นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : ศาลฎีกาตัดสินสั่งให้ สธ. ต้นสังกัดโรงพยาบาล ที่รักษา "น้องโจ้" ผิดพลาด ชดใช้ค่าเสียหาย 3.1 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ปิดฉากการต่อสู้คดีมานานกว่า 10 ปี เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์เตรียมยื่นฟ้องบังคับคดีให้จ่ายเงินผู้เสียหายภายใน 30 วัน

ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ไทยรัฐ

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (19 พ.ย.) ที่ ศาลจังหวัดนนทบุรี ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ พ 1541/2549 ที่นางดวงนภา ปันนินา มารดาของนายยงยุทธ ปันนินา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะจำเลย ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงพยาบาลที่ได้ทำการรักษานายยงยุทธผิดพลาด ทำให้กลายเป็นผู้พิการทุพพลภาพ โดยตัดสินให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหาย ให้กับนางดวงนภาเป็นเงินจำนวน 3.1 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

นางดวงนภา กล่าวว่า รู้สึกพอใจที่ศาลยัง พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับครอบครัว และดีใจที่คดีนี้จะสิ้นสุดลงสักที หลังต่อสู้คดีมายาวนานนับ 10 ปี ทางครอบครัวต้องลำบากหารายได้มาประคับประคองระหว่างที่ต้องฟ้องร้องสู้คดีและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้น

ด้าน นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า จะให้ทนายความของทางเครือข่ายฯ ยื่นฟ้องบังคับคดีต่อกระทรวงสาธารณสุขจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลา 30 วัน

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2547 นายยงยุทธ หรือ โจ้ ซึ่งขณะนั้นอายุ 19 ปี เพิ่งสอบติดคณะวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พะเยา ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปซื้อของและถูกรถกระบะเฉี่ยวชนล้มหมดสติ ก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลร้องกวางในเวลาต่อมา และถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ โรงพยาบาลแพร่ โดยต้องพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู นานถึง 27 วัน อาการสมองบวม จึงเริ่มดีขึ้น และสมองเริ่มตอบสนอง ยกแขนขา เดินได้ สื่อสารกับแม่และแพทย์ได้ ทานอาหารทางปาก พูดคำสั้นๆ ได้ เขียนหนังสือ นับเลข และแยกสีลูกบอลได้

ต่อมาวันที่ 13 ก.พ.2548 แพทย์ทำการรักษาได้ถอดท่อหายใจที่คอออก โดยที่อาการน้องโจ้ในขณะนั้นยังหายใจเองไม่ได้ แพทย์จึงใส่ท่อช่วยหายใจกลับคืน แต่ต่อมาในวันที่ 14 ก.พ.2548 แพทย์ที่ทำการรักษากลับให้ถอดท่อหายใจอีกครั้ง โดยไม่ได้อยู่ดูแลอาการต่อ ทำให้น้องโจ้ดิ้นทุรนทุราย เพราะหายใจไม่ออก

แม้ว่านางดวงนภาจะตามพยาบาลมาดูอาการที่เกิดขึ้น แต่พยาบาลบอกว่า ปล่อยไว้สักพักเดี๋ยวก็หายใจได้เอง ปรากฏว่าน้องโจ้หัวใจหยุดเต้นในเวลาต่อมา และเมื่อปั๊มหัวใจกลับคืนมาได้ สมองก็ขาดออกซิเจนอย่างรุนแรงจนเกิดผลกระทบตามมาโดยทำให้นอนไม่รู้ตัว ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แขนขาเกร็ง ทานอาหารเองไม่ได้ ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไม่รู้ตัว ทำให้นางดวงนภาแม่ของน้องโจ้ ต้องตัดสินใจออกจากงานมาเพื่อดูแลลูก ขณะที่บิดาของน้องโจ้ทำงานก่อสร้างมีรายได้เพียงวันละ 200 บาท รายได้ไม่พอต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่เพิ่มขึ้นอีก ทำให้น้องคนเล็กต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยพ่อทำงานหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว  ต่อมาโรงพยาบาลได้ยื่นข้อเสนอช่วยเหลือเงิน 5 หมื่นบาท และ 1.5 แสนบาทตามลำดับ เพื่อให้จบเรื่องแต่นางดวงนภาตัดสินใจฟ้องร้องโรงพยาบาล และร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปหลายหน่วยงาน แต่เรื่องก็ไม่คืบหน้า จนกระทั่งตัดสินใจร้องขอความช่วยเหลือจากทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

ขอบคุณภาพจาก facebook/ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา

หลังเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้ให้การเข้าช่วยเหลือทางกฎหมายโดยยื่นฟ้อง สธ.ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของโรงพยาบาลที่รักษาจนในที่สุด เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2551 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางดวงนภาชนะคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยศาลชั้นต้นสั่งให้ สธ.จ่ายเงินจำนวน 3.9 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อย 7.5 ให้กับผู้เสียหาย ซึ่งเครือข่ายฯ ได้พาผู้เสียหายไปขอรัฐมนตรี สธ.ทุกสมัยให้ไม่อุทธรณ์ เพื่อไม่ให้คดียืดเยื้อต่อไปอีก โดยนางดวงนภา ยินดีรับเงินชดใช้ค่าเสียหายเพียง 3.9 ล้าน โดยไม่รับดอกเบี้ย

แต่ระหว่างไกล่เกลี่ยเพื่อขอให้ สธ.ไม่ยื่นอุทธรณ์คดีแพ่งนั้น คดีอาญาที่ไปแจ้งความเพื่อเอาอายุความที่ยาวกว่ามาใช้ฟ้องคดีแพ่ง ศาลอาญารับฟ้องและนัดสืบพยาน ซึ่งโรงพยาบาลแพร่ได้เสนอเงิน 4 แสนบาทให้ผู้เสียหายถอนฟ้องคดีอาญา ทำให้นางดวงนภา เกิดความเห็นใจและไม่อยากให้คดียืดเยื้อตามที่ได้ตกลงกับรัฐมนตรีเอาไว้จึงตัดสินใจไปถอนฟ้องในคดีอาญา แต่ปฏิเสธไม่รับเงิน 4 แสนบาท เพราะเห็นว่าแพทย์คู่กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบแทนควรเป็น สธ. ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 การรับเงินแพทย์หรือโรงพยาบาลของรัฐนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เมื่อผู้เสียหายถอนฟ้องคดีอาญาให้แล้ว สธ.กลับยื่นอุทธรณ์คดีแพ่ง โดยให้เหตุผลว่า สธ.ไม่มีเงินและกระทรวงการคลังจะจ่ายเมื่อสิ้นสุดทั้ง 3 ศาล อีกทั้งเหตุที่ผู้เสียหายไปถอนฟ้องคดีอาญาเพราะคดีมีช่องโหว่และไม่มีทางชนะ ทำให้นางดวงนภาและเครือข่ายฯ เดินหน้าสู้คดีต่อไป

จนกระทั่งต่อมาวันที่ 27 พ.ค.2553 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น สั่งให้ สธ.จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 3.9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี หลังคำตัดสินศาลอุทธรณ์ สธ.ก็สู้คดีต่อในชั้นฎีกา ซึ่งวานนี้ (19 พ.ย.) ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาทำให้คดีถึงที่สุด หลังจากครอบครัวผู้เสียหายต่อสู้คดีนี้มาเป็นเวลา 10 ปี

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557