“สปสช.” เผย “หมอรัชตะ” เดินหน้า คกก.แก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน หลัง “หมอยุทธ” ลาออก เผยข้อมูลวิเคราะห์ข้อเสนอ สธ.ปรับงบเหมาจ่ายขาลง เฉพาะผู้ป่วยในมีการเคลื่อนย้ายงบข้ามเขต 1.5 พันล้าน แถมทำงบ สธ.ไหลออกไปยังรพ.นอกสธ.กว่า 257 ล้านบาท ทั้งยังทำให้งบจากเขต 1 เขต 2 และเขต 3 รวมกันกว่า 600 ล้านบาทไหลไปเขตภาคใต้ เท่ากับทำให้บางเขตได้เงินเพิ่มขึ้น บางเขตได้เงินน้อยลง แต่ประชากรให้บริการยังเท่าเดิม พร้อมระบุยังไม่ได้รับข้อมูลจาก สธ. เพื่อศึกษาเสมือนจริง 2 เขต
5 ม.ค.58 ที่โรงแรมมิราเคิล - นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนว่า ทาง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเบื้องต้นมีข้อเสนอที่อยากให้มีการแยกงบประมาณการบริหารโรงพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุนและโรงพยาบาลชายแดนออกจากโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจาก รพ.เหล่านี้มีต้นทุนการบริหารที่สูง ซึ่งจะทำให้เห็นปัญหาและนำไปสู่แนวทางของการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องดูในส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติม
นพ.วินัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศ.นพ.รัชตะ ได้จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน แม้ว่า นพ.ยุทธ จะลาออกแล้ว แต่ทาง รมว.สาธารณสุขยังอยากให้กลไกนี้เดินหน้าต่อเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง
ส่วนข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงของทาง สธ.ที่เสนอต่อ สปสช.นั้น นพ.วินัย กล่าวว่า ข้อเสนอของ สธ.เป็นเพียงหลักการกว้างๆ และจากที่ สปสช.ได้ลองวิเคราะห์พบว่า หากทำการจัดสรรเงินไปที่เขตบริการสุขภาพตามที่ สธ.นำเสนอนั้น เมื่อเปรียยเทียบกับประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการของ สปสช. พบว่าจะมีการเคลื่อนย้ายงบประมาณข้ามเขต เฉพาะงบผู้ป่วยใน 1.5 พันล้านบาท โดยในจำนวนนี้จะมีเม็ดเงินของ สธ.ที่ไหลไปยังหน่วยบริการนอก สธ.ถึง 257 ล้านบาท ซึ่งไม่ทราบว่า สธ.ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังจะมีการเคลื่อนย้ายงบประมาณข้ามเขตด้วย โดยพบว่าจะมีเม็ดเงินถึง 600 ล้านบาทจากเขต 1 เขต 2 และเขต 3 ที่ไหลไปเขตภาคใต้ เท่ากับว่าจะมีบางเขตได้งบเพิ่มขึ้น และที่บางเขตจะถูกตัดงบลง
นอกจากนี้ข้อเสนอ สธ.ที่ขอให้ สปสช.ตัดเงินเดือนในระดับเขตและให้มีการเกลี่ยเงินข้ามจังหวัดนั้น พบว่า ทำให้รพ.ได้รับเงินน้อยกว่าเดิม อย่างเช่น รพ.อุ้มผาง เฉพาะผู้ป่วยในในกรณีที่ให้บริการผู้ป่วยเท่าเดิมจะได้รับงบประมาณน้อยลงประมาณ 2 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับ 34 ล้านบาท
“นี่เป็นเพียงการวิเคราะห์คร่าวๆ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องดูในรายละเอียดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แต่โชคไม่ดี คือเพราะเราไม่สามารถศึกษาลงรายละเอียดได้ อย่างเช่น ในการเสนอทดลองเสมือนจริงในการจัดสรรงบตามที่ สธ.เสนอ 2 เขต คือ เขต 2 และ 10 ปรากฎว่า สธ.ไม่ได้ส่งข้อมูลมา แต่จากการดูเบื้องต้นพบว่าทั้ง 2 เขตมีความแตกต่างกัน ส่วนที่มีการระบุว่าข้อเสนอ สธ.จะทำให้การบริการประชาชนดีขึ้น เพื่อทดสอบว่าจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ ก็ต้องมาทดลองคำนวณเสมือนจริงเพื่อเปรียบเทียบกันได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัญหา รพ.ขาดทุน ซึ่งข้อเท็จจริงต้องใช้คำว่า รพ.ขาดสภาพคล่องแทน โดยต้องยอมรับว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2555-2556 อัตรางบเหมาจ่ายรายหัวอยู่ระดับคงที่ ทำให้ไม่สมดุลกับรายจ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการปรับเงินเดือนและค่าตอบแทนตามภาระงาน จึงทำให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ส่วนหนึ่งยังเกิดจากการบริหารจัดการ
นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า แนวทางแก้ไข เบื้องต้นจะต้องมีคณะกรรมการซึ่งเป็นกลไกกลางลงไปดูว่าแต่ละแห่งมีปัญหาขาดทุนอย่างไร ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นกลไกที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ นอกจากนี้ทั้ง สปสช.และ สธ.เองต้องจับมือเพื่อผลักดันให้มีการเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการเช่นเดียวกับภาคเอกชน
“ที่ รมว.สาธารณสุขตั้งคณะกรรมการที่มี นพ.ยุทธเป็นประธาน ถือเป็นกลไกกลางที่จะเข้าไปช่วยวิเคราะห์ รพ.สภาพคล่องและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ โดยมีการออกแบบคณะกรรมการให้มีผู้แทนที่เป็นกลางจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบไปด้วย ทั้งผู้บริหารจาก สธ. และ สปสช. ผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง เป็นต้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 5 views