กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้เด็กไทยวัย 3-5ปี พัฒนาการช้า ไม่สมวัย เกือบ 7 แสนคน ส่งผลให้ไอคิวด้อยกว่าคนอื่น เร่งแก้ปัญหาโดยพัฒนานวัตกรรม 3 ด้าน เป็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กระบบใหม่ นำร่องใช้ที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ พบได้ผลดี เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น เตรียมขยายผลใช้ทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯในโอกาสทรงเจริญพระชนพรรษา 5 รอบ
วันนี้ (19 ธันวาคม 2557) ที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และรับฟังการดำเนินโครงการพัฒนาการเด็กล้านนา ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนามาตรฐาน การประเมินและส่งเสริมพัฒนาการในเด็กกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่แรกคลอดจนถึง 5 ปี ใน 8 จังหวัดภาคเหนือเขตสุขภาพที่ 1
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรไทยตลอดช่วงชีวิต เพื่อเพิ่มคุณภาพเด็กไทย เนื่องจากขณะนี้อัตราเกิดคนไทยลดลง ครอบครัวมีลูกไม่ถึง 2 คน โดยเริ่มจากกลุ่มทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะเน้นเรื่องพัฒนาการ เนื่องจากเป็นช่วงทองในการสร้างรากฐานชีวิต ให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย สติปัญญาหรือไอคิว จิตใจ อารมณ์ และสังคม เป็นประชากรที่มีความสมบูรณ์แบบ เป็นกำลังพัฒนาประเทศในอนาคต ผลสำรวจกรมอนามัยในปี 2553 พบว่าเด็กไทยอายุ 3-5 ปี ที่มีจำนวนประมาณ 2.3 ล้านคน มีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 30 หรือประมาณ 7 แสนคน และผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2554 พบว่า เด็กไทยอายุ 6-15 ปีมีค่าเฉลี่ยไอคิวอยู่ที่ 98.8 จุด ต่ำกว่ามาตรฐานคือ 100 จุดได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยแรกเกิด-5 ปีเป็นการเฉพาะ ขณะนี้ประสบผลสำเร็จแล้ว 3 เรื่องได้แก่ 1.ระบบการทำงานในการดูแลส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ตั้งแต่ผู้ปกครอง อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปจนถึงโรงพยาบาลจังหวัดและศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
2.เครื่องมือประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยโดยเฉพาะทั้งกลุ่มเด็กปกติและกลุ่มเด็กที่เสี่ยง ซึ่งมี 2 กลุ่มสำคัญ คือเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยต่ำกว่ามาตรฐานคือ 2,500 กรัม และเด็กที่สมองขาดออกซิเจนตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งผลวิจัยพบว่าเด็ก 2 กลุ่มนี้จะมีพัฒนาการช้า เพื่อใช้สำหรับผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ในรพ.สต.ในการประเมินและส่งเสริมพัฒนาการ และได้รับรางวัลนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศอันดับ 1จากองค์การสหประชาชาติ ประเภทการพัฒนาการให้บริการประชาชน ประจำปี 2556รวมทั้งคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ในในโรงพยาบาลแต่ละระดับใช้เป็นคู่มือดูแลในรายที่มีปัญหา และ3.การจัดทำระบบฐานข้อมูลประวัติและพัฒนาการเด็กแต่ละราย ให้ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผ่านทาง www.thaichilddevelopment.com เป็นเสมือนธนาคารพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะพัฒนาระบบให้เชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายขยายผลการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่กล่าวมา ให้ครอบคลุมทั้งประเทศในเดือนเมษายน 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนพรรษา 5 รอบ 2 เมษายน 2558 และมอบเป็นของขวัญวันเด็กด้วย มั่นใจว่าจะทำให้จำนวนเด็กไทยที่มีพัฒนาไม่สมวัยลดลง และเพิ่มจำนวนเด็กไทยมีพัฒนาการสมวัยไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 85 เพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้
นพ.สมัย ศิริทองถาวร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พัฒนาการเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในการใช้ชีวิต ทำให้อวัยวะต่างในร่างกายและตัวบุคคลสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีทั้งหมด 5 ด้านคือ 1.การเคลื่อนไหว 2.ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญาการเรียนรู้ 3.ด้านการเข้าใจภาษา 4.ด้านการใช้ภาษา และ 5.ด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม การส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้มีประสิทธิภาพจะต้องค้นหาความผิดปกติและกระตุ้นพัฒนาการให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสำคัญ คือเด็กที่มีภาวะน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม และเด็กที่สมองขาดออกซิเจน หากไม่ได้รับแก้ไขอย่างถูกต้องและทันท่วงที ทำให้เกิดความผิดปกติทางสมองตามมา เช่นบกพร่องทางสติปัญญา การเรียนรู้ผิดปกติ สมองพิการ หรือเป็นโรคสมาธิสั้น เป็นต้น
นพ.สมัย กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีการประเมินพัฒนาการเด็กที่พัฒนาขึ้นครั้งนี้ จะเริ่มประเมินเร็วขึ้นตั้งแต่ลืมตาดูโลกในห้องคลอด จากเดิมจะเริ่มประเมินหลังเกิด 1 เดือนเมื่อมารับการฉีดวัคซีนที่คลินิกเด็กดี โดยสถาบันฯ ได้เริ่มโครงการติดตามดูแลและส่งเสริมพัฒนาการเด็กระยะยาวในกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาพัฒนาการ ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วยเชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน และพะเยา ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2556-ปัจจุบันพบว่า ได้ผลดี เด็กกลุ่มเสี่ยงมีแนวโน้มพัฒนาการดีขึ้นหลังได้รับการติดตามและช่วยเหลือกระตุ้นพัฒนาการแต่ละด้านที่มีปัญหา โดยในกลุ่มเด็กน้ำหนักตัวน้อย 2,355 คน ประเมินพัฒนาการรอบแรกพบสมวัยร้อยละ 80 หลังได้รับการช่วยเหลือมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 85 ส่วนกลุ่มเด็กที่สมองขาดออกซิเจนแรกเกิด ประเมินพัฒนาการ 555 คน ครั้งแรกพบพัฒนาการสมวัยร้อยละ 81 หลังได้รับการดูแลกระตุ้นพัฒนาการ พบว่ามีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 84
ทั้งนี้ ในการติดตามส่งเสริมพัฒนาการเด็กนั้น โรงพยาบาลทุกระดับจะต้องให้ความสำคัญในการคัดกรองพัฒนาการเด็กแรกเกิดทุกคนโดยใช้คู่มือดังกล่าว และในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ควรติดตามเฝ้าระวังพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยงทุกราย ส่วนรพ.สต.ควรจัดให้มีคลินิกเด็กดีอย่างน้อยเดือนละ 2 วัน และพัฒนาความรู้เจ้าหน้าที่ในรพ.สต.ในการใช้คู่มือประเมินพัฒนาการเด็กและการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยง ติดตามเด็กกลุ่มเสี่ยงในชุมชน คัดกรองพัฒนาการเด็ก เพื่อบันทึกข้อมูลพัฒนาการเด็กในฐานข้อมูลของโรงพยาบาลชุมชนต่อไป ขณะนี้สถาบันฯได้จัดทำคู่มือประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เช่น ซีดี หนังสือ โปสเตอร์ ในระบบออนไลน์ เจ้าหน้าที่และประชาชนที่สนใจสามารถดาวน์โหลด ที่ www.thaichilddevelopment.com ฟรี
- 273 views