นสพ.ไทยรัฐ : “ต้อกระจก”...เป็นภาวะที่เลนส์ตาภายในลูกตามีลักษณะขุ่นขาวขึ้นมาจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก
เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมที่จอตาหรือเรตินา ทำให้เกิดอาการตาฝ้าฟาง หรือมืดมัว
อาการที่ว่านี้...ประมาณร้อยละ 80 เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ผู้ป่วยเบาหวานก็อาจจะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้
สำหรับอาการในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกมีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ หรือมองเห็นภาพซ้อน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดง อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆกินเวลาแรมปี...
จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมด เรียกว่า “ต้อสุก” ก็จะเกิดตาบอดขึ้น
องค์การอนามัยโลกมีเป้าหมายในปี ค.ศ.2020 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า ทุกประเทศจะต้องมีอัตราตาบอดจากโรคต้อกระจกไม่เกินร้อยละ 0.5
ประเทศไทยโดยการสำรวจตาบอดครั้งที่ 4 เมื่อปี 2550 พบว่า มีอัตราตาบอดร้อยละ 0.59 สาเหตุราวครึ่งหนึ่งมาจากโรคต้อกระจก ประมาณการว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยต้อกระจกชนิดบอดตกค้างอยู่จำนวน 98,336 คน
ที่ผ่านมา สปสช.เริ่มดำเนินโครงการเฉพาะโรคผ่าตัดต้อกระจกตั้งแต่ปี 2550 สำหรับแวดวงจักษุแพทย์ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีผู้เห็นความสำคัญของการลดอัตราตาบอด โดยโครงการมีเป้าประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีการผ่าตัดต้อกระจกที่ตาบอดตกค้าง คิดเป็นตัวเลขกลมๆราว 1 แสนราย
ถึงวันนี้วันเวลาผ่านไป 7 ปีแล้ว โครงการผ่าตัดต้อกระจกยังคงดำเนินการอยู่ ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพได้รับการผ่าตัดต้อกระจกไปแล้วประมาณ 1,000,000 คน ใช้งบไปกว่า 10,000 ล้านบาท
คำถามมีว่า...งบประมาณที่ใช้มากถึงขนาดนี้ มีการประเมินผลสำเร็จโครงการออกมาบ้างหรือยัง
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มองประเด็นเล็กๆแต่เกี่ยวพันกับภาพใหญ่ภายใต้กระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพคนไทยเอาไว้น่าสนใจ
ด้วยหลายเหตุหลายผล นับจากภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีมีการผ่าตัดต้อกระจก สิทธิหลักประกันสุขภาพ 150,000 ราย ...สิทธิเบิกได้ 45,000 ราย และสิทธิประกันสังคม 10,000 ราย รวมแล้วประเทศไทยมีการผ่าตัดต้อกระจกประมาณ 200,000 รายต่อปี ซึ่งไม่นับรวมโรงพยาบาลเอกชน
อ้างอิงจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) กรณีต้อกระจก จะเห็นว่าถ้าจะแก้ปัญหาตาบอดควรมีอัตราการผ่าตัดต้อกระจกปีละ 1,300 รายต่อล้านประชากร หรือประมาณ 84,500 รายต่อปีสำหรับประเทศไทย แต่ถ้าจะแก้ปัญหาสายตาเลือนรางจากต้อกระจกด้วยต้องมีการผ่าตัดปีละ 2,300 รายต่อล้านประชากร หรือประมาณ 150,000 รายต่อปีสำหรับประเทศไทย
หมายความว่า การผ่าตัดต้อกระจกในประเทศไทยปัจจุบันเคาะตัวเลขอยู่ที่ปีละ 200,000 ราย ในขณะที่ความจำเป็นแก้ปัญหาตาบอดต้องการให้มีผ่าตัดต้อกระจกแค่ปีละ 84,500 ราย หรือแม้แต่การที่จะเพิ่มคุณภาพโดยการผ่าตัดต้อกระจกในกลุ่มสายตาเลือนราง ก็ต้องการผ่าตัดเพียงปีละ 150,000 รายเท่านั้น
นั่นอาจสะท้อนให้เห็นว่า... โครงการที่ สปสช.ทำอยู่นี้
เป็นการใช้งบประมาณเกินความจำเป็นหรือเปล่า ประเทศไทยในขณะนี้ มีการผ่าตัดต้อกระจกมากเกินจำเป็นปีละ 50,000 รายหรือไม่ และใช้งบประมาณเกินความจำเป็นประมาณปีละ 500 ล้านบาทไหม...ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายละ 10,000 บาท
โครงการฯ ทำมาแล้ว 7 ปี...ก็ใช้งบฯ ไปแล้วถึง 3,500 ล้านบาท
ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า สปสช.มีเหตุผลใดที่ยังคงดำเนินการโครงการที่ไม่คุ้มค่าต่อไป และมีวัตถุประสงค์อะไรในโครงการผ่าตัดต้อกระจกที่เปิดให้มีการผ่าตัดต้อกระจกเชิงรุกโดยภาคเอกชน โดยหวังว่าจะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลรัฐและลดระยะเวลารอคอยผ่าตัดของผู้ป่วย
แน่นอนว่า...ผลในการลดเวลารอคอยการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจจะขัดแย้งกับประเด็นการผ่าตัดต้อกระจกที่เกินความจำเป็น และใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ
พลิกดูรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณที่มีการเรียกเก็บจากการผ่าตัดต้อกระจกในโครงการ สปสช. พบว่า ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่ผ่าตัดทั้งหมด ได้รับการผ่าตัดโดยทีมเชิงรุกของโรงพยาบาล โดยเฉพาะเครือโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมีการผ่าตัดประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณปีละ 30,000 กว่าราย เป็นเงินเรียกเก็บจาก สปสช. อยู่ที่ปีละกว่า 300 ล้านบาท
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ บอกว่า ในแวดวงจักษุแพทย์ขณะนี้สงสัยว่าทำไมนโยบายโครงการนี้ยังดำเนินการอยู่ โดยไม่ปรับเปลี่ยนให้คุ้มค่ากับการใช้เงินภาษีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด...มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝงหรือไม่ โดยเฉพาะประธานกรรมการเครือโรงพยาบาลบางแห่ง ไปมีส่วนในคณะกรรมการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยหรือเปล่า
กรณีอย่างนี้ ถือว่ามี... conflict of interest หรือผลประโยชน์ทับซ้อนไหม
อีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่า โครงการนี้ของ สปสช. ไม่ได้แก้ปัญหาตาบอดของประเทศไทยเลย มาจากผลการวิจัยสำรวจภาวะตาบอดของประเทศไทยในปี 2556 โดย อ.ภูวัติได้ทำวิจัยทั่วประเทศ พบว่า อัตราตาบอดของประเทศไทยยังคงเท่ากับเมื่อปี พ.ศ. 2550 คือ 0.6 เปอร์เซ็นต์
นั่นหมายความว่า งบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้กว่า 10,000 ล้านบาท ไม่ได้ลดอัตราตาบอดของคนไทยลงแม้แต่น้อยเลยหรือไม่
นอกจากประเด็นการใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ อาจมีช่องว่างบางอย่างเอื้อผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มหรือเปล่า เป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องรับฟังเอาไว้ตรวจสอบปรับปรุง และยังมีอีกปัญหาที่พบอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งก็คือปัญหาภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต้อกระจกของทีมเชิงรุกภาคเอกชน ทำให้จักษุแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งต้องรับภาระคอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อจากการผ่าตัดต้อกระจก
สถานการณ์ปัจจุบัน แวดวงผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยบริการรัฐ...เอกชน โดยเฉพาะจักษุแพทย์มีความวิตกกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ความเคลื่อนไหวล่าสุดราชวิทยาลัยจักษุแห่งประเทศไทยตระหนักถึงปัญหา และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งเรื่องความเสี่ยงจากการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น
ราชวิทยาลัยจักษุฯจึงได้ทำหนังสือที่ รจท.123/2557 ลงวันที่ 22 ก.ย. 2557 ถึง สปสช. เพื่อขอให้ระงับโครงการผ่าตัดต้อกระจกเชิงรุกไว้ก่อน และขอให้ทบทวนร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุฯก่อนที่จะดำเนินการต่อในปี 2558
ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนแห่งความหวังดี ที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆในภาพใหญ่ระบบบริการสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ เรากำลังอยู่ในยุคปฏิรูป...อะไรที่เป็นช่องว่างก็ช่วยกันเสริมเติมเต็ม เพิ่มความเข้มแข็งมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อคนไทยทุกคน.
ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 23 ตุลาคม 2557
- 103 views