ความขัดแย้งร้าวลึกระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่ใช่เพิ่งเกิด หากแต่เพิ่งปรากฏเป็นรูปธรรมชัดในช่วงกลางปี 2557 เป็นต้นมา
ตั้งแต่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2545 บทบาทของ สธ.ก็ถูกลดทอนลงเป็นเพียง “ผู้ให้บริการ” เท่านั้น ส่วนงบประมาณมหาศาล (เดิมอยู่ที่ สธ.) กลับโอนถ่ายไปยัง สปสช.ในฐานะ “ผู้ซื้อบริการ” ให้เป็นผู้ถือครอง
สภาพการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้ถือเงินอย่าง สปสช.มีอำนาจต่อรองกับ สธ.ได้อย่างไม่หวั่นเกรง ขณะที่ สธ.ก็ระอุด้วยความไม่พึงพอใจมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา
“จุดเปลี่ยนแรก” ที่ทำให้อุณหภูมิคุกรุ่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกิดขึ้นช่วงปี 2556 ในยุครัฐบาลเพื่อไทย ขณะนั้นมี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สธ. และมี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. เป็นลมใต้ปีก
นพ.ณรงค์ ได้ผลักดันนโยบาย “เขตสุขภาพ” ผ่าน นพ.ประดิษฐ โดยมุ่งหวังให้แต่ละพื้นที่ใช้ทรัพยากรร่วมกัน สาระสำคัญคือให้ควบรวม 7-8 จังหวัดเป็น 1 เขตสุขภาพ (ทั่วประเทศมี 12 เขต) และแต่ละเขตมี “ผู้ตรวจราชการ” เป็น “ซีอีโอ”
เหนือสิ่งอื่นใด นพ.ณรงค์ ต้องการให้มีการ “เปลี่ยน” รูปแบบการจัดสรรงบประมาณ โดยให้ สปสช.จ่ายเงินไปยัง 12 เขตสุขภาพ และให้แต่ละเขตสุขภาพไปจัดสรรให้กับพื้นที่ต่างๆ เอง ตามความเหมาะสม
หากเป็นไปตามที่ นพ.ณรงค์ ต้องการ เท่ากับว่า สธ.สามารถ “ยึดอำนาจ” คืนกลับมาจาก สปสช.ได้สำเร็จ นั่นเพราะแม้ว่าสำนักงบประมาณจะจัดสรรเงินมายัง สปสช. แต่ สปสช.ต้องจ่ายเงินต่อไปยัง “เขตสุขภาพ” ซึ่งมีซีอีโอเป็นคนของ สธ.ดูแลอยู่
แน่นอนว่า สปสช.ไม่ยินดี แต่ทว่าก็ไม่อาจทัดทานได้ เนื่องด้วยทั้งหมดเป็นการตัดสินใจระดับนโยบายซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุม
ความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยระหว่าง สธ.กับ สปสช.สานต่อเรื่อยมา กระทั่งมี “จุดเปลี่ยนที่สอง” เกิดขึ้น ภายหลัง นพ.ณรงค์ ประกาศจุดยืนทางการเมือง “ไม่เอารัฐบาลโกง” เมื่อช่วงต้นปี 2557 นำมาซึ่งแรงหนุนจากข้าราชการ สธ.ทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่ผูกโยงเข้ากับการเคลื่อนไหวของ กปปส.
ในห้วงเวลาที่ นพ.ณรงค์ อยู่ในสถานะ “ฮีโร่” เขาได้ประกาศ “พิมพ์เขียวปฏิรูป” ฉบับ สธ. ซึ่งเนื้อหาเป็นการ “ยืนยัน” นโยบายเขตสุขภาพอีกครั้ง และครั้งนั้นถือว่ามีความเป็นไปได้สูงถึงขนาดที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศว่า หากมวลมหาประชาชนได้รับชัยชนะ จะประกาศใช้ “พิมพ์เขียว” ของ นพ.ณรงค์ ทันที
นั่นยิ่งทำให้ สปสช.ออกอาการกระสับกระส่ายมากขึ้น
“จุดเปลี่ยนสุดท้าย” เกิดขึ้นเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อที่ยังไม่จัดตั้งรัฐบาล นพ.ณรงค์ ซึ่งถือว่ามีอำนาจเต็มได้ผลักดันนโยบายเขตสุขภาพ และยุบกองทุนย่อยของ สปสช.จาก 14 กองทุน(ในขณะนั้น) เหลือเพียง 4 กองทุน พร้อมออกคำสั่งห้ามบุคลากร สธ.ร่วมสังฆกรรมกับ สปสช.เด็ดขาด
ครั้งหนึ่ง นพ.ณรงค์ ได้เชิญ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคสช.และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ร่วมหารือ 2 ฝ่าย มุ่งหวังให้ พล.ร.อ.ณรงค์ สั่ง สปสช.ให้โอนงบประมาณลงไปยังเขตสุขภาพ แต่ยังไม่ทันถึงวันประชุม สปสช.กลับทราบข่าว จึงต่อสายตรงถึง “บิ๊กทหาร” เพื่อขอเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ที่สุดแล้วการผลักดันของ นพ.ณรงค์ ก็พังพาบไม่เป็นท่า
จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ตัดสินใจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง และจัดตั้ง “ครม.ประยุทธ์ 1”ขึ้น ปรากฏชื่อ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็น รมว.สธ. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็น รมช.สธ.
การแต่งตั้งครั้งนี้ถือเป็น “จุดแตกหัก” ระหว่าง สธ.กับ สปสช.
ด้วยสัมพันธ์อย่างแนบแน่นของ นพ.รัชตะ นพ.สมศักดิ์ และทีมที่ปรึกษารัฐมนตรี กับบุคลากรใน “องค์กรตระกูล ส.” ชนิดกลมเกลียวเป็นเนื้อเดียวกัน และบุคลากร “องค์กรตระกูล ส.” กลุ่มเดียวกันนี้ ก็มีบทบาทใน สปสช.อยู่ไม่น้อย
เท่ากับว่าคู่ขัดแย้งของ นพ.ณรงค์ ไม่ใช่แค่ สปสช.เท่านั้น หากแต่คือ รมว.สธ. รมช.สธ. และทีมที่ปรึกษาทั้งหมด
เป็นเหตุให้ นพ.ณรงค์ ตัดสินใจแตกหัก “เปิดหน้าชก” เดินสายทั่วประเทศปลุกระดมแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ให้ต่อต้าน สปสช. โดยพยายามโน้มน้าวเห็นถึงความล้มเหลวของ สปสช. และภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้การทำงานร่วมกับ สปสช.
ที่สำคัญ ในทุกครั้งที่ นพ.ณรงค์ เดินสายปราศรัย จะแต่งเครื่องแบบสีกากีเพื่อปลุก “ศักดิ์ศรีข้าราชการ” ไม่ให้สยบยอมต่อ สปสช. หนำซ้ำเมื่อช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ.คู่ใจ ยังได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ สสจ.ประชุมร่วมกับ สปสช.เป็นอันขาด
ส่งผลให้การวางแผนเพื่อจัดสรรงบประมาณปี 2558 (ขาลง) ในพื้นที่ต้องหยุดชะงัก คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต(อปสข.) ของ สปสช. ไม่สามารถประสานงานกับ สสจ.ได้
มหากาพย์ความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยาวนานกว่า 1 ปี เสมือนว่าจะได้ “บทสรุป” เบื้องต้น ในการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายเขตสุขภาพของ นพ.ณรงค์ จึงมีมติให้จัดสรรงบประมาณปี 2558 ลงไปยังสถานบริการตามเดิมไปก่อน
นพ.รัชตะ ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. บอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะจัดสรรงบประมาณในรูปแบบใหม่ตามที่ นพ.ณรงค์ เสนอ แต่ได้มอบหมายให้ คณิศ แสงสุพรรณ บอร์ด สปสช. ทดลองจัดสรรงบประมาณในรูปแบบใหม่ใน 2 เขต และให้สรุปผลเสนอบอร์ดอีกครั้งภายใน 1เดือน
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกอย่างจะจบ นั่นเพราะเช้าวันรุ่งขึ้น นพ.ณรงค์ ได้แสดงความไม่พอใจกับ สสจ.ทั่วประเทศ พร้อมตั้งคำถามเชิงปลุกระดมอีกครั้งว่า จะอยู่กันอย่างนี้ต่อไปหรือ
“ผมเหลืออายุราชการอีกเพียง 9 เดือนก็จะเกษียณ ถามว่าหลังจากผมไปแล้วจะอยู่กันเหมือนเดิมหรือ" นพ.ณรงค์ ตั้งคำถาม
ถัดจากนั้นเพียง 2 วัน ฟากฝั่ง สปสช.เปิดโต๊ะแถลง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่แสดงจุดยืน “ชักธงรบ” หลังจากสงวนท่าทีมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
“การโจมตีของ นพ.ณรงค์ ที่ให้ร้ายว่า สปสช.บริหารงานไม่มีหลักการ ไร้ธรรมาภิบาล ทำให้ โรงพยาบาลสังกัด สธ.จำนวนมาก ขาดทุน และที่ว่า สปสช.สร้างเงื่อนไข ไม่ยอมรับการปฏิรูประบบการเงินให้กระจายงบลงไปยังเขตบริการสุขภาพนั้น ทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง ถือเป็นการโจมตีด้านเดียว ส่วนที่กล่าวหาว่า สปสช.โอนเงินให้โรงพยาบาลแล้วเรียกเงินกลับนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบ”
“ข้อเสนอปฏิรูประบบการเงินการคลังของ สธ. ได้มีการเรียกประชุมอนุกรรมการการเงินการคลังหลายครั้ง แต่ตัวแทน สธ.ไม่เคยเข้าร่วม ไม่เคยมีข้อเสนออย่างเป็นทางการ จนกระทั่งส่งข้อเสนอเย็นวันที่ 4 ธ.ค. ก่อนประชุมบอร์ด สปสช.ในวันที่ 8 ธ.ค. เพียง 4 วัน และเป็นวันสุดท้ายก่อนวันหยุดราชการ ชัดเจนว่าปลัด สธ. ต้องการลักไก่เสนอเข้ามาโดยไม่ให้บอร์ด สปสช.ทราบข้อเสนอล่วงหน้า” เลขาธิการ สปสช. กล่าวชัด
ตามที่ นพ.ณรงค์ กล่าว คือเหลือเวลาอีก 9 เดือนถึงจะเกษียณ ศึกระหว่าง สธ.-สปสช. ก็คงดำเนินต่อไป อย่างน้อยๆ ก็จนกว่า ปลัดสธ.รายนี้ จะอำลาตำแหน่ง และระหว่างนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อฝั่งของ นพ.รัชตะ-นพ.สมศักดิ์ ที่ถูกมองว่ามีเครือข่าย ส.หนุนหลัง ก็จะยังคงอยู่ในอาการ ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก กันต่อไป พร้อมๆกับแบกข้อครหาไร้ผลงานที่หนักอึ้งขึ้นทุกวัน...
- 9 views