณ 2559 มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะคงงบเหมาจ่ายในอัตราเท่าเดิม และหากเป็นเช่นนั้นจริง ปัญหา รพ.ขาดทุน และงบประมาณไม่เพียงพอจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะงบเหมาจ่ายที่ได้รับนั้นเป็นงบรวมเงินเดือนที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นหมายความว่าจะทำให้งบหลังหักเงินเดือนที่ส่งไปยังหน่วยบริการลดลง ดังนั้นแทนที่ สธ.และ สปสช.จะมาทะเลาะกัน ควรช่วยกันบอกรัฐบาลกันว่า หากไม่ใส่เม็ดเงินเพิ่มเติมในระบบ จะกระทบต่อหน่วยบริการและคุณภาพการรักษาพยาบาลประชาชนอย่างไร
“หากงบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2559 ยังคงเท่าเดิม ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อหน่วยบริการในการดูแลรักษาผู้ป่วยเท่านั้น แต่เชื่อว่าจะทำให้ความขัดแย้งระหว่าง สธ. และ สปสช.เพิ่มมากขึ้น เพราะงบที่ลงไปหน่วยบริการจะยิ่งลดลง ดังนั้นจึงควรมองเห็นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นและช่วยกันแก้ไขปัญหาก่อน” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ทั้งนี้จากที่ ปลัด สธ.เข้าร่วมประชุมบอร์ด สปสช. ทั้ง 2 ครั้ง นับเป็นแนวโน้มที่ดี และหากเป็นไปได้อยากให้ปลัด สธ.เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง เพื่อที่จะได้ติดตามความคืบหน้าในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร่วมกัน
นายจรินทร์ จักกะพาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา นายจรินทร์ จักกะพาก ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) ในฐานะบอร์ด สปสช.ได้กล่าวตั้งข้อสังเกตการประชุมบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมาว่า จากที่ได้เข้าร่วมประชุมบอร์ด สปสช. ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการประชุมนี้จะเป็นการประชุมระหว่าง สปสช. และ สธ.มากกว่า ส่วนบอร์ด สปสช.ที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ จะฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ส่วนใหญ่จะไม่รู้เรื่อง เพราะมีศัพท์เทคนิคเยอะมากเป็นเรื่องเฉพาะที่คนในวงการจะเข้าใจเท่านั้น แต่เท่าที่ได้ฟังเห็นว่า ระหว่าง สปสช. และ สธ.น่าจะมีช่องว่างอยู่ และนำช่องว่างดังกล่าวมาถกในที่ประชุมทุกครั้ง ซึ่งมองว่าทำให้เสียเวลา ทั้งที่บุคลากร สปสช. และ สธ. ต่างหลอมมาจากเบ้าเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ทำงานเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน ดังนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่ต่างฝ่ายจะพูดคุยกันเพื่อความเข้าใจ และจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาในที่ประชุมอีก หรือหากมีคำถามที่เป็นปัญหาระหว่างกันควรจะไปคุยกันนอกรอบเพื่อที่จะได้เดินหน้าทำงานให้กับประชาชน
- 4 views