ความสูญเสียราวกับใบไม้ร่วง ... แต่ละวันมีไม่ต่ำกว่า 60 ชีวิต ที่สังเวยไปกับ “มะเร็งท่อน้ำดี” เนื่องด้วยพฤติกรรมการรับประทานมีความเสี่ยง
แม้ว่าหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะพยายามในการรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านอย่างเข้มข้นสักเท่าไร ทว่าข้อมูลการสำรวจผู้ติด “พยาธิใบไม้ตับ” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี 2552 กลับ “ตีแสกหน้า” จนแทบสิ้นหวัง
นั่นเพราะเกือบ 100% ติดพยาธิใบไม้ตับ ... พยาธิใบไม้ตับนี้เองคือสาเหตุของการเกิด “มะเร็งท่อน้ำดี”
แม้จะเป็นสถิติเมื่อ 5 ปี ก่อน หากแต่ข้อมูลของ ศ.ดร.บรรจบ ศรีภา หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็สามารถอธิบายสถานการณ์ได้ทั้งกระบวน
“ข้อมูลเมื่อปี 2552 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าอัตราการตายจากมะเร็งตับท่อน้ำดีสูงที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็งต่างๆ แต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นราย หรือประมาณ 60-70 รายต่อวัน นอกจากนี้พบว่าประเทศไทยมีผู้ติดพยาธิใบไม้ตับถึง 6 ล้านคน เฉพาะในภาคอีสานเกือบเต็มพื้นที่ แต่ในภาคอื่นๆ ก็พบ จึงอยากให้เข้าใจว่าพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นโรคของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของภาคใดภาคหนึ่ง” ศ.ดร.บรรจบ ระบุ
สำหรับมะเร็งตับมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งตับ (เปลี่ยนแปลงจากเซลล์ของตับ) และมะเร็งท่อน้ำดี (เกิดจากเซลล์ของเยื่อบุทางเดินน้ำดี) โดยพบว่า 70% ของผู้ป่วยมะเร็งตับเป็นประเภทมะเร็งท่อน้ำดี
ศ.ดร.บรรจบ เล่าว่า ในปี 2552 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สำรวจสถานการณ์และพบว่าบางหมู่บ้านใน จ.ร้อยเอ็ด มีผู้ติดพยาธิถึง 85% คำถามคือ 30-40 ปีที่รณรงค์ได้ผลอย่างไร ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วจะพบว่า 1.ภาครัฐขาดความต่อเนื่องของนโยบาย 2.วัฒนธรรมของการกินของคนอีสานที่นิยมกินปลาดิบๆ 3.พยาธิใบไม้ตับสามารถเพิ่มจำนวนได้ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม 4.ความตระหนักรู้ของคนในชุมชนมีน้อย
มีความเห็นที่น่าสนใจจาก ดร.พวงรัตน์ ยงวณิชย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ชวนให้คิดโดยระบุว่า ปลาร้าเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นของภาคอีสาน จึงไม่อยากให้บอกหรือรณรงค์กันว่าอย่ากินหรือห้ามกิน แต่ควรให้ความรู้ที่ถูกต้องคือสามารถกินได้แต่ต้องทำให้สุก และควรทราบว่าในปลาร้าเมื่อหมักแล้วจะเกิดเกลือขึ้น หากหมักเกิน 6 เดือน พยาธิใบไม้ตับจะถูกเกลือฆ่าหมด แต่ที่น่ากังวลคือปลาส้ม ลาบ ก้อย ซึ่งน่ากังวลมาก
“ผู้ที่ติดพยาธิใบไม้ตับ 100 คน มีประมาณ 10 คนที่จะเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้ชัดเจน”ดร.พวงรัตน์ กล่าว
ด้าน รศ.ณรงค์ ขันตีแก้ว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากโรงพยาบาลศรีครินทร์ มีผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 2 หมื่นคน จะเป็นมะเร็งท่อน้ำดีถึง 80% แต่สามารถรักษาได้เพียง 200 ราย คำถามคือเราจะไปคัดกรองตั้งแต่ต้นทางอย่างไรเพื่อให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที เนื่องจากทุกวันนี้โรคมะเร็งท่อน้ำดีสามารถผ่าตัดแล้วรักษาหายขาดได้ แต่ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ในระยะที่ลุกลามไปแล้ว ซึ่งก็สามารถรักษาได้เช่นกัน แต่ถ้ามาตั้งแต่ระยะแรกๆ จะผ่าตัดได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราการรักษาผู้ป่วยจะน้อยมาก เมื่อเทียบเคียงกับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด แต่ข่าวดีก็คือทุกวันนี้แพทย์สามารถรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีให้หายขาดได้แล้ว ทว่าปัญหาคือผู้ป่วยไม่ยอมเข้ารับการรักษาเพราะกลัวการผ่าตัด
รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า จากการเก็บข้อมูลมาตลอดชีวิต พบว่าผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ไม่เข้ารับการรักษา บางคนทราบว่าป่วยก็ไม่มาตามนัดผ่าตัด ดังนั้นตัวเลขที่มักพูดกันว่ามีจำนวนผู้ป่วยปีละเท่านั้นเท่านี้ ถามว่าเรารู้เขาจริงหรือไม่
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวถึงแนวทางที่จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาว่า ตอนนี้ได้จัดทำศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ(DAMASAC) โดย รพ.สต.ทั่วประเทศสามารถเข้ามาลงทะเบียน และจะใช้เลข 13 หลัก ของผู้ป่วยเป็นสิ่งยืนยันเอกลักษณ์บุคคล เมื่อผู้ป่วยไปตรวจอัลตร้าซาวน์ไม่ว่าที่ใดก็ตาม หากผู้ป่วยอนุญาตให้แพทย์เข้าถึงข้อมูล รพ.สต.นั้นๆ หรือแพทย์นั้นๆ จะสามารถเห็นความต่อเนื่องของการรักษาได้ทันที
“ในระบบจะเก็บภาพเอ็กซเรย์ในระดับที่เข้มจนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถวินิจฉัยได้ทันที โดยระบบนี้จะมีอาจารย์แพทย์ร่วมดูเพื่อช่วยวินิจฉัยด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษา และสามารถขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้” รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
ทางด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เรื่องการรักษาพยาบาลทุกวันนี้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพใน 3 ระบบ ดังนั้นเรื่องค่ารักษาพยาบาลไม่น่าเป็นห่วง ส่วนการให้ความรู้ก็มีงบประมาณในกองทุนตำบล 45บาท ต่อหัวประชากร ดังนั้นถ้ามีการพูดคุยกันให้ชัดและผลักดันให้นักการเมืองท้องถิ่นเห็นด้วย ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ชัดเจนว่าปัญหา “พยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี” ฝังรากลึกชอนไชไปทั่วทุกหัวระแหง และความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็มากเกินกว่าที่จะยอมรับได้อีกต่อไป
กลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 ประจำปี 2557 จึงให้ความสำคัญเพื่อพิจารณาผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้า จะต้องไม่มีผู้ป่วยหน้าใหม่ และในอีก 5 ปีข้างหน้า จะจัดการให้มีผู้ป่วยรอดชีวิตเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 200ราย เป็น 3,000 ราย
- 235 views