สปสช.โต้เดือดปลัดสธ. ให้ร้ายบริหารมั่ว ทำ รพ.สังกัด สธ. 105 แห่งขาดทุน ไม่จริง แถมตัดตอนและบิดเบือนข้อมูล ยันบริหารตามหลักเกณฑ์ มีกฎหมายรองรับ พร้อมแจงวิกฤตหากเดินหน้าข้อเสนอปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายตาม สธ. สิทธิรักษาพยาบาลประชาชนเหลือแค่อนาถา ขึ้นอยู่กับความสงเคราะห์ของรพ. ไม่ได้เป็นสิทธิประชาชน ที่รพ.ต้องให้การรักษา เปลี่ยนสปสช.จากฐานะผู้ซื้อบริการแทนประชาชนเหลือหน้าที่แค่นักบัญชี เสนอตั้ง “คณะกรรมการร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุ รพ.ขาดทุนแก้ไขปัญหาร่วมกัน” พร้อมจวก “หมอณรงค์” ลักไก่ เสนอปรับจัดสรรงบ ไม่ทำตามขั้นตอน แถมโวยวายหลัง บอร์ด สปสช.ไม่สนอง
12 ธ.ค.57 หลังจากสปสช.เปิดแถลงข่าวชี้แจงประเด็นที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า การบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นเหตุให้ รพ.สังกัด สธ.จำนวน 105 แห่งขาดทุน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแถลงโดย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อม นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ และ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสปสช. มีรายละเอียดดังนี้
นพ.วินัย กล่าวว่า การให้ร้ายของปลัดสธ. ทั้ง สปสช.บริหารห่วย ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ แบ่งการจัดสรรงบกองทุนย่อยที่ทำให้เกิดปัญหางบค้างท่อ โดยข้อกล่าวหาเหล่านี้ระบุว่านำมาสู่การขาดทุนของรพ. รวมไปถึงการบริหารของสปสช.ที่ทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นหมออนามัยหน้าจอ สปสช.จึงขอชี้แจงตามข้อกล่าวหาดังนี้
1.สปสช.บริหารมั่ว ไม่เป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะการเรียกเงินคืนจากรพ.นั้น ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า ระบบบริหารสปสช.เป็นการส่งงบล่วงหน้าไปยังหน่วยบริการที่ประเมินจากการให้บริการผู้ป่วยย้อนหลัง ซึ่งยืนยันว่าที่ผ่านมา สปสช.ไม่เคยเรียกเงินคืนจากรพ.แต่อย่างใด แต่ใช้วิธีหักลบกลบหนี้แทน โดยปี 2557 อยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท หรือเพียง 4-5% ของงบประมาณ ประเด็นนี้ปลัด สธ.อาจรู้น้อยและไม่เข้าใจ เป็นเพราะว่าท่านนานๆ เข้าร่วมประชุมบอร์ด ยืนยันว่าเป็นวิธีบริการจัดการ ไม่ใช่การบริหารมั่วอย่างที่ระบุ
2.สปสช.บริหารงบไม่ถูกวัตถุประสงค์ มีการส่งเงินไปยังหน่วยงานต่างๆ ยืนยันว่า การบริหารงบประมาณส่วนนี้เป็นไปตาม ม.18 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีระเบียบวาระชัดเจน สนับสนุนการพัฒนาบริการให้กับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้ง สป.สธ. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 0.42 % ของงบส่วนใหญ่ที่ต้องส่งไปยังหน่วยบริการโดยตรง
3.สปสช.บริหารรูปแบบกองทุนย่อย ทำให้รพ.ขาดทุน เกิดปัญหางบค้างท่อ ขอชี้แจงว่า การออกแบบบริหารกองทุนย่อยเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งการจ่ายเป็นไปตามบริการของหน่วยบริการที่จะส่งงบลงไปโดยตรง
4.สปสช.ทำให้เจ้าหน้าที่รพ.สต. เป็นหมออนามัยหน้าจอ ต้องเรียนว่า ข้อมูลการบันทึกเจ้าหน้าที่รพ.สต. เป็นไปตามนโยบายสธ. คือ ข้อมูล 43 แฟ้ม ที่ผ่านมามีเพียงบางข้อมูลเท่านั้นที่เป็นของสปสช. ได้แก่ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และเบาหวาน ความดัน เป็นต้น ต้องบอกว่า ข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลสำคัญต่อระบบอย่างมากต่อการวิเคราะห์งานในระบบสุขภาพ การส่งสัญญานของปลัดสธ.อาจทำให้เจ้าหน้าที่รพ.สต.คิดว่าเป็นข้อมูลไม่จำเป็น ดังนั้นปลัดควรที่จะพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลที่ง่าย และจัดระบบใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์และวางแผน
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้ ปลัดสธ.ระบุว่า นำมาสู่รพ.ขาดทุน ซึ่งต้องชี้แจงว่า การขาดทุนคือต้องมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย โดยรายรับรพ.มีทั้งจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และผู้ป่วยจ่ายเงินโดยตรง ขณะที่รายจ่ายมีทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทน โอทีบุคลากร ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าอาคารสถานที่ และจากนโยบายรัฐที่ให้ปรับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท การปรับค่าแรง 300 บาท รวมถึงการปรับสถานะลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้รพ.มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน
นพ.วินัย กล่าวว่า การบริหารรพ.เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อรพ.ขาดทุน ซึ่งเรื่องนี้ปลัดสธ.ทราบดีว่า รพ.หลายแห่ง โดยเฉพาะ รพ.ที่มีตัวเลขติดลบ เมื่อมีการเปลี่ยนตัว ผอ.รพ. อย่าง รพ.สวรรค์ประชารักษ์ รพ.มหาราชนครราชสีมา และ รพ.ชลบุรี งบประมาณกลับเป็นบวก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาบริหารจัดการ แต่ในส่วน รพ.ที่มีปัญหาสภาพคล่องจากปัญหาพื้นที่ทุรกันดาร ประชากรน้อย ต้องช่วยกัน โดยในปี 2558 ได้มีการกันงบพิเศษ 500 ล้านบาท เพื่อดูแล รพ.เหล่านี้ รวมทั้งยังมีการเพิ่มเติมในส่วนงบค่าตอบแทน 3,000 ล้านบาท การกันเงินเดือนไว้ที่ส่วนกลาง 3% และยังมีการกันงบผู้ป่วยนอกไว้ที่ระดับเขต ดังนั้นการที่ระบุว่าการบริหาร สปสช.เป็นเหตุให้ รพ.สธ.ขาดทุนจึงไม่ใช่
นพ.วินัย ยังได้กล่าวถึงการนำเสนอข้อมูลปลัดสธ.ต่อที่ประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า ถือว่าปลัดสธ.ตั้งใจลักไก่ เนื่องจากข้อมูลที่ปลัดสธ.นำเสนอนั้น โดยปกติตามขั้นตอนการบริหารต่อส่งให้บอร์ดสปสช.ศึกษาล่วงหน้า 1 สัปดาห์ แต่ข้อมูลเหล่านี้ทางสธ.กลับนำเสนอมายังสปสช.ช่วงเย็นวันที่ 4 ธ.ค. อีกทั้งการนำเสนอข้อมูลของปลัดสธ. จาก 47 สไลด์ จำนวนนี้เป็นข้อมูลปรับจัดสรรงบประมาณเพียง 3 สไลด์เท่านั้น ที่เหลือเป็นข้อมูลใส่ร้ายสปสช. นอกจากนี้ปลัด สธ.ยังพยายามโหวตให้กดดันทั้งที่ไม่มีการนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ทั้งนี้ หากสปสช.ทำตามข้อเสนอตามที่ปลัดสธ.นำเสนอจะส่งผล คือ 1.สปสช.จะถูกเปลี่ยนจากหน้าที่ผู้ซื้อบริการเป็นแค่คนทำบัญชี 2.ข้อเสนอของสธ.เป็นไปเพื่อแก้ไขสภาพคล่องให้กับหน่วยบริการ ไม่ได้เป็นไปเพื่อบริการประชาชน โดยเฉพาะโรคยากซับซ้อน โดยการเข้าถึงการรักษาของประชาชนจะขึ้นอยู่กับคำมั่นสัญญาของปลัดสธ. ที่ไม่ใช่วิธีการบริหารกลไกทางการเงินแบบสปสช. 3.ประชาชนจะถูกปรับเปลี่ยนจากสิทธิรักษาพยาบาล เป็นเพียงแค่การอนุเคราะห์ และนานไปจะกลายเป็นคนไข้อนาถาในที่สุด และ 4. ข้อเสนอสธ.เป็นการเปลี่ยนหลักการจัดสรรงบ การใช้หลักเกณฑ์และกลไกทางการเงินเป็นดุลยพินิจ และ 5.นำมาสู่การยุบสปสช.ในที่สุด
“ปัญหาขาดทุนของ รพ.สังกัด สธ. เห็นว่า รมว.สาธารณสุขควรจะแต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนและผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วน รวมทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อมาร่วมกันวิเคราะห์ว่า ปัญหาสภาพคล่องของ รพ.สังกัด สธ.มาจากสาเหตุได้ เพื่อจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ต้องหยุดให้ร้ายและหันมาแก้ไขปัญหา” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน นพ.ประทีป กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็น สปสช.จ่ายงบประมาณไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ว่า งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2557 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.งบชดเชยหน่วยบริการ 1.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 99 ที่เป็นงบส่วนใหญ่ และ 2.งบส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข ทั้งตาม ม.41 ในการชดเชยเบื้องต้นให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ และ ม.47 ซึ่งเป็นงบส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข งบสนับสนุนอปท. และงบเพื่อพัฒนาระบบบริการ ติดตามประเมินผลการเข้าถึงบริการประชาชน โดยงบส่วนนี้อยู่ที่ 700 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 0.42 ของงบเหมาจ่ายรายหัว
นพ.ประทีป กล่าวว่า การที่ปลัดสธ.ออกมากล่าวหาว่า สปสช.จัดงบให้หน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยมหิดลเนื่องจากมีความเกี่ยวข้อกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข จัดสรรงบให้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) เพราะ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข เป็นอดีตเลขาธิการ มสช. รวมถึงการจัดสรรงบให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะ นส.สารี อ๋องสมหวัง บอร์ดสปสช. เป็นเลขาธิการมูลนิธินั้น ต้องชี้แจงว่า กรณีของมหาวิทยาลัยมมหิดล เป็นการให้งบเพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในการนำมาปรับปรุง ขณะที่ มสช. เนื่องจาก สธ.มีการจัดทำแผน Service Plan ซึ่งแต่ละกรมต้องมีศูนย์วิชาการเพื่อพัฒนางานในระบบ จึงได้รวมศูนย์โดยมอบให้ มสช.ดำเนินการ ส่วนกรณีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น เป็นการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการทำงานตามมาตรา 50(5) ในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน จึงต้องมีหน่วยงานในการสนับสนุนและควรเป็นการดำเนินการโดยประชาชน
“งบประมาณที่ให้หน่วยงานข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และข้อเท็จจริงการจัดสรรงบก้อนนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นการจัดสรรให้กับสำนักงานปลัด สธ.และกรมต่างๆ ในสังกัด สธ.รวมทั้ง สสจ.และ สสอ.เพื่อพัฒนาระบบบริการให้ประชาชนเข้าถึง” นพ.ประทีป กล่าว
ขณะที่ นพ.พีรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหา รพ.ขาดทุนนั้น เมื่อดูในส่วนรายรับนอกจากที่เลขาธิการสปสช.ให้ข้อมูลข้างต้นแล้ว ยังมีงบที่ได้รับตรงจากสธ. ทั้งในส่วนงบเงินเดือน รวมถึงงบบริการประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะ ซึ่งสปสช.ต้องการข้อมูลเหล่านี้ เพื่อแก้ไขปัญหารพ.ขาดทุนร่วมกัน โดยในวันที่ 12 ธ.ค. นี้ จะมีการประชุม ผอ.รพ.ที่ประสบวิกฤตขาดทุนเพื่อนำตัวเลขรายรับรายจ่ายมาพูดคุยและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
- 10 views