ราวกับเป็นความภูมิใจของประเทศ ว่ากันตามความเป็นจริงในปัจจุบัน “การแพทย์แผนไทย” มีชื่อเสียงและขยายการยอมรับเป็นวงกว้าง

ขีดเส้นตีกรอบเฉพาะคนไทย หากกวาดสายตามองไปยังห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ร้านยาตามชุมชน “สมุนไพรไทย” ในรูปแบบต่างๆ มีจำหน่ายให้เลือกสรรอย่างแพร่หลาย ยังไม่นับ “การนวดไทย” และศาสตร์การรักษาที่ควบคู่ไปกับแผนปัจจุบันตามสถานพยาบาลต่างๆ

สะท้อนถึง ความนิยม และการขยายตัวของ “แพทย์แผนไทย” อย่างไม่มีข้อท้วงติงใดๆ

เมื่อมองออกไปภายนอก นับเป็น “โอกาสทอง” ของประเทศไทยเพราะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ชื่อเสียงของแพทย์แผนไทยสั่งสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

คำถามคือ เมื่อมีความน่าจะเป็นว่าแพทย์แผนไทยจะเติบโตขึ้นในภูมิภาคอาเซียนได้ ... เราพร้อมแค่ไหน?

“แพทย์แผนไทยในอนาคตจะไม่เป็นเพียงแค่แพทย์ทางเลือก แต่จะเป็นแพทย์ทางหลักที่คนไทยใช้รักษาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย”คือทิศทางที่ ผศ.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เชื่อว่าจะต้องเกิดขึ้น

ผศ.นพ.ธวัชชัย บอกว่า ทุกวันนี้โรงพยาบาลทั่วประเทศจำเป็นต้องมีแพทย์แผนไทยไว้คอยบริการเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่าจะรักษาด้วยแพทย์แผนไทยหรือไม่ ที่สำคัญโรงพยาบาลควรจะรักษาผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะใช้วิธีการใด เมื่อทำได้ก็จะสามารถผลักดันให้เป็นแนวทางหลักของชาติได้ง่ายขึ้น

“เมื่อสำเร็จ” อธิบดีแพทย์แผนไทยฯ กล่าวต่อ “ก็จะเข้าสู่การผลักดันให้สมุนไพรไทยและแพทย์แผนไทยทั้งระบบเข้าสู่ระดับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในแถบประเทศสมาชิกอาเซียน หากประเทศไทยป้อนสมุนไพรเข้าสู่ตลาดโลกก็จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท”

“หากคนไทยปลูกสมุนไพรเป็นสินค้าเศรษฐกิจส่งออกได้ก็จะเป็นผลดี ทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคการเกษตร มันมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าว อย่างเช่น กระชาย สามารถขายได้ถึงตันละ 8 แสนบาท ดังนั้นเราควรจะทุ่มกับผลงานด้านวิจัยด้านสมุนไพรเพื่อใช้รักษาโรค”

ทว่าในมุมมองของ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กลับเห็นตรงกันข้าม โดยตั้งคำถามว่า ขณะนี้ประเทศไทยโดยเฉพาะ สธ.นั้น มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะพัฒนาแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยหรือแพทย์ทางเลือก ให้ก้าวไปสู่สากลในขอบเขตของอาเซียน

ดร.วิโรจน์ พยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างแพทย์แผนไทยกับอาเซียน โดยระบุว่า ไม่อยากให้การเปิดเออีซีมาเป็นตัวกำหนดว่าประเทศไทยควรทำหรือไม่ควรทำอะไร แต่หากใช้เออีซีเป็นข้ออ้างเพื่อให้ต้องเกิดการปรับตัว สธ.เองก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร ทำขนาดไหน และสนับสนุนด้านใดบ้าง

“หรือหากเป็นเรื่องการแพทย์แผนไทยในอาเซียน ตามปรัชญาของเราคือการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้ มากกว่าการแข่งขันทางด้านการค้าใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นเราจะมองเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนด้วยปรัชญาเดียวกันหรือไม่ หรือต้องตั้งตนแข่งขันทางการค้า แม้แต่จะร่วมมือกันก็ตาม เราควรจะมีความสัมพันธ์กันแบบใด ดังนั้นแล้วก็จะกลับมาสู่คำถามที่ว่า แต่ละประเทศควรจะมีบทบาทต่อการรักษาตามแพทย์พื้นถิ่นของตนเองอย่างไร” อาจารย์วิโรจน์ ตั้งคำถาม

นอกจากนี้ นักวิชาการทีดีอาร์ไอรายนี้ ยังมองว่า การพัฒนาแพทย์แผนไทยมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ 1.ความรู้ 2.การควบคุมคุณภาพ นั่นเพราะประเทศไทยมีตำรับยาแผนไทยมากกว่าแสนตำรับ และเป็นความรู้ที่ผ่านการถ่ายทอดลักษณะบอกต่อ แต่ยังขาดการความรู้ด้านการวิจัยเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้อง และได้รับการยอมรับมีการรับรอง

อีกทั้งในด้านตัวยา ต้องวิจัยได้ว่ามีสารอะไรอยู่ในสมุนไพรและสามารถออกฤทธิ์เพื่อรักษาโรคนั้นๆ รวมถึงประสิทธิผลของยาจริงๆ ทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่ามีคนในวงการยาและวงการแพทย์พูดกันเองว่า มีโรคกว่า 80% ผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคนั้นเองได้

“การพัฒนาระบบสมุนไพรรวมถึงแพทย์แผนไทย ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีก็ต้องทำ หากเราจะสร้างมูลค่าในตลาดสากลให้ได้ ต้องทุ่มเททรัพยากรสร้างนักวิจัยขึ้นมา” ดร.วิโรจน์ ระบุ และว่า บางส่วนของแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยนั้น ยังมีข้อกังขาถึงการกล่าวอ้างสรรพคุณอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยว่าสามารถช่วยรักษาโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ ทั้งมะเร็ง เบาหวาน ชนิดหายขาด

คำถามคือ เป็นการกล่าวอ้างสรรพคุณของยาที่เกินจริงไปหรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ดร.วิโรจน์ จะตั้งคำถามต่อการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย แต่ทางออกสำหรับการต่อยอดไปสู่ระดับสากล ดร.วิโรจน์ ก็ได้ให้ไว้เช่นกัน

“แน่นอนว่าต้องพัฒนาด้านการวิจัยให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งตำรับยาดั้งเดิมนั้นมีคุณค่าและไม่ควรจะปล่อยให้สูญหายไป แต่การจะไปแข่งขันกับแพทย์แผนปัจจุบัน จะเสนอเพียงให้ผู้ป่วยมั่นใจและศรัทธาอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ไม่เพียงพอ ดังนั้น สธ.ต้องลงทุนโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณด้านการวิจัยให้ควบคู่ไปพร้อมกับงานด้านวิชาการ ซึ่งเป็นทิศทางที่นักวิจัยรุ่นใหม่จะต้องทำ เพื่อให้มีผลการวิจัยมารับรองแพทย์แผนไทย” ดร.วิโรจน์ ระบุ

 

สมควรรับฟัง และสานต่อเพื่อศักยภาพในการแข่งขันในเวที เออีซี ในอนาคตอันใกล้นี้