ความพยายามรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่คนไทยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงภัย ต่อการเป็น "โรคพยาธิใบไม้ตับ" ซึ่งนำไปสู่ "มะเร็งท่อน้ำดี" ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข นักวิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังดำเนินไปอย่างเป็นระบบ
แม้ตัวเลขของผู้ป่วยโดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ ยังสูงจนน่าตกใจ เมื่อสถิติของผู้เสียชีวิตจากเนื้อร้ายในท่อน้ำดี ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมามากมายราวกับใบไม้ร่วง คือประมาณ ๖๐-๗๐ คนต่อวัน และเกือบ ๑๐๐% นั้น ล้วนเกิดจากพยาธิใบไม้ตับทั้งสิ้น
ในการประชุม "เวทีร่วมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อกำหนดเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ และการพัฒนาการจัดกลุ่มเครือข่าย" เมื่อวันที่ ๑๒ ก.ย. ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กทม. ได้ร่วมกันขับเคลื่อน ๕ ประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
โดย ๑ ใน ๕ ประเด็นสำคัญดังกล่าวคือ "วาระแห่งชาติ : พยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี" ที่ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันฉายภาพความรุนแรงของปัญหา และถอดบทเรียนมาตรการเชิงรุกในพื้นที่ มาเรียกร้องให้สังคมไทย ร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนไปข้างหน้า
“ความหวังของที่ประชุมนี้ คือการหาข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ที่มาจากการรวมพลังจากหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติและได้รับการแก้ไขจนหมดไป” นี่คือเป้าหมายที่ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ประธานคณะทำงานประสานเพื่อการพัฒนาข้อเสนอประเด็นฯตั้งความหวังเอาไว้
โรคพยาธิใบไม้ตับ นับเป็นภัยเงียบที่อยู่ในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ปรุงจากปลาน้ำจืดมีเกล็ดแบบสุกๆดิบๆ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาบ่งชี้ว่า การเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับบ่อยๆซ้ำๆหลายครั้ง เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี
โดยข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สถิติการเสียชีวิตสูงสุดปี ๒๕๔๘ หรือเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้วันละ ๗๐ คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ ๓ ราย
ขณะที่ในปี ๒๕๕๔ มีรายงานผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดี ๑๔,๓๑๔ ราย มากที่สุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๗,๕๓๙ ราย และภาคเหนือ ๒,๖๓๘ ราย จึงถือเป็นโรคที่รุนแรง ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และส่งผลกระทบต่อคนวัยทำงานช่วงอายุ ๔๕-๕๕ ปีมากที่สุด
รศ.ดร.บรรจบ ศรีภา หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายสถานการณ์ว่า ข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
เมื่อปี ๒๕๕๒ พบอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับท่อน้ำดี สูงที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็งต่างๆ ไม่ต่ำกว่าปีละ ๒.๕ หมื่นราย หรือประมาณ ๖๐-๗๐ รายต่อวัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ในตับถึง ๖ ล้านคน เฉพาะในภาคอีสานเกือบเต็มพื้นที่
แต่ในภาคอื่นๆก็พบเช่นเดียวกัน "จึงอยากให้เข้าใจว่า พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นโรคของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของภาคใดภาคหนึ่ง” รศ.ดร.บรรจบ ระบุ
มะเร็งตับมีด้วยกัน ๒ ชนิด ได้แก่ มะเร็งตับ (ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงจากเซลล์ของตับ) และมะเร็งท่อน้ำดี
(ที่เกิดจากเซลล์ของเยื่อบุทางเดินน้ำดี) โดยพบว่า ๗๐% ของผู้ป่วยมะเร็งตับเป็นประเภทมะเร็งท่อน้ำดี
รศ.ดร.บรรจบ เล่าว่า ในปี ๒๕๕๒ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สำรวจสถานการณ์และพบว่า บางหมู่บ้านใน จ.ร้อยเอ็ด มีผู้ติดพยาธิใบไม้ตับถึง ๘๕% คำถามก็คือตลอดในช่วง ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมา การรณรงค์เรื่องนี้ได้ผลเป็นอย่างไร แก้ปัญหาได้แค่ไหน?
ดังนั้น หากวิเคราะห์แล้วจะพบว่าปัญหาที่ยังไม่คลี่คลาย เนื่องจาก ๑. ภาครัฐขาดความต่อเนื่องของนโยบาย
๒.วัฒนธรรมของการรับประทานอาหารของคนภาคอีสาน ที่นิยมกินปลาสุกๆดิบๆยังมีอยู่มาก ๓. พยาธิใบไม้ตับสามารถเพิ่มจำนวนได้ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ๔.ความตระหนักรู้ของคนในชุมชนยังมีน้อย
โครงการต้นแบบ เพื่อควบคุมและป้องกันพยาธิใบไม้ตับแบบบูรณาการในพื้นที่ "แก่งละว้า" ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์กว่า ๗,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุม ๔ หมู่บ้าน ๒ อำเภอ คือ อ.บ้านไผ่ และ อ.บ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น จึงเกิดขึ้น....
ด้วยความที่เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยปลาน้ำจืด ชาวบ้านริมแก่งละว้าจึงไม่เคยขาดแคลนอาหารจากปลาน้ำจืดที่มีให้กินตลอดปี แต่ด้วยวิถีการกินอยู่แบบดั้งเดิม นิยมกินก้อยปลา ลาบปลา ปลาร้า ปลาส้ม ที่ไม่ปรุงให้สุกด้วยความร้อน ทำให้คนริมแก่งละว้ากว่า ๖๗% ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ
"ละว้าโมเดลเริ่มต้นจากการทราบข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่ตายจากมะเร็งท่อน้ำดีอยู่ใน ๒ ชุมชนนี้ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำในรัศมี ๑๐ กิโลเมตร ทีมวิชาการก็เริ่มเข้าไปสำรวจโรค ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชาวบ้าน จัดการสิ่งแวดล้อมตามหลักการนิเวศน์สุขภาพ จนประสบความสำเร็จ"
โดย ครูบุญเพ็ง แสนอุบล ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านง่อนหนองพะเนาว์ จ.สกลนคร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงมาตรการเชิงรุก ในการจัดการเรียนการสอนเรื่องพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียนว่า การเรียนรู้ของเด็กๆแต่ละระดับชั้น มีความแตกต่างกัน จึงต้องออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม เช่น นักเรียนระดับปฐมวัยมีการผลิตสื่อการสอนทำเป็น POP-UP ให้ความรู้เกี่ยวกับปลา ระดับชั้น ป.๑-ป.๖ ทำเป็นบทเรียนสำเร็จรูป ระดับ ม.๑-ม.๓ สร้างบทเรียนสำเร็จรูปชั้นสูง และระดับ ม.๔-ม.๖ ทำเป็น E-BOOK โดยทั้งหมดนี้ เกิดจากความร่วมมือของโรงเรียนร่วม 200 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
"เมื่อนำการเรียนการสอนรูปแบบใหม่มาใช้ พบว่าได้สร้างความตระหนักรู้และเกิดความเปลี่ยนแปลง อาทิ ครูในโรงเรียนเลิกกินปลาดิบทั้งหมด ส่วนครอบครัวของนักเรียน เราสำรวจครั้งแรกพบว่าทั้ง ๑๐๐% บริโภคปลาสุกๆดิบๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนักเรียนเกือบ ๑๐๐% เลิกพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ส่วนผู้ปกครองบางครอบครัวก็เลิกรับประทาน
บางครอบครัวลดปริมาณลงไป"
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.พวงรัตน์ ยงวณิชย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้แง่คิดว่า จริงๆปลาร้าถือเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นภาคอีสาน จึงไม่อยากให้บอกเลิกหรือรณรงค์ว่าอย่ากินหรือห้ามกิน แต่ควรให้ความรู้ที่ถูกต้อง คือสามารถทานได้แต่ต้องทำให้สุก และควรอธิบายว่าเมื่อหมักปลาร้าแล้ว จะเกิดเกลือขึ้น ถ้าหมักเกิน ๖ เดือน พยาธิใบไม้ตับจะถูกเกลือฆ่าหมด แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อมาคือพวก ปลาส้ม ลาบก้อย ที่ต้องให้ความรู้แตกต่างกันไป
“ผู้ที่ติดพยาธิใบไม้ตับ ๑๐๐ คน มีประมาณ ๑๐ คนที่จะเป็นมะเร็งท่อน้ำดี ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้ชัดเจน” รศ.ดร.พวงรัตน์ กล่าว
ด้าน รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งจำนวน ๒๐,๐๐๐ ราย เป็นมะเร็งในท่อน้ำดีถึง ๘๐% แต่สามารถรักษาหายได้เพียง ๒๐๐ ราย คำถามคือเราจะคัดกรองผู้ป่วยตั้งแต่ต้นทางได้หรือไม่ อย่างไร เพื่อสามารถรักษาได้ทันท่วงที เนื่องจากทุกวันนี้ โรคมะเร็งท่อน้ำดีสามารถผ่าตัดแล้วรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ในระยะที่ลุกลามไปมากแล้ว
"แม้จะรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคนี้ได้ แต่ถ้ามาถึงมือแพทย์ตั้งแต่ระยะแรกๆ จะผ่าตัดได้ง่ายกว่า"
สอดคล้องกับที่อดีตข้าราชการกรมสรรพสามิต ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีและรักษาหายขาด เล่าประสบการณ์ว่า ตนเองตรวจเจอมะเร็งท่อน้ำดีในระยะแรก ทำให้แพทย์สามารถรักษาหายขาดได้ แต่ปัญหาคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ ไม่ยอมเข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะกลัวการผ่าตัด
สอดคล้องกับ รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่บอกว่า จากการเก็บข้อมูลมาตลอดชีวิต พบว่าผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ไม่เข้ารับการรักษา บางคนทราบว่าป่วยก็ไม่มาตามนัดผ่าตัด "ดังนั้นตัวเลขที่มักพูดกันว่ามีจำนวนผู้ป่วยปีละเท่านั้นเท่านี้ ถามว่าเรารู้สถานการณ์จริงๆหรือไม่"
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวถึงแนวทางที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาว่า ตอนนี้ได้จัดทำ ศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (DAMASAC) โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศสามารถเข้ามาลงทะเบียน และจะใช้เลข 13 หลักของผู้ป่วย เป็นสิ่งยืนยันเอกลักษณ์บุคคล
เมื่อผู้ป่วยไปตรวจอัลตร้าซาวน์ไม่ว่าที่รพ.สต.แห่งใดก็ตาม หากผู้ป่วยอนุญาตให้แพทย์ได้เข้าถึงข้อมูล ก็จะสามารถสร้างความต่อเนื่องของการรักษาได้ทันที
“ในระบบจะเก็บภาพเอ็กซเรย์ในระดับที่เข้ม จนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถวินิจฉัยได้เลย โดยระบบนี้จะมีอาจารย์แพทย์ร่วมดูเพื่อช่วยวินิจฉัยด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษามาก และสามารถขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้”
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
ทางด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ทุกวันนี้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพในกองทุนทั้ง ๓ ระบบอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องค่ารักษาพยาบาลจึงไม่น่าเป็นห่วง ส่วนการให้ความรู้ก็มีงบประมาณในกองทุนสุขภาพตำบล อัตรา ๔๕ บาทต่อหัวประชากรมาสนับสนุน ดังนั้น ถ้ามีการพูดคุยกันให้ชัดเจนและผลักดันให้นักการเมืองระดับท้องถิ่นเห็นด้วย เชื่อว่าจะเห็นทางออกของปัญหา
ทั้งนี้ ช่วงท้ายของเวที มีการตั้งเป้าหมายให้เป็นวาระแห่งชาติไว้ว่าในระยะ ๑๐ ปี ข้างหน้า จะไม่ให้เกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับรายใหม่ได้อีก และอีก ๕ ปีข้างหน้า จะขับเคลื่อนเรื่องการรักษาพยาบาล ให้อัตราผู้ป่วยที่รอดชีวิตเพิ่มขึ้น จากเดิมปีละ ๒๐๐ ราย เป็น ๓,๐๐๐ ราย
ดังนั้น จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในลักษณะภาคีเครือข่าย และผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพระดับประเทศต่อไป โดยมุ่งหวังว่า เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ ที่เตรียมจัดขึ้นปลายปีนี้ จะเป็นการสานพลังครั้งใหญ่ เพื่อสู้กับภัยร้ายใกล้ตัวคนไทยครั้งนี้ได้
- 537 views