กระทรวงสาธารณสุข พบตัวชายชาวเซียร์ราลีโอนที่ไม่รายงานตัวตามระบบการเฝ้าระวังโรคอีโบลาของไทย พบสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีไข้ ปรับ 1,000 บาทข้อหาไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ของไทย
ขอบคุณภาพจาก www.manager.co.th
25 พ.ย.57 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการติดตามตัวชายชาวเซียร์ราลีโอนที่เดินทางเข้าประเทศไทย และไม่ปฏิบัติตามระบบการเฝ้าระวังโรคอีโบลาของไทย ว่า ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า พบตัวชายดังกล่าวที่สนามบินสุวรรณภูมิ กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคประจำสนามบินสุวรรณภูมิ ดำเนินการตรวจสุขภาพพบว่า สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีไข้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชายรายนี้ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องโรคติดต่ออันตราย ตามพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2523 ของไทย จึงได้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยปรับ 1,000 บาท โดยชายรายนี้หากยังอยู่ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขจะติดตามอาการจนครบตามระยะฟักตัวของโรคอีโบลาหลังเดินทางออกจากพื้นที่ระบาด 21 วัน คือวันที่ 5 ธันวาคม 2557 เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ยึดถือแนวปฏิบัติการป้องกันโรคอีโบลา โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย กินี โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้วางระบบการป้องกันโรคอีโบลาเข้าประเทศ โดยผู้ที่เดินทางทุกสัญชาติที่เข้ามาทุกคนหากเดินทางออกจากพื้นที่ระบาดภายใน 21 วันถือเป็นผู้ที่อยู่ในข่ายการเฝ้าระวังโรคอีโบลา ไม่จัดเป็นผู้ป่วยและไม่ต้องกักกันตัว แต่จะใช้ระบบการติดตามตรวจสอบอาการป่วยทุกวัน หากรายใดมีไข้จะขึ้นทะเบียนอยู่ในข่ายสงสัยติดเชื้อ และรับตัวจากที่พักเข้ารับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลที่เตรียมไว้ ซึ่งจะเจาะเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสอีโบลา และติดตามสอบสวนโรคผู้ที่สัมผัสผู้ที่อยู่ในข่ายสงสัยทุกวัน
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า หากผลการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการขั้นยืนยัน ไม่พบเชื้อไวรัสอีโบลาจะตัดออกจากระบบการเฝ้าระวัง รวมทั้งผู้สัมผัสด้วย แต่หากผลเลือดพบว่าติดเชื้อไวรัสอีโบลา จะให้การรักษาตามมาตรฐานการดูแลโรคติดต่ออันตราย และประกาศขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยโรคอีโบลา พร้อมรายงานองค์การอนามัยโลก รวมทั้งติดตามผู้สัมผัสทุกรายจนกว่าจะครบ 21 วันเพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ ที่ผ่านมายังไม่พบรายใดติดเชื้อไวรัสอีโบลา มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องจนกว่าปัญหาการระบาดที่ประเทศต้นทางยุติลง
สำหรับสถานการณ์อีโบลา องค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุดวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ยอดผู้ป่วย 15,351 ราย เสียชีวิต 5,459 ราย โดยที่ไลบีเรียมากที่สุด ป่วย 7,082 ราย เสียชีวิต 2,963 ราย รองลงมาคือเซียร์ราลีโอน ป่วย 6,190 ราย เสียชีวิต 1,267 ราย ในส่วนของผู้เดินทางจากประเทศระบาดมาประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557-24 พฤศจิกายน 2557 ทั้งหมด 3,185 คน มากที่สุดมาจากไนจีเรีย 1,614 คน รองลงมาคือกินี 907 คน
- 5 views