กรมสุขภาพจิต ประชุมปฏิบัติการวิชาการรำลึกและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 10 ปี สึนามิ 2558 “เรียนรู้อย่างยั่งยืน หลังคลื่นยักษ์ สึนามิ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านการรับมือกับภัยพิบัติตลอดจนแนวคิดและประสบการณ์การดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ผ่านมานำไปสู่การเตรียมความพร้อมด้านการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
นพ.เจษฏา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเปิดการประชุมปฏิบัติการวิชาการรำลึกและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 10 ปีสึนามิ ประจำปี 2558 เรื่อง “เรียนรู้อย่างยั่งยืน หลังคลื่นยักษ์ สึนามิ” ว่า จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากกว่า 2.5 แสนคน บาดเจ็บ 5 แสนคนและไร้ที่อยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน การจัดประชุมครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านการรับมือกับภัยพิบัติตลอดจนแนวคิดและประสบการณ์การดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ผ่านมานำไปสู่การเตรียมความพร้อมด้านการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในระยะเวลา 10 ปี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัย การบริหารจัดการของชุมชนการฟื้นฟูชุมชนให้กลับสู่ปกติสุข การวางแผนการดำเนินชีวิตโดยการบูรณาการระบบของชุมชนต่าง ๆ เข้าด้วยกันควบคู่ไปกับการเยียวยาบาดแผลทางจิตใจของผู้ประสบภัย การเพิ่มศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ให้สามารถค้นหาเฝ้าระวังวินิจฉัยและให้บริการประชาชนได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการส่งต่อผู้ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เหมาะสมซึ่งที่ผ่านมาได้ให้บริการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันที่ได้รับผลกระทบ (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล) จำนวนทั้งสิ้น 18,509 ราย ในรูปแบบการให้บริการเชิงรุกในชุมชน โดยทีมสุขภาพจิตเคลื่อนที่และยังคงให้บริการใน จ.พังงา อย่างต่อเนื่องเพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดซึ่งมีผู้ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจ ณ ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิต อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา (26 พ.ค.-28 พ.ย. 48) จำนวน 985 ราย ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า และ PTSD
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจติดตามภาวะสุขภาพจิตของประชาชนที่ประสบภัยสึนามิ โดยความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ (TUC) ทั้ง 3 ครั้ง (ก.พ. 48, ก.ย. 48 และ ก.พ. 51) พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตลดลง กล่าวคือ ภาวะซึมเศร้าลดลงจาก ร้อยละ 30.2 เป็นร้อยละ 14.9 และร้อยละ 13.4 ตามลำดับ ขณะที่ PTSD หรือภาวะเครียดหลังเหตุการณ์ ลดลงจากร้อยละ 11.9 เป็น ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ นอกจากนี้จากการศึกษาอาการ PTSD และภาวะซึมเศร้าในเด็กไทยที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ: การศึกษาระยะยาวในเด็กอายุ 7-14 ปี โดย พญ.เบญจพร ปัญญายง ผอ.ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิตในขณะนั้น พบว่า PTSD ลดลงจากร้อยละ 12.4 เมื่อ 2 เดือนภายหลังสึนามิ เป็นร้อยละ 5.2 เมื่อ 3 ปี ภายหลังสึนามิ ส่วนภาวะซึมเศร้าลดลงจากร้อยละ 13.3 เมื่อ 2 เดือนภายหลังสึนามิ เป็นร้อยละ 6.1 เมื่อ 3 ปีภายหลังสึนามิ อีกทั้ง ล่าสุดปี 2555 พบว่า ในภาพรวมของเด็กแรกคลอด -3 ขวบ ที่อยู่ในเหตุการณ์สึนามิ จ.พังงา จ.กระบี่ และจ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่มีระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำกว่าเกณฑ์ ระดับทึบค่าเฉลี่ย เท่ากับ 70-90) คิดเป็นร้อยละ 40 ร้อยละ 34.3 และร้อยละ 34.4 ตามลำดับโดยได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลือและสร้างระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องกลับสู่หน่วยบริการจิตเวชในพื้นที่เพื่อดูแลและประสานความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบและชุมชนต่อไปจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเกิดภาวะวิกฤตหรือภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ กระทรงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิต ได้ตั้งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ (MCATT) ในระดับอำเภอ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 853 ทีม เป็นทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์พยาบาลจิตเวช เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุขผู้ที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิต และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือด้านจิตใจประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึงโดยทีมดังกล่าวจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การทำงานของกรมสุขภาพจิตเริ่มภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังทราบข่าวการเกิดภัยพิบัติโดย ระยะฉุกเฉิน : จัดทีมช่วยเหลือทางจิตใจลงประเมินและเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ กลุ่มบาดเจ็บ ญาติผู้เสียชีวิตผู้ช่วยเหลืออาสาสมัครในพื้นที่ ร่วมกับเครือข่ายบุคลากรสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และองค์กรอิสระเชื่อมต่องานกับผู้ให้บริการสุขภาพฝ่ายกาย ทำงานเชิงรุกในพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ระยะหลังเกิดภัยพิบัติ : ประเมินกลุ่มเสี่ยงที่มีความเครียดอารมณ์และพฤติกรรมผิดปกติจากเดิมติดตามต่อเนื่องจนหมดความเสี่ยงสร้างระบบการส่งต่อผู้ป่วยกลับสู่หน่วยบริการจิตเวชในพื้นที่ ระยะฟื้นฟู : จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิต อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา วางระบบการฟื้นฟูสุขภาพจิตบุคคลและชุมชนต่อเนื่อง อาทิ การเยี่ยมบ้าน เชื่อมโยงภาครัฐ ส่งเสริมความเข้มแข็งในชุมชนให้รวมตัวช่วยเหลือกันเองพัฒนาศักยภาพบุคลากรครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.ให้สามารถดูและสุขภาพจิต คัดกรองและช่วยเหลือเบื้องต้นได้จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตในกลุ่มเสี่ยงสร้างฐานข้อมูลครอบครัวร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข 6 แห่ง และหน่วยระบาดวิทยา ม.สงขลานครินทร์ พัฒนางานวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมรำลึกร่วมกับท้องถิ่น จัดนิทรรศการเกี่ยวกับภัยพิบัติและการเตรียมความพร้อมในการรับมือตลอดจนเป็นหน่วยงานกลางในการประสานการช่วยเหลือด้านสังคมจิตใจดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่นและองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า หลักการสำคัญในการเผชิญกับปัญหาหรือเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดคือ การอาศัยความเข้มแข็งของชุมชนโดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนสภาวะเหยื่อจากภัยพิบัติมาเป็นผู้ร่วมกอบกู้วิกฤติเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ประสบภัยซึ่งต้องดึงพลังชุมชน เข้ามาช่วยเหลือและจัดการปัญหากันเองภายในชุมชนไม่รอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียวเพราะยิ่งคนจมอยู่กับความสูญเสียมากเท่าไรจะยิ่งทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและการทำร้ายตนเองมากขึ้นเท่านั้นการเปลี่ยนจาก “เหยื่อ” มาเป็น “ผู้กอบกู้วิกฤต” จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างให้เกิดความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจ ความสามัคคี รู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนมีความเข้มแข็งและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองมากยิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ สื่อมวลชนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเพื่อดูแลเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจประชาชนให้สามารถเผชิญกับปัญหาและก้าวผ่านวิกฤตต่าง ๆ ได้โดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและจำเพาะเจาะจงให้คำแนะนำที่ตรงกับปัญหาเพื่อให้ประชาชนชุมชนได้มีสติ ทำในสิ่งที่ต้องทำมากกว่ามัวตื่นตระหนกแสดงตัวอย่างความสำเร็จในการเผชิญปัญหาเพราะการแสดงตัวอย่างที่ดีจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการให้ความหวังเห็นทางออกที่ดีได้ อาทิ การนำเสนอภาพที่สร้างกำลังใจเห็นถึงโอกาสและความหวังในชีวิตบอกแหล่งช่วยเหลือที่มีอยู่อย่างหลากหลายให้ชัดเจน ตรงตามความต้องการรวมทั้ง ไม่ขยายความขัดแย้งหรือภาพของความน่ากลัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่สื่อสารภาพการสูญเสีย สิ้นหวัง ทำร้ายตนเอง มากจนเกินไป ตลอดจนไม่ซักถาม/สัมภาษณ์เรื่องความสูญเสียจากผู้ที่ยังไม่พร้อมจะเล่าเพราะจะยิ่งไปซ้ำเติมบาดแผลทางใจให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
- 49 views