นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : เป็นเวลา 3 เดือนแล้วสำหรับการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ผู้มาจากสายโรงเรียนแพทย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ซึ่งมาจากเครือข่ายแพทย์ชนบท ในเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องยอมรับว่า เมื่อปรากฏชื่อบุคคลทั้งสอง ก็มีเสียงการตอบรับพร้อมความคาดหวังจากสังคมไทยเป็นอย่างมากในการปฏิรูประบบสุขภาพ
ทว่าในสมรภูมิ ของกระทรวงสาธารณสุขที่เต็มไปด้วยความเห็นต่างชนิดเป็นขั้วตรงกันข้าม และพร้อมจะงัดข้อกันอยู่ตลอดเวลานั้น ก็ทำให้ความคาดหวังนี้ พังทลายลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะหลังจากทั้งสองรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งแล้วก็เจอกับการรับน้องแบบสุดโหดกับความขัดแย้งในหน่วยงาน
ไล่เรียงมาตั้งแต่ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่าง สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณ ไปจนถึงข้อสงสัยว่ารัฐมนตรีใหม่ที่คาดหมายกันว่าจะเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งก็ถูกลากไปเชื่อมโยงว่ามีกลุ่มแพทย์ชนบทหนุนหลัง
รวมไปถึงการปลด นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และปรากฏการณ์ร้อนๆ ที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ตั้งทีมที่ปรึกษาขึ้นมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ที่ปลัดกระทรวงจะมีทีมที่ปรึกษาเป็นของตัวเอง และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นทีมงานที่จะทำงานตีคู่ไปกับ ทีมที่ปรึกษาของรัฐมนตรี
จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น นพ.รัชตะ และนพ.สมศักดิ์ แสดงท่าที ไม่ตอบโต้ผ่านสื่อ และพยายามอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เรื่องความขัดแย้งนี้เงียบลง ซึ่งก็ถือว่าสำเร็จ เพราะเรื่องนี้ได้เงียบลงไปในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว และต่อจากนี้จะได้เดินหน้าทำผลงานกันเสียที
แต่จนถึงขณะนี้ที่เห็นมีเพียงการใส่รากฟันเทียมให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบแก่ผู้ใหญ่ จัดทีมหมอประจำครอบครัวดูแลสุขภาพทุกครัวเรือน จัดทีมดูแลผู้สูงอายุและ ผู้ที่อยู่ในระยะพึ่งพิง ผ่าตัดตาต้อกระจก และจัดหน่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
เมื่อพิจารณาโครงการเหล่านี้แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเพราะข้าราชการประจำใน สธ.ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว !
หันมาพิจารณา 10 นโยบายขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขที่รัฐมนตรีเคยประกาศ ไว้ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2557 ว่า จะต้อง เห็นผลใน 1 ปีนั้น ก็พบว่ายังไม่มีนโยบายใดที่เดินหน้า
ไม่ว่าจะเป็น 1.เดินหน้าทศวรรษแห่งการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ 2.พัฒนาระบบเครือข่ายการส่งต่อทั้งใน ภาครัฐและเอกชนที่มีประสิทธิภาพ 3.ทุกกองทุนสุขภาพมีความกลมกลืน เป็นหนึ่งเดียว
4.ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินตามนโยบาย "ใช้บริการได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ" มีความเป็นจริงในทางปฏิบัติ 5.ระบบ สร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและ ผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี
6.การเข้าถึงบริการสำหรับคนพิการ ประชากรที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ประชากรต่างด้าว แรงงานต่างด้าว ประชาชนตามพื้นที่พิเศษ 7.การให้มีโรงพยาบาลองค์การมหาชนในกำกับของรัฐเพิ่มมากขึ้น
8.จัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีน ชีววัตถุและวัตถุดิบในการผลิตยา รวมทั้ง เครื่องมือแพทย์ ทั้งในภาครัฐและเอกชน 9.การนำวัคซีนและเทคโนโลยีใหม่เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ10.กฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยสุขภาพ
ขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับหลักการทำงาน 3 ข้อ คือ เรียบง่าย สามัคคี มีธรรมาภิบาล ที่ เจ้ากระทรวงประกาศไว้ ซึ่งในทางปฏิบัติของผู้บริหารกระทรวงกลับสวนทาง โดย เมื่อครั้งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมภาคใต้ตอนล่าง และอีสานตอนบน คณะติดตามรัฐมนตรีพากันแห่ไปลงพื้นที่ มีอธิบดีทุกกรม ลงพื้นที่ไปด้วย แต่ นพ.ณรงค์ ปลัด สธ. เดินทางไปตรวจเยี่ยมต่างจังหวัดแบบ ฉายเดี่ยวและเป็นคณะเล็กๆ
ส่วนเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการระดับสูงนั้น สธ.ก็ยังเป็น กระทรวงเดียวที่ล่าช้าและไม่ลงตัว มีตำแหน่งผู้ตรวจ 2 ตำแหน่งที่ยัง ว่างอยู่หลายฝ่ายเชื่อว่าสาเหตุที่ยัง แต่งตั้งไม่ได้เพราะมาจากปัญหาการเมืองภายในกระทรวง ประเด็นที่เป็นปัญหาคาราคาซัง น่าจะมาจากกรณีมีความพยายามผลักดัน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ขึ้น เป็นรองปลัดกระทรวง แต่ถูกท้วงติงว่าเป็นการพิจารณาโดยละเลยหลักอาวุโส เนื่องจากยังอยู่ในตำแหน่งรองอธิบดี ไม่สามารถข้ามชั้นมาเป็นรองปลัดได้ ต้องผ่านผู้ตรวจราชการเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ยังมีบุคคลที่อยู่ ในตำแหน่งรองอธิบดีอีกคนที่ควรจะ ได้ขึ้นมากกว่าคือ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ครองอยู่ในตำแหน่งรองอธิบดีกว่า 10 ปี กรณีดังกล่าวนำไปสู่ปรากฏการณ์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน สธ. เมื่อ รองอธิบดีตบเท้าเข้าพบ นพ.รัชตะ เพื่อหารือเรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ฝ่ายการเมืองยอมถอยเพียงไม่ให้ ขึ้นเป็นรองปลัด แต่อยู่ในระนาบ ผู้ตรวจราชการเท่านั้น
นั่นเท่ากับว่า โควตารองอธิบดี ซึ่งอยู่ในระดับ 9 ที่ถูกเลื่อนขั้นไปสู่ ระดับ 10 ถูกใช้ไปแล้ว เมื่อ ปลัด สธ. เสนอชื่ออีก 2 คน จากโควตาสาย ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ และนพ.สุเทพ วัชรปิยานันท์ จากผู้ช่วยปลัด ขึ้นเป็น ผู้ตรวจราชการจึงถูกฝ่ายการเมืองตีกลับ ว่า ขัดหลักธรรมาภิบาล เพราะ 2 คนนี้ มีอาวุโสน้อยกว่า นพ.วันชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องจึงยังคงคาราคาซังอยู่จนถึง ทุกวันนี้ เพราะนพ.ณรงค์ยืนยันว่า แต่งตั้งโดยยึดจากอาวุโสที่สุดของ สายงาน เมื่อโควตารองอธิบดีถูกใช้ไปแล้ว จึงต้องให้สายงานอื่น ขณะที่การเมือง ก็ตั้งแง่กับหลักอาวุโสเช่นกัน จึงทำให้ตำแหน่งผู้ตรวจว่างอยู่ 2 ตำแหน่งยังยื้อกันอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะได้ใครมาเป็นลงในตำแหน่งนี้
การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขช่วงนี้จึงชะงักงัน ตำแหน่งที่ว่างเพราะถูกดันขึ้นไปแล้วก็ยังไม่มีการตั้งระดับรองลงมาให้เป็นแทน เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะของสุญญากาศ สิ่งที่เดินหน้าได้อย่างเดียวคือ งานประจำ ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่องานขับเคลื่อนนโยบายหลักที่รัฐมนตรีกำหนดไว้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตนั้น มีด้วยกัน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ทีมงานรัฐมนตรีซึ่งส่วนใหญ่มาจากสายวิชาการ แต่ขาดประสบการณ์ในทางปฏิบัติ เมื่อผนวกเข้ากับ ส่วนที่สอง คือ ข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นมือในการทำงาน ไม่เอาด้วยกับฝ่ายการเมือง ไล่ตั้งแต่ข้าราชการระดับสูงลงไป เพราะเกิดความรู้สึกว่า แม้สธ.จะปลอดจากการเมืองแบบพรรคการเมืองในภาวะปกติ แต่ขณะนี้ซึ่งเป็นภาวะไม่ปกติก็ยังมีการเมืองแทรกแซงข้าราชการประจำ โดยเฉพาะกับการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นต้น
ทั้งนี้หากเป็นการเมืองในภาวะปกติ ช่วง 3 เดือนแรก คือเวลาฮันนีมูน ทุกอย่างจะหวานชื่น ก่อนจะเข้าสู่โหมดฟาดฟันหลังจากนั้น แต่ 3 เดือนแรก ของสองรัฐมนตรีสาธารณสุขอย่าง นพ.รัชตะ และนพ.สมศักดิ์ ต่างก็ดูสะบักสะบอมไม่เป็นท่า ครั้นที่จะคิดสร้างทำผลงานเพื่อหวังนำมาใช้กลบปัญหา ก็ติดขัดไม่สามารถเดินหน้าได้
ดังนั้น หน้าฉากกระทรวงสาธารณสุขที่ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะคลี่คลายไปแล้วนั้น หลังฉากยังมีคลื่นใต้น้ำอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เห็นเวลานี้เป็นช่วงของการสงบศึกชั่วคราวเท่านั้น !
ไม่มีใครปฏิเสธในความเป็นน้ำดีของรัฐมนตรีทั้งสอง แต่เมื่ออาสาเข้ามาทำงาน พร้อมกับความคาดหวังมากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุขก็หวังว่า ช่วงเวลาที่เหลือต่อจากนี้จะสามารถเดินหน้าสร้างผลงานได้อย่างจริงจังเสียที หาไม่แล้วเกียรติประวัติที่ควรจะได้เหมือนที่ นพ.มงคล ณ สงขลา เคยได้รับไปเต็มๆ เมื่อครั้งทำผลงานได้ดีสมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลังการรัฐประหาร ปี 2549 อาจจะพลิกผันจนทำให้ถูกมองว่าเป็นรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานอะไร ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นผลดีกับประชาชนและระบบสุขภาพของไทยที่รอคอยการแก้ไขปัญหา อยู่ในเวลานี้อย่างแน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557
- 6 views