ผู้ตรวจราชการ สธ. พร้อมสาธารณสุขนิเทศก์ยื่นหนังสือ “หมอรัชตะ” จี้ตอบคำถาม ยื้อเวลาจัดสรรงบบัตรทองเป็นมติบอร์ด สปสช. หรือข้อสรุปประธานบอร์ด ชี้ทดลองจัดสรรงบแบบใหม่ไม่จำเป็น เหตุมีข้อมูลศึกษามากว่า 2 ปีแล้ว พร้อมเร่งแก้ปัญหา รพ. ขาดทุน และ สปสช. จัดสรรเงินไม่โปร่งใส นำเงินบัตรทองให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ

       
11 ธ.ค.57 เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสาธารณสุขนิเทศก์ นำโดย นพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 1 ในฐานะหัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ. ได้ยื่นหนังสือถึง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. เพื่อสอบถามถึงมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2558 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา
       
นพ.คำรณ กล่าวว่า ผู้ตรวจราชการ สธ. และสาธารณสุขนิเทศก์ ซึ่งรับผิดชอบการบริหารเขตสุขภาพ และทำงานในพื้นที่ ได้รับทราบมติบอร์ด สปสช. ว่า ให้จัดสรรงบโครงการหลักประกันสุขภาพภ้วนหน้า หรือบัตรทอง ในไตรมาสสองลงไปยังสถานบริการตามหลักการเดิม และให้ไปทดลองการจัดสรรงบประมาณรูปแบบใหม่ที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในบอร์ด สปสช. เสนอ ทำให้รู้สึกไม่สบาย จึงขอให้ รมว.สธ. ตอบคำถามใน 3 เรื่อง คือ 

1.ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นมติบอร์ด สปสช. หรือเป็นข้อสรุปของประธานบอร์ด สปสช.เอง

2.การที่ สปสช. บริหารงบประมาณโดยใช้การเงินนำการบริการกว่า 12 ปี จนเกิดความทุกข์แก่บุคลากรสาธารณสุขและมีปัญหาในระบบบริการสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนประสบปัญหาการเงินร้อยกว่าแห่ง รมว.สธ.ทราบปัญหาเหล่านี้หรือไม่ และจะแก้ไขอย่างไร

3.ในฐานะที่เป็นประธานบอร์ด สปสช. จะดำเนินการอย่างไรกับการที่ สปสช. นำเงินเหมาจ่ายรายหัวเพื่อการรักษาพยาบาลไปอุดหนุนหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ เช่น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) รวมทั้งการจัดการด้านการเงินที่ไม่โปร่งใสของ สปสช.
       
ด้าน นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 4 กล่าวว่า การปรับการจัดสรรงบประมาณยืดเยื้อมานาน โดยครั้งแรกบอร์ด สปสช. มีมติให้คณะอนุฯ การเงินการคลังที่มี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน ไปทำงานร่วมกับ สธ. และ สปสช. เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเท่าที่ทราบก็เห็นตรงกันในหลักการ คือ ให้ สปสช. เป็นผู้ซื้อบริการในระดับเขต โดยในที่ประชุมบอร์ด สปสช. กรรมการส่วนใหญ่ล้วนแต่เห็นด้วยกับข้อเสนอร่วมที่คณะอนุฯการเงินการคลังเสนอ มีส่วนน้อยที่ยังไม่เห็นด้วย ซึ่งปลัด สธ. ก็เสนอให้มีการโหวต และน่าจะผ่านเป็นมติบอร์ด สปสช. เพราะกรรมการส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่สุดท้ายประธานบอร์ด สปสช. กลับให้ไปศึกษาต่ออีก โดยการจัดสรรงบในไตรมาสสองให้คงตามหลักการเดิม จึงตั้งข้อสงสัยว่านี่เป็นมติของบอร์ด สปสช.หรือข้อสรุปของประธานบอร์ด สปสช. กันแน่

     
นพ.มรุต กล่าวว่า การที่ให้ไปทดลองจัดสรรงบรูปแบบใหม่ใน 2 เขต คือ เขตสุขภาพที่ 2 และ 10 นั้น จริงๆ เรามีการศึกษามานานกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งกลุ่มประกันสุขภาพก็มีข้อมูลทั้งหมด และได้ยื่นเสนอไปยังคณะอนุฯการเงินการคลังตั้งแต่แรกแล้ว เหตุใดจึงต้องไปศึกษาอีก ทั้งนี้ จะนำข้อมูลเหล่านี้มาเสนออีก เพราะตั้งใจจะให้เข้าสู่บอร์ด สปสช. โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ การให้ไปทดลองศึกษาในเขต 2 ก็มีปัญหา เพราะในภาพรวมยังไม่สามารถช่วยเหลือกันเองภายในเขตได้อย่างเต็มที่ การให้ไปทดลองจึงต้องพิจารณาในเรื่องของการเกลี่ยงบในระดับประเทศด้วย ซึ่งหลักการก็ยังคงเดิม คือ เอาข้อมูลมาดูกันในระดับคณะอนุกรรมการด้านการเงินการคลังของแต่ละเขตสุขภาพ ซึ่งยืนยันว่าผู้ตรวจราชการ สธ. ไม่ได้เป็นผู้ถือเงิน โดยคณะอนุฯดังกล่าวจะพิจารณาว่าควรจะจัดสรรงบไปยังสถานบริการแต่ละแห่งอย่างไร แล้วเสนอผ่านคณะกรรมการเขตสุขภาพ ซึ่งมีตัวแทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วม จากนั้นจึงเสนอข้อมูลไปยัง สปสช. เพื่อให้โอนเงินไปยังสถานบริการโดยตรงตามที่เขตจัดสรร       

“เงินในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ สปสช. ซื้อบริการ น้อยกว่ารายจ่ายที่ สธ. จ่ายไป ทำให้เงินติดลบปลายปีเป็นจำนวนมาก แต่ที่ สธ. ยังยืนอยู่ได้ เพราะรับบริการผู้ป่วยกองทุนสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมมาช่วยจุนเจือด้วย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของการนำเงินเหมาจ่ายรายหัวไปให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ทำให้เงินเข้าระบบน้อย ยิ่งรักษามากก็ยิ่งขาดทุนมาก แต่เรายืนยันว่ายังคงทำหน้าที่ให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่ แม้มีปัญหาเรื่องงบก็จะไม่นำประชาชนมาเป็นตัวประกัน ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ สธ. และ สปสช. จึงควรทำร่วมกัน และมีความจริงใจ ” นพ.มรุต กล่าว

ขอบคุณภาพจาก facebook/ชมรมแพทย์ชนบท