“กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ค้าน สช.ทำเขตสุขภาพ ระบุซ้ำซ้อนเขตของสปสช.และเขตของสธ. แถมไม่มีบทบาทใหม่ ซ้ำยังคล้ายการทำสมัชชาสุขภาพ ชี้ไม่ช่วยสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพได้ ไม่แน่ใจ สช.เข้าใจเรื่องลดเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเมื่อพูดเรื่องรวม 3 กองทุน ไม่เห็นมีใครสนับสนุน งง ทำไมรีบร้อนไม่รับฟังความเห็นประชาชนก่อน
7 ม.ค.58 นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้เดินทางไปยื่นคัดหนังสือคัดค้านสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดำเนินการจัดเขตสุขภาพ เมื่อปลายปี 2557 ว่า เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันมีเขตสุขภาพที่ดำเนินการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว การที่ สช.จะทำเขตสุขภาพประชาชนอีกนั้น ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร เพราะว่าซ้ำซ้อน อีกทั้งยังไม่สามารถตอบคำถามได้เลยว่าที่จะตั้งขึ้นมาอีกนั้นมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน มีปัญหาอุปสรรคตรงไหน จะแก้ปัญหากันอย่างไร เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคน บริหารงบประมาณ บริหารพื้นที่ การที่ สช.มาทำตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าคาดหวังอะไรอยู่
“ไม่รู้ว่า สช.มาทำตรงนี้ สช.คาดหวังอะไร ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ใช่ประเด็นสุขภาพโดยทั่วไป จึงอยากให้ถามคนที่รู้เรื่อง คนที่เกี่ยวข้อง คนที่รู้ปัญหา อย่าง สปสช.และกระทรวงสธ. แต่อันนี้จะมาเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งจะเข้ากันหรือไม่ เลยเป็นประเด็นที่กำลังแย้งกัน ดังนั้น สช.ต้องดูก่อนหรือไม่ เพราะต้องมีการตั้งสำนักงาน ตั้งกอง ตั้งทีมงาน มีการใช้งบประมาณ แล้วจะมีอำนาจหน้าที่ทำอะไร เลยตั้งคำถามว่าเป็นหน้าที่ของ สช.หรือไม่”
นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เท่าที่ดูจากโครงสร้างของเขตสุขภาพประชาชนที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้ ไม่เห็นมีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม อาจจะมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่หลากหลายมากขึ้น แต่ว่าจะมาทำอะไร และเวลามีมติอะไรออกมาจะส่งผลกับใคร ใครจะสามารถเอาไปใช้ได้ ตรงนี้คือความซ้ำซ้อน ผลกระทบที่จะตามมาคือความสิ้นเปลืองทั้งกำลังคน เวลา และงบประมาณที่ใช้ในการประชุม การตั้งกรรมการก็คงจะซ้อนกันไปมา จะสามารถสร้างความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำได้มากแค่ไหน สช.เข้าใจเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาพอพูดเรื่องการรวม 3 กองทุนสุขภาพไม่เห็นมีใครออกมาสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุที่มาเรียกร้องในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มอบหมายให้ สช.ดำเนินการเมื่อหลายเดือนก่อน นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวว่า เพราะเป็นคำสั่งที่มาเร็วเกินไป เราไม่คิดว่าจะรีบตัดสินใจทำ เพราะแม้จะเป็นคำสั่งแต่ก็สามารถตัดสินใจได้ว่าควรทำหรือไม่ เขตสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นก็จริง แต่ต้องมีหลายฝ่ายมาคุยกัน แต่ สช.พยายามเสนอประเด็นว่าจะตั้งเขตสุขภาพขึ้นมาอีกโดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งไม่เข้าใจว่าซอฟต์พาวเวอร์แปลว่าอะไร ถ้าสมมติคณะกรรมการเขตสุขภาพไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการ ไม่มีอำนาจในการพัฒนาเขตสุขภาพของตัวเองแล้วจะตั้งมาทำไม ก็เหมือนกับการตั้งสมัชชาสุขภาพระดับเขต ซึ่งเป็นงานหลักของ สช.อยู่แล้ว ดังนั้นก็ให้เขตสุขภาพเดิมจัดรับฟังความเห็นในรูปแบบสมัชชาแห่งชาติเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำเขตขึ้นมาใหม่ ดังนั้นจึงออกมาเรียกร้องให้มีการชะลอการดำเนินการ ทราบว่าได้ถอนวาระนี้ออกในการประชุม แต่ก็ยังทำให้กังวลว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมถึงเร่งรีบโดยไม่ถามประชาชนเลย
“พี่ยืนยันว่าตอนนี้มีเขตสุขภาพของกระทรวงฯ กับของสปสช.ก็เพียงพอแล้ว เพราะยังไม่รู้ว่าการตั้งใหม่มันจะมีผลอะไรที่ชัดเจนหรือไม่ แต่คงไม่ได้เคลื่อนไหว หรือคิดว่าจะต้องไปพบ คสช. เพราะยังไม่เปิดรับฟังความเห็นเท่าที่ควร จะรอดูสถานการณ์ก่อน ไม่มั่นใจว่าที่คัดค้านไปนั้นเขาจะฟังเรามากน้อยแค่ไหน แต่ก็อยากจะบอกว่าประชาชนที่สนใจเรื่องนี้มีความเห็นคัดค้าน” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว
- 4 views