สธ.ประชุมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านแผนไทย บูรณาการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพร เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพอย่างครบวงจรในรูปแบบเขตสุขภาพ ในปีนี้ตั้งเป้าให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ให้บริการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยคู่ขนานกับแพทย์แผนปัจจุบันอย่างน้อย ร้อยละ 50 และรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้การแพทย์แผนไทยมากขึ้นให้ได้ ร้อยละ 18
14 พ.ย.57 ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ ผู้รับผิดชอบงานการแพทย์แผนไทยระดับจังหวัด ผู้อำนวยการเขตสุขภาพแพทย์แผนไทย 12 เขต ในสังกัดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ประมาณ 800 คน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก การคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่
ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า จากแนวทางการทำงานของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ “ทำทันที ทำจริง ทำให้เห็นผลสัมฤทธิ์ ทำต่อเนื่อง” เน้นประโยชน์ที่เกิดกับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม เสมอภาค โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี และมีผลต่อเนื่องในระยะยาวอย่างยั่งยืน ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ นโยบายสำคัญ 1 ใน 10 ประการของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเร่งรัดให้เกิดประโยชน์กับประชาชน คือการนำการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพร ที่ผ่านการพิสูจน์ยืนยันในเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในระบบริการสุขภาพให้มากขึ้น โดยบูรณาการเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพอย่างครบวงจร ผสมผสานกับการแพทย์ปัจจุบัน ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 เพิ่มจำนวนผู้มารับบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ได้ร้อยละ 18 ของผู้ป่วยที่ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับการแพทย์แผนไทยพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
สำหรับต้นน้ำได้แก่ การพัฒนาแหล่งปลูกสมุนไพรที่มีคุณภาพและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลางน้ำได้แก่พัฒนาโรงงานผลิตยาสมุนไพรให้มีมาตรฐาน GMP และปลายน้ำได้แก่ส่งเสริมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มุ่งเน้นและพัฒนาคุณภาพงานวิจัยทางด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีมาตรฐานในระดับสากล พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน ให้มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรและศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้มากยิ่งขึ้น ขณะนี้ได้บูรณาการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเข้าสู่ระบบริการตามเขตสุขภาพ ซึ่งมี 12 เขต และกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยพัฒนาระบบบริการ และสมุนไพร จะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ นายแพทย์รัชตะกล่าว
นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากการประเมินผลการจัดบริการแพทย์แผนไทยที่ผ่านมา พบว่าได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นปวดเมื่อย หรือผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต พบว่าการนวดไทยได้ช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่ปกติ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ผลดี ในปี 2557 สัดส่วนที่แผนกผู้ป่วยนอกมีผู้ใช้บริการการแพทย์แผนไทยร้อยละ 16.59 ของผู้ใช้บริการทั้งหมดและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.พัฒนาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และทางเลือก ให้มีคุณภาพมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับสากล 2.นำองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และทางเลือกบูรณาการเข้าสู่ระบบบริการอย่างครบวงจร 3.พัฒนาวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 4.พัฒนาระบบการจัดระบบความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย และ5.คุ้มครอง อนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย นำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป
- 30 views