ในหน้าสมุดบันทึกประวัติศาสตร์ ไม่มีการจ่ายร่วมที่ไหนจะสะเทือนใจและซาบซึ้งใจเท่ากับการบริจาคของประชาชนชาวไทยคนละ 1 บาท ในปี พ.ศ.2502 เพื่อรวบรวมเงินสู้คดี ที่รัฐบาลเจ้านโรดม สีหนุ แห่งกัมพูชา ภายใต้การหนุนหลังของฝรั่งเศส ได้ยื่นฟ้องศาลโลกหรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ขอให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากเขาพระวิหาร ให้ศาลโลกชี้ขาดอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร และให้ไทยคืนปราสาท พระวิหาร โดยยื่นฟ้องทั้งหมด 73 ครั้ง แต่ฝ่ายไทยยืนยันขอต่อสู้คดี อาศัยค่าใช้จ่ายที่ได้มาจากการรวบรวมเงินบริจาคของคนไทยผู้รักชาติรักแผ่นดิน แม้ในปี พ.ศ.2505 ศาลโลกจะได้ตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และรัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำตัดสินนี้
กระนั้นการจ่ายร่วมที่เกิดขึ้นได้สร้างความรักความผูกพันของคนในชาติ สร้างจิตสำนึกรักและหวงแหนแผ่นดิน และสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติให้เกิดขึ้น
ประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ระบบสาธารณสุขมีความแตกแยก เกิดความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันที่จริงมีการส่งสัญญาณความขัดแย้งมาเรื่อยๆ แต่เพิ่งมาปะทุให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนเมื่อครบรอบ 12 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นเรื่องของคนดีที่ขัดแย้งกับคนดี จากปัญหาหลายประการ ประการที่สำคัญเป็นเรื่องงบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับไม่เพียงพอ เงินที่ให้มามีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณและคุณภาพของการรักษาพยาบาล เนื่องจากประชากรมีจำนวนมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บซับซ้อนขึ้น เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยราคาแพงขึ้น แพทย์เก่งขึ้น การรักษาไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ประชาชนหันกลับมารับบริการมากขึ้น ฯลฯ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล จำนวนแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ไม่สมดุลกับจำนวนคนไข้ มีความล่าช้า การรอคิว เกิดปัญหาการส่งตัวไปรักษา เป็นยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างหมอและบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ กับคนไข้เปลี่ยนไป กลายผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ สร้างความขัดแย้ง เกิดการร้องเรียนเพิ่มขึ้น บุคลากรทางการแพทย์สมองไหลจากระบบราชการ กระทรวงสาธารณสุขขาดแคลนบุคลากร ขาดแคลนงบประมาณ ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดทุกวิถีทาง จนอาจมีผลกระทบกับคุณภาพบริการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนที่ 9 เรื่อง สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ มาตรา 51 กล่าวไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และ ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"
เป็นเรื่องน่าแปลกใจ ที่จำนวนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งหมดซึ่งรักษาบริการฟรีมีถึง 49 ล้านคน ในขณะประมาณการว่าประชาชนผู้ยากไร้ในประเทศไทยมีจำนวน 19 ล้านคน การที่รัฐต้องให้บริการฟรีในการรักษาพยาบาลประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ งบประมาณเท่าไหร่ก็ย่อมไม่พอ มีการปฏิเสธมาตลอดว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่โครงการที่ผูกติดกับการเมือง ไม่ใช่โครงการที่แก้ไขไม่ได้ เพราะเกรงใจฝ่ายการเมือง เกรงประชาชนไม่พอใจ
แต่ที่ผ่านมา แม้มีนักวิชาการเสนอให้มีการจ่ายร่วมหรือร่วมจ่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชาชนผู้ที่อยู่ในฐานะที่ทำได้ รัฐกลับปฏิเสธการร่วมจ่ายหรือจ่ายร่วมมาโดยตลอด จนมีคำถามว่าทำไม? และเพราะอะไร? รัฐจึงต้องคัดค้านการร่วมจ่ายหรือจ่ายร่วม ในเมื่อมีผู้ที่ไม่ลำบากยากเข็ญ มีรายได้พอสมควร เป็นผู้ที่เต็มใจ สามารถแสดงความเมตตาปรานีต่อเพื่อนร่วมชาติผู้ยากไร้ โดยการจะร่วมจ่ายเป็นรายปี หรือจ่ายร่วมเป็นร้อยละของค่ารักษาพยาบาล โดยอาจจะมีการจ่ายเป็นลำดับขั้น มีน้อยจ่ายน้อยมีมากจ่ายมาก
การจ่ายร่วมหรือร่วมจ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล เป็นการบริจาคทานที่น่าภาคภูมิใจ สร้างความรัก ความผูกพัน สร้างความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างพลเมืองในชาติ สร้างจิตสำนึกของการทดแทนคุณแผ่นดิน สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้เกิดขึ้น ช่วยค้ำจุนระบบการเงินการคลังสาธารณสุข ทำให้การแพทย์ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ชะงักงันถอยหลังจากการขาดทรัพยากร ซึ่งสุดท้ายจะได้ประโยชน์สูงสุดแก่คนไข้ทุกคนไม่ว่ายากไร้หรือมีฐานะ
ไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะเหมาะกับการร่วมจ่ายหรือจ่ายร่วมเพื่อช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศชาติอย่างยั่งยืน และเพื่อสร้างความ สามัคคีปรองดองของคนในชาติ...เท่ากับช่วงเวลานี้ อีกแล้ว
ผู้เขียน : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข email : chanwalee@srisukho.com
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. 2557
- 89 views