ผู้ป่วยเบาหวานสิ่งที่น่าห่วงนอกเหนือจากการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังต้องระมัดระวังบาดแผลโดยเฉพาะบริเวณเท้า เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการชาจนไม่รู้สึกเจ็บเมื่อเกิดบาดแผลแล้วไม่ดูแลให้ดี อาจติดเชื้อสุดท้ายต้องตัดทิ้ง รพ.สต.บ้านพอกน้อยพัฒนา จึงมีแนวคิดบูรณาการความรู้ด้านแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน ร่วมกับอสม.และผู้สูงอายุในพื้นที่ คิดวิธี ป้องกัน ส่งเสริมและฟื้นฟูดูแลเท้าด้วยตนเองให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยใช้แพทย์แผนไทยและสมุนไพรมาใช้ร่วมกัน จนได้ข้อสรุปน้ำสมุนไพรแช่เท้า
นางสาวสุดรัตน์ กางทอง(ซ้าย)
นางสาวสุดรัตน์ กางทอง นักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต.บ้านพอกน้อยพัฒนา อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร กล่าวว่า รพ.สต.บ้านพอกน้อยพัฒนา เป็นอีกพื้นที่ที่มีผู้ป่วยเบาหวานและโรคเรื้อรัง มีความเสี่ยงจะเกิดแผลโดยไม่รู้ตัวค่อนข้างสูง จำนวน 25 คน จึงมีแนวคิดบูรณาการความรู้ด้านแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขและผู้สูงอายุในพื้นที่ในการคิดวิธี ป้องกัน ส่งเสริมและฟื้นฟูดูแลเท้าด้วยตนเองให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยใช้แพทย์แผนไทยและสมุนไพรมาใช้ร่วมกันจนได้ข้อสรุปน้ำสมุนไพรแช่เท้า
หลังจากได้ข้อสรุปก็มีการคิดต่อว่าสมุนไพรอะไรบ้างที่พอจะใช้ได้และหาง่ายในท้องถิ่น จนได้สมุนไพร 5 ชนิดประกอบด้วย1.มะกรูด มีสรรพคุณช่วยให้ผิวชุ่มชื้น น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกลดอาการซึมเศร้า 2.ขมิ้น ทำให้ผิวนุ่มนวล 3.ใบบัวบก เป็นยาเย็นลดอาการอักเสบ 4.ใบย่านาง ลดอาการผดผื่นคันจากการแพ้ทำให้สบายผิว 5.ใบมะขาม ชำระล้างความสกปรกรูขุมขนคราบไขมันบนผิวหนังได้ดี
จากนั้นนำสมุนไพรทั้งหมดหั่นเป็นชิ้นประมาณ 1 กำมือผสมน้ำ 1 ขันหรือประมาณ 1 ลิตร ต้มให้เดือด ยกเว้นมะกรูด เมื่อน้ำเดือดได้ที่ยกลงผสมน้ำพออุ่นพอประมาณ นำมะกรูดที่หั่นเป็นแว่นลงลอย ก่อนแช่เท้าต้องแน่ใจว่าน้ำไม่ร้อนมาก ช่วงแรกได้มีการทดลองกับผู้ป่วยที่สมัครใจในคลินิกเบาหวานประมาณ 2-3 เดือนพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการชาปลายเท้าดีขึ้น ตลอดจนระบบย่อยอาหาร ระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกาย ทำให้นอนหลับสนิท รู้สึกผ่อนคลาย ผู้ป่วยให้ความสนใจและขอรับบริการกันทุกคน โดยที่รพ.สต.จะเปิดให้บริการแช่เท้าด้วยน้ำสมุนไพรทุกวันทำการ
นอกจากนี้ รพ.สต.บ้านพอกน้อยพัฒนา ยังได้ร่วมกับ อสม.ออกให้บริการแช่เท้าด้วยสมุนไพรที่บ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และขยายผลไปยังผู้สูงอายุและผู้สนใจในหมู่บ้านและตำบลข้างเคียงให้ทำสมุนไพรแช่เท้าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดย อสม.จะเป็นผู้แนะนำวิธีและสาธิตเพื่อให้สามารถนำไปทำเองที่บ้านได้ อีกอย่างสมุนไพรส่วนใหญ่มีในหมู่บ้านอยู่แล้วไม่ต้องซื้อหา สมุนไพรชุดหนึ่งต้มได้ 3-4 ครั้งจนกว่ากลิ่นและสีจะจาง โดยต้มเสร็จให้นำมาผึ่งแดดให้แห้งค่อยมาใช้ใหม่ ปัจจุบันได้มีการทำแบบตากแห้งเพื่อให้เก็บได้นานขึ้นและนำมาใช้สะดวกมากขึ้น
สมุนไพรแช่เท้านี้นอกจากจะเป็นทางเลือกในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการรักษาป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนให้กับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุแล้วยังเป็นการนำสมุนไพรที่มีอยู่ทั่วไปมาใช้ประโยชน์ในการจัดการสุขภาพอย่างยั่งยืนอีกด้วย
- 6666 views