สปสช.ร่วมกับ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด จัดมหกรรมส่งเสริมมิตรภาพบำบัด “มีใจ มีทีม มีทุน ร่วมเกื้อหนุนเพื่อความยั่งยืน” หนุนงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วย สืบสานแนวคิด “นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงศ์” เผยหลัง 6 ปี ประสบผลสำเร็จขยายตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน” แล้วกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายสู่ชุมชนกว่า 1,600 เครือข่าย ช่วยดูแลเยียวยาจิตใจผู้ป่วยควบคู่การรักษาทางกาย พร้อมมอบ “รางวัลมิตรภาพดีเด่น ปี 56”
6 พ.ย. 57 ที่ ศูนย์ประชุมอิมแพคฟอรั่มเมืองทองธานี –นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมส่งเสริมมิตรภาพบำบัด “มีใจ มีทีม มีทุน ร่วมเกื้อหนุนเพื่อความยั่งยืน” จัดโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัดร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นการสนับสนุนงานจิตอาสาดูแลผู้ป่วย ซึ่งภายในงานยังมีการจัดพิธีมอบรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประจำปี 2556 (จัดขึ้น ณ วันที่ 7 พ.ย.) เพื่อเป็นการรำลึกถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ได้ให้ความสำคัญและทุ่มเทงานดูแลจิตใจผู้ป่วย
นพ.ประทีป กล่าวว่า การรักษาภาวะความเจ็บป่วยนอกจากรักษาทางกายด้วยทางการแพทย์แล้ว การรักษาทางใจนับเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วยเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายจากบุคคลรอบข้าง ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้รส่งเสริมแนวทางของจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นแนวทางที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้เห็นความสำคัญพร้อมทุ่มเทในเรื่องนี้ตั้งแต่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ สปสช. พร้อมได้ฝากให้คนข้างหลังดำเนินการต่อ ซึ่งได้มีการจัดตั้งมูลนิธิมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ภายหลังจากที่ นพ.สงวน ได้เสียชีวิตลงด้วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เมื่อเดือนมกราคม 2551
ทั้งนี้การดำเนินงานสนับสนุนงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วย โดยได้เกิดการขยายแนวคิดและการดำเนินงานไปยังหน่วยบริการทั่วประเทศนั้น สปสช.ได้เริ่มนำร่องตั้งแต่ปี 2549 ในการจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน” และต่อมาปี 2552 สปสช.ได้ขยายเพิ่มเป็น 139 แห่ง ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีหน่วยบริการทุกระดับร่วมดำเนินการศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อนนี้ โดยปี 2557 นี้ มีการขยายเพิ่มไปกว่า 500 แห่ง นอกจากนี้ที่ผ่านมายังได้มีขยายแนวคิดมิตรภาพบำบัดเข้าสู่ระบบสุขภาพชุมชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. เทศบาล และเครือข่ายประชาสัมคม จำนวน 1,600 เครือข่าย ซึ่งเป็นแนวทางช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตใจได้เป็นอย่างดี
“มิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน เป็นงานที่มีความสำคัญต่อดูแลผู้ป่วยอย่างมาก เริ่มพัฒนาจากการทำงานของเครือข่ายเพื่อนมะเร็งที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างผู้ป่วย ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์สาธารณสุข แพทย์ พยาบาลและอาสาสมัคร ด้วยจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างกำลังใจซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้กับการเจ็บป่วยร่วมกัน เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข ซึ่งปัจจุบันแนวทางมิตรภาพบำบัดนี้ได้เป็นจุดแข็งในการดูแลผู้ป่วยควบคู่กับการรักษา และได้มีการขยายจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพบำบัดนี้ไปสู่กลุ่มผู้ป่วยโรคอื่นๆ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิมิตรภาพบำบัด กล่าวว่า จากแนวคิดเยียวยาผู้ป่วยด้วยมิตรภาพบำบัดนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึง นพ.สงวน และยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ป่วย/อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ หน่วยงาน/องค์กรที่ปฏิบัติงานมิตรภาพบำบัดทั้งภาครัฐ/เอกชน มูลนิธิมิตรภาพบำบัดจึงได้จัดกิจกรรมมอบรางวัลผลการดำเนินงานมิตรภาพบำบัดดีเด่น ประจำปี 2556 ขึ้น โดยต่อเนื่องปีที่ 6 และคัดเลือกผลงานจิตอาสาดีเด่นเข้ารับรางวัล 3 ประเภท ดังนี้
นายโยทัย ภูกาสอน
ประเภทที่ 1 ผู้ป่วย/อาสาสมัคร ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ นายโยทัย ภูกาสอน จาก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้นายโยทัย อายุ 51 ปี ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเมื่อปี 2535 กลายเป็นผู้พิการอัมพาตท่อนล่างต้องนั่งรถเข็น โดยในช่วง 3 ปีแรกหลังเกิดอุบัติเหตุเกิดความท้อแท้ เก็บตัวที่บ้าน แต่ภายหลังคิดได้ว่าชีวิตต้องมองไปข้างหน้า ไม่จมกับความทุกข์ จึงยอมรับต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังได้หันมาทำงานจิตอาสาคอยเป็นกำลังใจให้กับผู้พิการด้วยกัน พร้อมฝึกอาชีพให้สามารถเลี้ยงตนเอง ไม่แต่เฉพาะพื้นที่ อ.ยางตลาดเท่านั้น แต่ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประดิษฐ์หมอนมีรูตรงกลายที่เป็นรูปโดนัส เพื่อให้ผู้พิการใช้สำหรับเป็นเบาะรองนั่งที่รถเข็น ช่วยลดปัญหาแผลกดทับให้กับผู้พิการนั่งรถเข็นได้
ประเภทที่ 2 เจ้าหน้าที่/ผู้ให้บริการ ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ นางณัชชา คำเครือ พยาบาลวิชาชีพหน่วยงานให้คำปรึกษาและคลินิกเอดส์ โรงพยาบาลบางบ่อ จ.สมุทรปราการ และเป็นที่ปรึกษากลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มเพื่อนรัก คอยให้คำแนะนำผู้ป่วย ญาติ ที่มารับบริการ และเป็นที่ปรึกษาแก่บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยความเอื้ออาทร ไม่ตีตรา รักษาความลับของผู้รับบริการ โดยทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ยังมีผลงานเด่น โดยเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมมิตรภาพบำบัดและระบบบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการดูแลผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ลดภาวะแทรกซ้อน ทั้งยังสร้างกำลังใจ ลดภาวะความเครียดแ ละซึมเศร้าให้กับผู้ติดเชื้อสามารถดำเนินชีวิตปกติได้
ประเภทที่ 3 หน่วยงาน/องค์กรสนับสนุน หน่วยงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ โรงพยาบาลแม่ลาว จ.เชียงราย เริ่มจัดตั้งศูนย์มิตรภาพบำบัดเครือข่ายสุขภาพอำเภอแม่ลาว เมื่อปี 2554 และได้มีการขยายจัดตั้งศูนย์มิตรภาพบำบัดลงสู่ชุมชน 10 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล แต่ละแห่งมีจิตอาสากลุ่มต่างๆ ในชุมชนมาร่วมดำเนินการ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วม โดยมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินงานส่งเสริมและฟื้นฟูผู้ป่วย ผู้พิการ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วย ผู้พิการที่ติดบ้าน ติดเตียงในชุมชนตัวเอง พร้อมกันนี้ทาง รพ.ยังได้มีการจัดโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนงานจิตอาสา รวมไปถึงการจัดอบรมจิตอาสาเพื่อเพิ่มพูนทักษะในการดูแลผู้ป่วยและในปี 2557 นี้ ทาง รพ.แม่ลาว ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาจิตอาสาและพัฒนาเครือข่ายศูนย์มิตรภาพบำบัด อ.แม่ลาว จ.เชียงราย.
- 48 views