เผยชื่อผู้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหดิลปี 57 หมอจากญี่ปุ่น ผู้คิดค้นยาลดไขมันรักษาหลอดเลือดหัวใจ คว้ารางวัลด้านการแพทย์ ส่วนหมอจากสหรัฐอเมริกาผู้ปราบไข้ทรพิษสำเร็จ คว้ารางวัลด้านการสาธารณสุข เตรียมแสดงปาฐกถาพิเศษ 27 ม.ค. และเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ 28 ม.ค.58
6 พ.ย.57 ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 23 ประจำปี 2557 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557 มีดังนี้
สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.อากิระ เอ็นโด (Professor Akira Endo) จากประเทศญี่ปุ่น ประธานกรรมการ บริษัทห้องปฏิบัติการวิจัยไบโอฟาร์ม กรุงโตเกียว ศาสตราจารย์พิศิษฐ์เกียรติคุณ คณะเกษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผลงานคือ เป็นบุคคลแรกที่ค้นพบยาลดไขมัน คอมแพคติน ซึ่งเป็นต้นแบบยากลุ่มสแตติน และสามารถแยกเชื้อราราว 6,000 ชนิด จนสามารถค้นพบสารที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ให้ชื่อว่า ML-236 B ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญทำให้สามารถป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดที่สำคัญ เพราะโรคหลอดเลือดสัมพันธ์กับภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งพบว่าทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก โดยต่อมามีการปรับปรุงประสิทธิภาพยาลดไขมัน จนมียากลุ่มสแตติน ใช้อย่างแพร่หลายอีก 7 กลุ่มด้วย (ดูประวัติที่นี่)
สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน (Professor Donald A. Henderson) จากสหรัฐอเมริกา ศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก คณบดีเกียรติคุณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำโครงการกวาดล้างไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษได้สำเร็จ ซึ่งโรคนี้ถือเป็นโรคร้ายแรงที่ถูกกวาดล้างให้หมดไปจากโลกได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีการผลิตวัคซีนไข้ทรพิษได้ในปี 2339 แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 300-500 ล้านคนทั่วโลก (ดูประวัติที่นี่)
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557 ทั้งสิ้น 59 รายจาก 25 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี 2557, 2556, 2555 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557
โดยระยะเวลา 23 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 68 ราย ในจำนวนนี้ มี 2 ราย ที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ แบรี่ เจมส์ มาร์แชล รับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2544 ต่อมารับรางวัลโนเบิลปี 2548 และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน รับพระราชทานรางวัลเเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2548 และรับรางวัลโนเบิล ปี 2551 และ 1 ราย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมาคือ แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน รับพระราชทานรางวัลสมแด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2549 และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 ราย คือศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ รับพระราชทาน ปี 2539 และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร และนายมีชัย วีระไวทยะ รับพระราชทาน ปี 2552
ทั้งนี้ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557 ในวันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ.2558 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2558 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถา เกียรติยศ ในผลงานที่ได้รับด้วย
- 41 views