สธ. เปิดตัวทีมหมอครอบครัว 30,000 ทีมทั่วประเทศ ปฏิรูปการดูแลสุขภาพประชาชนเขตเมือง เขตชนบท รูปแบบใหม่ ดูแลถึงระดับครัวเรือน ทำงานร่วมกับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการที่อยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยระยะสุดท้ายชีวิต ขณะนี้มีเกือบ 2 ล้านคน และช่วยเหลือให้คำปรึกษาใกล้ชิดเสมือนเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติของครอบครัว มอบบริการเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยในปี 2558 ระยะแรกจะเริ่ม 30,000 ทีม ใน 250 อำเภอทุกจังหวัด
22 ธ.ค. 57 ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดตัว “ทีมหมอครอบครัว” ประชาชน “อุ่นใจ” มีญาติทั่วไทย เป็นหมอครอบครัว ซึ่งจะนำบริการเชิงรุกแนวใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข ไปส่งมอบให้ผู้ป่วยและครอบครัวถึงบ้าน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายชัดเจนในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ดังนั้นเพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชนไทยเริ่มต้นปี 2558 ด้วยการมีสุขภาพดี กระทรวงสาธารณสุขได้จัด “ทีมหมอครอบครัว” เข้าไปบริการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกครัวเรือนโดยเฉพาะในระดับบริการปฐมภูมิ เป็นการจัดบริการรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือดูแลส่งเสริมสุขภาพคนในครอบครัวไม่ให้ป่วย และดูแลผู้ป่วยที่พักฟื้นอยู่ที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
1.ผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือเรียกว่า ติดเตียงจำนวน 163,860 คน คิดเป็นร้อยละ 1.8 ของผู้สูงอายุที่มี 9 ล้านกว่าคน 2.ผู้พิการ จำนวน 1,580,525 คน และ3.ผู้ป่วยระยะสุดท้าย จำนวน 41,557 คน รวมทั้ง 3 กลุ่มมีจำนวน 1,785,942 คน ทีมหมอครอบครัว จะเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น การดำเนินการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 ดำเนินการใน 250 อำเภอทุกจังหวัด จัดทีมหมอครอบครัว จำนวน 30,000 ทีม และระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นไป จะขยายครอบคลุมทุกอำเภอ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ทีมหมอครอบครัว เป็นทีมงานใหญ่ที่ประกอบด้วยทีมสหวิชาชีพของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงอาสาสมัคร (อสม.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ชุมชน และภาคประชาชน ซึ่งร่วมกันทำงานทีมเพื่อที่จะดูแลสุขภาพของประชาชน เป็นการปฏิรูปการดูแลสุขภาพประชาชนในรูปแบบใหม่ ที่ต่อยอดจากฐานการทำงานเดิมของระบบบริการสุขภาพของไทย โดยมีสุขภาพที่ดีของคนในครอบครัวเป็นเป้าหมาย ทุกครอบครัวจะมีทีมหมอประจำ ดูแล ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาถึงบ้านและประสานหน่วยบริการอย่างใกล้ชิด เสมือนเป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทหรือญาติของครอบครัว มีส่วนในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลครอบคลุมทุกมิติทั้ง การรักษา ส่งเสริม และป้องกันอย่างต่อเนื่องทันท่วงที รวมถึงประสานการส่งต่อไปยังหน่วยบริการทุกระดับอย่างใกล้ชิดและเหมาะสมกับผู้ป่วย โดยหมอประจำครอบครัว 1 คน จะรับผิดชอบต่อประชากรประมาณ 1,250 -2,500 คน
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละทีมหมอครอบครัว จะมีแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือแพทย์เฉพาะทางที่มีความสนใจในงานบริการระดับปฐมภูมิ เป็นที่ปรึกษา ทีมหมอครอบครัวมี 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับชุมชน ประกอบด้วย ภาคประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เช่น อสม. อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสา นักบริบาล แกนนำครอบครัวและประชาคม มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลตนเองหรือให้การบริบาลเบื้องต้น ทำหน้าที่ประดุจญาติของผู้ป่วยและครอบครัว ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพสต.)หรือโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ช่วยเหลือดูแลขจัดทุกข์ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของครอบครัว ชุมชน
2.ระดับตำบล ประกอบด้วย บุคลากรในรพสต.เช่น พยาบาลเวชปฏิบัติ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข ทันตาภิบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ มีหน้าที่เป็นหมอครอบครัว ดูแลปัญหาสุขภาพรักษาพยาบาลเบื้องต้น ประสานส่งต่อเมื่อเกินความสามารถ มุ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค เสริมพลังการพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ยังช่วยประสานกับองค์กรท้องถิ่น ภาครัฐอื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับครอบครัวและชุมชน และยังเป็นพี่เลี้ยงทีมชุมชน และ3.ระดับอำเภอ ประกอบด้วย แพทย์และสหสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ แพทย์เฉพาะทาง แพทย์ทั่วไป ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลเวชปฏิบัติ พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักสุขภาพจิต ในโรงพยาบาลและทีมจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา พี่เลี้ยง สนับสนุนบริหารจัดการพัฒนาศักยภาพแก่ทีมระดับตำบล และระดับชุมชน
ทั้งนี้ได้แบ่งความรับผิดชอบของแต่ละพื้นที่ พื้นที่เขตชนบทเป็นความรับผิดชอบของ รพสต. มีแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนเป็นที่ปรึกษา พื้นที่เขตเมืองเป็นความรับผิดชอบของศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง(ศสม.)มีแพทย์ผู้รับผิดชอบศสม.เป็นแพทย์ที่ปรึกษา 1 คน ต่อ 1 ศสม. ส่วนพื้นที่เขตอำเภอเมือง นอกเขตเทศบาลอยู่ในความดูแลดำเนินการโดย รพสต.และมีแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป เป็นที่ปรึกษา 1 คนต่อรพ.สต. 3 – 5 แห่ง จึงกล่าวได้ว่าระบบบริการสุขภาพตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป จะทั่วถึงทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง ประชาชนเข้าถึงบริการเท่าเทียมกันอย่างไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่
- 8 views