กรมควบคุมโรค เผยผลเฝ้าระวังยุงดื้อต่อสารเคมีทั่วประเทศ พบยุงลายบ้านดื้อต่อสารเคมีไซเพอร์มิทริน (สารที่นิยมใช้ในการกำจัดแมลง) ในระดับต่ำจนถึงระดับสูง พร้อมแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้สารเคมีตัวอื่นในกลุ่มไพรีทรอยด์ หรือใช้สูตรผสม เพื่อใช้กับเครื่องพ่นสารเคมีกำจัดยุง เพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมยุง
7 พ.ย.57 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่ากรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 ได้มีการเฝ้าระวังยุงดื้อต่อสารเคมีทั่วประเทศ จากข้อมูลพบว่า ยุงลายบ้านพาหะนำโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศมีการดื้อต่อสารเคมีไซเพอร์มิทริน (cypermethrin) ระดับต่ำจนถึงระดับสูง นอกจากนั้นกรมควบคุมโรคยังพบว่ายุงลายบ้านทั่วประเทศดื้อต่อสารกำจัดแมลงเพอร์มิทริน (permethrin) ระดับสูงกระจายทั่วประเทศเช่นกัน ซึ่งสารเคมีทั้งสองชนิดเป็นที่นิยมใช้ในการกำจัดแมลง แต่สำหรับยุงก้นปล่องพาหะนำไข้มาลาเรียยังไม่ดื้อต่อสารกำจัดแมลงทั้งสองชนิดนี้
อย่างไรก็ดี กรมควบคุมโรค ไม่ได้นำสารเคมีไซเพอร์มิทริน (cypermethrin) มาใช้ในการควบคุมยุงพาหะนำโรคแต่อย่างใดและแนะนำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าใช้สารเคมีไซเพอร์มิทริน (cypermethrin) มาใช้ควบคุมยุงพาหะนำโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง ในการควบคุมยุงพาหะนำโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรคได้ใช้สารเคมีไพรีทรอยด์ชนิดต่างๆ ได้แก่ เดลต้ามิทริน (deltamethrin) ซีต้าไซเปอร์มิทริน (zetacypermethrin) สูตรผสม จากการทดสอบประสิทธิภาพพบว่ามีประสิทธิภาพสูงในการควบคุม
ส่วนการควบคุมยุงพาหะนำไข้มาลาเรีย กรมควบคุมโรคได้ใช้สารเคมีไพรีทรอยด์ชนิดต่างๆ ได้แก่ เดลต้ามิทริน deltamethrin) ไบเฟนทริน (bifenthrin) มาใช้พ่นเพื่อการควบคุม
นพ.โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมการพ่นสารเคมีของกรมควบคุมโรคให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการเน้นย้ำการใช้สารเคมีกำจัดแมลงที่ถูกต้องทั้งการเลือกใช้ การผสม วิธีการพ่น การป้องกันอันตรายและการกำจัดกากเหลือ ตลอดเวลา และกรมควบคุมโรคมีระบบการเฝ้าระวังยุงดื้อต่อสารเคมีและจัดทำฐานข้อมูลไว้ ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เช่น สาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถสืบค้นข้อมูลได้ทางเว็ปไซด์ของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงhttp://www.thaivbd.org/entomological/report/ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมโรค หรือ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงโทร 0 2590 3144 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 3054 views