อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดตัว "ศูนย์ประสานงาน การผ่าตัดหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี" รองรับผู้ป่วย โรคหัวใจกรณีต้องการได้รับการผ่าตัด เร่งด่วนเพื่อลดขั้นตอนการรักษา เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย
17 ธ.ค.57 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี พ.ศ.2554-2556 พบว่าอัตราการ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี พ.ศ.2556 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่รุนแรง และต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน งานศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงาน ที่ดำเนินการด้านดูแลผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ในระยะ10 ปี ที่ผ่านมา ผ่านรูปแบบบริการ One Stop Service ทำให้ ผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจได้รับการรักษาที่เหมาะสม ลดอัตราการพิการจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้ จึงเป็นแนวคิดริเริ่มสำคัญของ การเปิดศูนย์ประสานงานการผ่าตัดหัวใจ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจในผู้ใหญ่ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการในเวลาที่เหมาะสมต้องรอคอยการผ่าตัดเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น และบางรายเสียชีวิตก่อนได้รับการรักษา
ศูนย์ฯดังกล่าว จะบริการผู้ป่วยโรคหัวใจ แบบครบวงจร ได้แก่ การประสานงาน การวินิจฉัยโรคการผ่าตัดหัวใจ บริหารคิว การผ่าตัดตามความต้องการเร่งด่วนและ การดูแลผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยและญาติที่ต้องการเข้ารับการตรวจรักษา โดยศูนย์ประสานงาน การผ่าตัดหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี จะทำหน้าที่ประสานงานกับ ผู้ป่วย ญาติและโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ เพื่อจัดการให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัย และการผ่าตัดอย่างรวดเร็ว ในกรณี มีข้อสงสัย ผู้ป่วยและญาติสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ประสานงานได้โดยตรง ทำให้ผู้ป่วย โรคหัวใจที่รอการผ่าตัดได้รับโอกาสเข้าถึงบริการ ที่มีประสิทธิภาพและได้รับการรักษาในเวลา ที่เหมาะสม และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษาของญาติผู้ป่วย
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอาการที่บ่งชี้ว่า มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ คือ เจ็บแน่นๆ อึดอัดบริเวณกลางหน้าอก อาจจะเป็น ด้านซ้ายหรือทั้ง 2 ด้าน บางรายจะร้าวไปที่ แขนซ้ายหรือทั้งสองข้างบางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน มักจะเกิดขึ้น ขณะออกกำลัง เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือ ขึ้นบันไดวิ่ง โกรธโมโห
อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลัง ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้น ในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หรือ หลังอาหาร นอกจากนี้จะมีการเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นเวลาออกแรงแต่ในรายที่เป็นรุนแรง จะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้
หากพบว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ความเครียด จะต้องได้รับการรักษาและดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดและการปฏิบัติตน เพื่อหลีกเลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจโดย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เปลี่ยนแปลงนิสัยการกิน งดอาหารมัน เค็มเพิ่มอาหารพวกผัก ผลไม้ และพวกเส้นใยต่างๆทำจิตใจให้แจ่มใส งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อประเมินภาวะสุขภาพและระดับความเสี่ยงซึ่งเป็นปัจจัยการเกิดโรคหัวใจได้
หมายเหตุ : ผู้สนใจสอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลราชวิถี โทร. 0 2354 8108-37 ต่อ 4100
- 14 views