ศาลฎีกาสั่งไม่รับฎีกาฟ้อง "แพทย์-โรงพยาบาลพญาไท1" ทำคลอดเป็นเหตุให้ลูกพิการ ชี้ยื่นฟ้องหลังพ้นกำหนดเวลาฎีกา 1 เดือน 'ปรียนันท์' พ้อสู้คดีมา 23 ปี แต่ตกม้าตาย ทนายยื่นคำร้องไม่ทัน เผยรู้สึกเสียใจที่เกิดความผิดพลาดเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาโทรถามทนายจากกระทรวงยุติธรรมมาตลอด เล็ง 3 ทางเลือกต่อสู้คดีต่อไป
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : วานนี้ (11 ธ.ค.) ที่ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลฎีกาอ่านคำสั่งที่ นายพิทักษ์พงค์ ล้อเสริมวัฒนา หรือ น้องเซนต์ อายุ 23 ปี ผู้เสียหายทางการแพทย์ โจทก์คดีผู้บริโภค หมายเลขดำที่ ผบ.1821/2552 อุทธรณ์คำสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาและคำขออนุญาตฎีกาของโจทก์ คดีที่ยื่นฟ้องคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย 57 ล้านบาท กับ บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) เจ้าของโรงพยาบาลพญาไท 1 พญ.ยรรยงค์ มังคละวิรัช และ นพ.สันติ สุทธิพินทวงศ์ จำเลยที่ 1-3
จากกรณีเมื่อปี 2534 ร่วมกันทำคลอดเป็นเหตุให้ นายพิทักษ์พงค์ ติดเชื้อทำให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายขายาวไม่เท่ากัน กระทั่งปัจจุบัน อายุ 18 ปี พบว่า เกิดความผิดปกติกระดูกสันหลังเคลื่อน โพรงไขสันหลังตีบแคบ และหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับไขสันหลังและเส้นประสาท ที่เป็นความเสียหายใหม่ โดยใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551
โดยคดีนี้ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา มารดา ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จำเลยที่ 1-3 ต่อศาลแพ่งในคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหาย 57 ล้านบาท โดยฝ่ายจำเลยยื่นคำคัดค้านอ้างว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับสำนวนที่เคยฟ้องคดีศาลแพ่งที่ศาลวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความแล้ว
ส่วนโจทก์ได้คัดค้านคำให้การฝ่ายจำเลยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายใหม่ ต่อเนื่องจากความเสียหายเดิมอันเป็นผลจากการ กระทำของจำเลย ส่วนประเด็นการฟ้องซ้ำนั้นศาลยังไม่เคยพิจารณาวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงขอให้ศาลยกคำคัดค้านของจำเลย
ขณะที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2552 ให้ยกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่า โจทก์ บรรยายฟ้องว่าพวกจำเลยได้ทำประมาท เป็นเหตุให้โจทก์พิการ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากมูลคดีหมายเลขแดงที่ 12300/2543 ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดให้ยกฟ้อง โรงพยาบาลพญาไท 1 กับพวกไปแล้ว เพราะคดีหมดอายุความแพ่ง 1 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาที่สิ้นสุดและเป็นกรณีที่มีคู่ความเดียวกัน
ดังนั้นฟ้องโจทก์คดีผู้บริโภคนี้จึงเป็นการฟ้องซ้ำ และเมื่อพบว่าโจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยในคดีแพ่ง ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ดังนั้นเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาใน คดีแพ่งเป็นที่สิ้นสุดว่าคดีขาดอายุความแล้ว ฟ้องโจทก์คดีผู้บริโภคนี้จึงขาดอายุความด้วย
ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืนยกฟ้อง โจทก์จึงยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับฎีกา โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว
ทั้งนี้ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ แผนกคดีผู้บริโภคเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณา คดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 49 วรรคสอง เว้นแต่จะมีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
โดยการยื่นคำร้องเพื่อขออนุญาตฎีกานั้นต้องยื่นพร้อมกับฎีกาคดีของโจทก์ ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง ของศาลอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดี ผู้บริโภค มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาเกินกำหนด เวลา ดังนั้นเป็นการยื่นที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาจึง มีคำสั่งให้ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาและไม่รับฎีกาโจทก์
แต่ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ฯ เกี่ยวกับการฎีกา กำหนดว่าให้ศาลฎีกาเท่านั้น ที่มีอำนาจในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตฎีกา และรับหรือไม่รับฎีกา ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาและยกคำขออนุญาตฎีกาของโจทก์นั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งใหม่ให้ถูกต้อง โดยให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาและยกคำขออนุญาตฎีกาของโจทก์
นางปรียนันท์ กล่าวว่า กรณียื่นฎีกาพ้นกำหนดนั้น ปัญหาก็มาจากทนายความไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาภายในกำหนด 30 วัน ซึ่งระหว่างจะยื่นฎีกาเป็นช่วงที่เกิดอุทกภัยพอดี แต่ก็พยายามติดตามคดี โดยโทรสอบถามทนายจากกระทรวงยุติธรรมว่าได้ยื่นคำร้องขอฎีกาหรือยัง ทนายผู้นี้เคยเป็นประธานที่ปรึกษาผู้ใหญ่ในกระทรวงจึงไว้ใจแต่ก็ยังพลาดตกม้าตายตอนจบ
นางปรียนันท์ กล่าวว่า เมื่อผลออกมา เช่นนี้ ต้องตั้งสติและมองว่าทางออกอาจมี 3 ทาง คือ 1.เราจะยังสามารถนำมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปี 2551 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่ 2.สามารถยื่นฟ้องกระทรวงยุติธรรมได้หรือไม่กรณีที่ทนายความได้ทำให้เกิดความเสียหายเพราะเราเสียโอกาสในการต่อสู้คดี และ3.เราจะยังสามารถดำเนินคดีอาญากับแพทย์ทั้งสองได้หรือไม่
"หลังจากสู้คดีมากว่า 20 ปี มีความหวังจะนำข้อเท็จจริงสู่กระบวนการพิสูจน์ และอยากให้เป็นบรรทัดฐานสังคม แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดเช่นนี้ก็รู้สึกเสียใจ" นางปรียนันท์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ธันวาคม 2557
- 423 views