เสนอยุบ “สวรส.” รวมตั้ง “สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ” ขยายบทบาทกำกับดูแลงานวิจัยสุขภาพทุกมิติ พร้อมผลักดันงานวิจัยสุขภาพสู่สาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับนายกรัฐมนตรี บริหารภายใต้ “คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ” พร้อมจัดตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการ เบื้องต้นกำหนดให้รัฐประเดิมทุนพันล้านบาท ก่อนให้ สธ.-สปสช.สนับสนุนงบร้อยละ 1 ในปีแรก และเพิ่มร้อยละ 2 ในปีถัดไป ขณะที่ “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ” ผ่านประชาพิจารณ์แล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอ รมว.สธ. เพื่อส่ง ครม.เห็นชอบต่อไป   

 

ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์

13 ม.ค.58 ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา สวรส.ได้มีการจัดประชุมเพื่อ “ประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ...” เพื่อปรับปรุงและยกระดับขอบเขตการทำงานของ สวรส.ให้ครอบคลุมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งหมด จากเดิมที่จำกัดเพียงแค่การวิจัยเฉพาะในส่วน “ระบบสุขภาพ” เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อรองรับต่อสถานการณ์สุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงแนวโน้มในอนาคต

พร้อมกันนี้จะมีการจัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ” และ “คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ” เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายและขอบเขตการวิจัยสุขภาพซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ รวมถึงหน้าที่การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพนักวิจัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยสุขภาพ ตลอดจนการผลักดันงานวิจัยเพื่อนำไปสู่ประโยขน์สำหรับประชาชน เป็นต้น 

ดร.จรวยพร กล่าวว่า ส่วนโครงสร้างสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพได้กำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ อยู่ภายใต้กำกับของนายกรัฐมนตรีโดยตรง จากเดิมที่ สวรส.อยู่ภายใต้กำกับ รมว.สาธารณสุข เนื่องจากเป็นการปรับบทบาทที่ดูแลการวิจัยสุขภาพทั้งหมด และได้แบ่งงานออกเป็น 5 ด้าน คือ 1.วิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 2.วิจัยทางคลินิก 3.วิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ 4.วิจัยทางสาธารณสุขและสังคม และ 5.วิจัยระบบสุขภาพที่เป็นภารกิจเดิมของ สวรส. ส่งผลให้สำนักงานใหม่ต้องมีการขยายบุคลากรเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ สวรส.มีบุคลากรเพียงแค่ 40 คนเท่านั้น นอกจากนี้ยังได้ปรับโครงสร้างคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ จากชุดเดิมของ สวรส.ที่มีจำนวน 27 คน เหลือเพียงแค่ 25 คน

สวรส.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ... เพื่อพัฒนาร่างกฎหมายสู่การปฏิรูประบบวิจัยสุขภาพ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2557

ส่วนประธานคณะกรรมการฯ จะมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการสรรหาและได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีที่ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านการวิจัยสุขภาพ ไม่ใช่มาจากตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกับบอร์ด สวรส.ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังกำหนดให้สัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวน 12 คน ซึ่งเท่ากับสัดส่วนกรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน

ดร.จรวยพร กล่าวว่า นอกจากคณะกรรมการส่งเสิรมฯ ชุดข้างต้นแล้ว ตามโครงสร้างสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพยังกำหนดให้มีคณะกรรมการติดตามการประเมินการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพควบคู่อีกหนึ่งคณะ ขณะที่ สวรส.มีเพียงคณะกรรมการเพียงชุดเดียว ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่ประเมินความสอดคล้องของการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยสุขภาพ การให้ทุนวิจัยของสำนักงาน และความก้าวหน้าของการวิจัยที่ได้รับทุน ติดตามประเมินผลการบริหารงาน และนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการชุดใหญ่

สำหรับในส่วนของงบดำเนินการจะมีการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพ” นั้น ดร.จรวยพร กล่าวว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ได้กำหนดให้รัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมเพื่อดำเนินการจำนวน 1,000 ล้านบาท และในปีแรกหลัง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยมีผลบังคับใช้ จึงให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรงบประมาณสนับสนุนร้อยละ 1 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ และเพิ่มเป็นร้อยละ 2 ในปีที่ 3 และปีถัดไป ในการคำนวณงบประมาณกองทุนฯ นั้น เป็นการคำนวณที่ปรับขยายตามภารกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่างานวิจัยสุขภาพนั้นกว้างมาก

ส่วนที่มาที่ไปของการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพนั้น ดร.จรวยพร กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว เริ่มต้นขึ้นในปี 2550 ซึ่ง นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุขในขณะนั้นได้เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่รวมการดูแลงานวิจัยสุขภาพทั้งประเทศ แต่ติดที่งบประมาณที่ขยายจาก สวรส.ที่ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท/ปี เป็น 1,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นได้มีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพ ซึ่งมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน ประกอบกับยังเป็นหนึ่งในนโยบาย 9 ข้อของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข ที่ให้ความสำคัญต่อการวิจัยสุขภาพ โดยให้มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อวิจัยสุขภาพจึงได้เกิดการผลักดันต่อเนื่อง

“ปัจจุบันประเทศไทยมีการลงทุนวิจัยด้านสุขภาพเยอะมาก แต่กระจัดกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ ยังไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ไม่มีหน่วยงานกลางที่จะเข้ามาดูแลงานวิจัยสุขภาพในทุกมิติ ซึ่งที่ผ่านมา สวรส.ทำหน้าที่แค่การวิจัยในเชิงระบบสุขภาพเท่านั้น ขณะที่การวิจัยสุขภาพนั้นกว้างกว่า พร้อมกันนี้ยังขาดการขับเคลื่อนเพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุภาพจะเข้ามารับบทบาทหน้าที่นี้ ขณะที่ สวรส.จะเข้ามาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของหน่วยงานใหม่เท่านั้น” รอง ผอ. สวรส. กล่าวและว่า ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมฯ นี้จะทำหน้าที่ดูแลนโยบายการวิจัยสุขภาพของประเทศ กำหนดโจทย์ที่เป็นปัญหาสุขภาพของประเทศ และสนับสนุนให้เกิดการวิจัย ติดตาม ประเมินผล และผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ 

ดร.จรวยพร กล่าวว่า จากผลการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพที่ผ่านมานั้น ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนหลักการนี้ แต่ยังมีความกังวลถึงความชัดเจนของบทบาทหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยที่อาจเกิดความซ้ำซ้อนได้ โดยในประเด็นนี้ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบวิจัยสุขภาพชี้แจงว่า ในเรื่องของการดูภาพรวมการวิจัยทั้งประเทศ ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบายการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ยังคงเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อยู่ เพียงแต่จะมีการแยกงานวิจัยสุขภาพออกมา โดยให้สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพทำหน้าที่ดูแล

สำหรับในส่วนการทำวิจัยสุขภาพนั้น ในกรณีที่เป็นทุนมหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยยังคงสามารถอนุมัติได้ ไม่ต้องขออนุมัติจากสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ยกเว้นแต่กรณีที่นักวิจัยต้องการขยายทำการวิจัยให้ใหญ่ขึ้นอาจขอทุนสนับสนุนมาได้ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ห่วงว่าการขยายสำนักงานใหม่นี้อาจไม่เพียงพอต่อภารกิจที่ต้องดำเนินการเพิ่มขึ้นได้

“ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยสุขภาพได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ทำรายงานต่อ รมว.สาธารณสุข เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจาณาเห็นชอบ และส่งต่อไปยังสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อดูเนื้อหาในทางกฎหมาย ก่อนนำเสนอต่อ สนช.เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้คาดว่าคงต้องใช้เวลา 4 -12 เดือน” รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว